โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
รูปโดย-สุวัจนา ทิพย์พินิจ
ขบวนรถแห่หาเสียงนายกเทศบาลตำบลรูสะมิแลประกาศดังลั่น กลางสายฝนพรำตกปรอยๆ ข้างทางเต็มไปด้วยป้ายหาเสียงของแต่ละทีมรักษ์รูสะมิแล และทีมพัฒนารูสะมิแล เพื่อขอความเชื่อมั่นและศรัทธาด้วยคะแนนเสียงของชาวบ้าน
หมู่บ้านรูสะมิแล ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุพายุดีเปรสชั่นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2554 สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบชายฝั่งทะเล และอยู่บริเวณแนวปากแม่น้ำปัตตานี ทำให้บ้านเรือนจำนวนหนึ่งได้รับความเสียหาย
“ชื่อวายุ”
“1 ปี กับ 1 เดือนแล้ว” นางมารีแย เจ๊ะและ บอกถึงชื่อและอายุของลูกชายที่อยู่ในอ้อมกอด
“ตอนนั้นฉันอยู่ที่โรงพยาบาลเพื่อคลอดลูก เมื่อกลับมาก็เห็นสภาพบ้านเรือนเสียหาย ข้าวของไปหมด ไม่มีอะไรเหลือ ต่อมาทางราชการ และทหาร ก็มาช่วยสร้างบ้าน สำหรับข้าวของในบ้านต้องไปซื้อมาใหม่ทั้งหมด เพราะตอนนั้นลมพายุพัดมาแทบไม่เหลืออะไรเลย” นางมารีแย เล่าถึงเหตุการณ์รอบอ่าวปัตตานีโดนมรสุม
รูปโดยสุวัจนา ทิพย์พินิจ
นางมารีแย บอกถึงช่วงมรสุมในปีนี้ว่า ตนและเพื่อนบ้านได้รับฟังและดูข่าวสารเตือนภัยจากโทรทัศน์อยู่เสมอ ถ้ามีเหตุการณ์เหมือนปีที่แล้ว สิ่งที่ทำได้อย่างเดียวคือ หนี แต่ข้อมูลการเตือนภัย และจุดอพยพ ก็ไม่ได้มีข้อมูลแจ้งให้ชาวบ้านรู้เลย
“เขาว่ามรสุมจะมาวันที่สองแต่ยังไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย ตอนนี้ยังไม่มีใครในพื้นที่มาบอกให้เตรียมการอย่างไรเลย ได้คุยกับเพื่อนบ้านละแวกนี้เหมือนกันเรื่องข่าวมรสุมจะมา โดยให้แต่ละบ้านให้เตรียมตัวระวังไว้ ถ้าเหตุการณ์ไม่ดีก็อพยพไปอยู่ที่มัสยิดก่อน” นางมารีแย บอกถึงความหวาดกลัวของชาวบ้าน
ขณะที่นางลียะห์ สาและ บอกว่า ปีนี้ทางจังหวัดได้มาตั้งหอกระจายข่าวเพื่อที่จะเตือนภัยให้กับคนในชุมชน แต่เธอก็ไม่ได้หวังที่จะพึ่งข้อมูลข่าวสารจากหอกระจายข่าวแต่เพียงอย่างเดียว ได้เตรียมข้าวของไว้ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์
รูปโดยสุวิจนา ทิพย์พินิจ
“หลังจากเกิดเหตุครั้งที่แล้วหน่วยงานในพื้นที่ได้มาตั้งหอกระจายข่าว เพื่อเตือนภัยเวลาเกิดเหตุในชุมชนเพิ่งมาสร้างได้ไม่กี่เดือน แต่ช่วงนี้ยังไม่ได้ใช้งาน อยู่ในช่วงทดลองใช้ อีกทั้งยังเกรงว่าถ้าเกิดขัดข้องทางเทคนิคจะเตรียมการต่างๆ ไม่ทัน ตอนนี้เริ่มเตรียมข้าวสาร อาหารแห้งไว้แล้วบ้างแล้ว” นางลียะห์ บอกถึงความไม่เชื่อใจต่ออุปกรณ์แจ้งเตือนภัยที่มีการติดตั้ง
“หลายคนยังไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ภัยธรรมชาติในพื้นที่จะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ทำได้คือเฝ้าระวังข้อมูลข่าวสารพร้อมกับสังเกตการณ์ความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ และเตรียมการจัดการดูแลตัวเองก่อนเบื้องต้นเพื่อที่จะลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น” นางลียะห์ บอกถึงการเฝ้าระวังของชาวบ้าน
สายฝนโปรยปราย เสียงลมริมอ่าวปัตตานีโกรกพัด ผสานเสียงสปอตจากรถแห่หาเสียงนายกเทศบาลตำบลรูสะมิแล เหตุกาณ์พายุซัดยังอยู่ในห้วงคำนึงความหวาดกลัว ทว่ากระบวนการเตรียมรับมือกลับเงียบงัน