นูรยา เก็บบุญเกิด โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
เปิดเวทีขับเคลื่อนกระจายอำนาจ ตั้งกองทุนล่าหมื่นรายชื่อ เสนอร่างพ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร ทยอยเดินสายให้ความรู้เรื่องการเมืองการปกครองชายแดนใต้
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 ธันวาคม 2554 ที่ห้องประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา เครือข่ายเพื่อการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, คณะกรรมการภาคประชาสังคม สภาพัฒนาการเมือง และสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล และสถาบันพระปกเกล้าจัดเวทีสาธารณะเรื่องปัตตานีมหานคร: ประชาชนจะได้อะไร โดยมีนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป เข้าร่วมประมาณ 800 คน
ในเวทีมีการบรรยายหัวข้อ สิทธิทางการเมืองและการปกครองของประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2550 โดยนายมันโซร์ สาและ ประธานฝ่ายประสานงานเครือข่ายเพื่อการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รายงานยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงการขับเคลื่อนปัตตานีมหานครกับประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ โดยพล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ และนายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และหัวข้อ เปิดร่างพ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร โดยนายอุดม ปัตนวงศ์ นายอับดุลการีม อิสมาแอล และนายนายสมชาย กุลคีรีรัตนา เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นภาษามลายูท้องถิ่น
นอกจากนี้ในเวทียังมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการขับเคลื่อน พ.ร.บ. ปัตตานีมหานคร โดยเปิดรับบริจาคจากผู้เข้าร่วม
นายมันโซร์ เปิดเผยว่า ร้อยละ 90 ของผู้เข้าร่วมในวันนี้ เป็นผู้ฟังวิทยุชุมชน คลื่นอสมท.ยะลา เอฟเอ็ม 102.50 MHz ช่วงเวลา 20.00-21.00 น. ตั้งแต่วันจันทร์ - วันศุกร์ ในรายการหน้าต่างสังคม ที่สามารถกระจายไปได้ไกลถึงประเทศมาเลเซีย และเป็นรายการที่ตนจัดรายการมาเป็นระยะเวลาราว 10 ปี แสดงให้เห็นว่าประชาชนตอบรับเรื่องการเมืองมากขึ้น
นายมันโซร์ เปิดเผยอีกว่า หลังสิ้นสุดเวทีสาธารณะครั้งนี้ จะเริ่มล่ารายชื่อให้ได้อย่างน้อย 10,000 รายชื่อภายในระยะเวลา 6 เดือน เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ปัตตานีมหานคร พ.ศ...... เข้าสู่สภา โดยจะล่ารายชื่อผ่านการจัดเวทีสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนที่เข้าร่วมเวทีได้เห็นข้อดีและข้อเสียของการปกครองพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปแบบปัตตานีมหานคร
นายมันโซร์ เปิดเผยอีกว่า หลังจากนี้จะมีการให้ความรู้แก่ประชาชนถึงการเมืองยุติธรรม คือการเมืองที่ปราศจากการทุจริตคอรัปชั่น ต่อต้านระบบเครือญาติ โดยการสร้างจิตสำนึก ผ่านเวทีสาธารณะหรือผ่านรายการวิทยุชุมชน รวมถึงจะเน้นการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดจิตสำนึกรักการอ่านทั้งภาษาไทย และภาษามลายู ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์จำนวนประมาณ 30-40 หน้า
นายมันโซร์ กล่าวว่า การที่มีผู้เข้าร่วมเวทีครั้งนี้มีเกินกว่าจำนวนที่ตั้งเป้าไว้ แสดงให้เห็นถึงความสนใจของประชาชนในพื้นที่ มีการแสดงความเห็นต่อรูปแบบการเมืองการปกครองรูปแบบปัตตานีมหานครกันอย่างกว้างขวาง ส่วน กลุ่มสตรีในจังหวัดนราธิวาสแจ้งโทรศัพท์ว่า ไม่สามารถเดินทางมาร่วมในเวทีสาธารณะครั้งนี้ได้ จึงต้องการให้มีการจัดเวทีในอีกหลายพื้นที่ด้วย เช่น ในโรงเรียนหรือชุมชน
นายมันโซร์ กล่าวอีกว่า แม้กลุ่มเป้าหมายในการจัดเวทีครั้งนี้ คือ ประชาชนทั่วไปและนักศึกษาจากหลายสถาบัน แต่มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานีมาเข้าร่วมด้วย โดยการชักชวนของครู แสดงให้เห็นถึงการให้ความรู้เรื่องปัตตานีมหานครสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น