Skip to main content

 

ฮัสซัน โตะดง

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ (DSJ)

 

  อ.สมพร

                                               ดร.สมพร ช่วยอารีย์

  “พายุดีเปรสชั่นก่อตัวมาตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2554 ความเร็วประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากนั้นวันที่ 17 ธันวาคม 2554 เพิ่มความเร็วเป็นพายุโซนร้อนวาชิ มีความเร็ว 75  กิโลเมตรต่อชั่วโมง เคลื่อนเข้าพัดถล่มเกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 652 ศพ และยังมีผู้สูญหายอีก 808  คน และกำลังเคลื่อนที่มุ่งสู่ภาคใต้ของไทย” เป็นข่าวที่ปรากฏบนหน้าเว็บไซต์หลายสำนัก

พายุดังกล่าวสร้างความหวั่นวิตกให้กับคนภาคใต้เป็นอย่างมาก ด้วยกลัวว่าจะเกิดโศกนาฏกรรมซ้ำเหมือนกับปลายปี 2553 จนทำให้ ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจาย์ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทศโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตปัตตานี) มีการติดตามวิเคราะห์สถานการณ์พายุวาชิอย่างใกล้ชิด กระทั่งล่าสุดเมื่อเวลา 22.00 น.ของวันที่ 19 ธันวาคม 2554 ข้อมูลเกี่ยวกับพายุได้ชี้ให้เห็นแนวโน้มใหม่

 “พายุโซนร้อนวาชิได้อ่อนกำลังเป็นพายุดีเปรสชันและได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้ว ตอนนี้คาดว่ากำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศมาเลเซีย” ดร.สมพร ยืนยันสถานการณ์ล่าสุด

จากการติดตามสถานการณ์ตลอดทั้งวัน ดร.สมพร แจกแจงให้ฟังว่าเมื่อเวลา 15.00 น. ของวันที่ 19 ธันวาคม พายุวาชิยังเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผ่านเกาะปาลาวัน (Palawan) ประเทศฟิลิปปินส์ โดยแตกออกเป็น 2 ส่วน แล้วกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ตาพายุก่อตัวอยู่บริเวณทะเลจีนใต้ ซึ่งห่างจากเมือง Kuantan รัฐปะหัง ประเทศมาเลเซีย ประมาณ 1,200 กิโลเมตร มีความเร็วรอบศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

ก่อนหน้านี้ ดร.สมพร วิเคราะห์แนวโน้มเส้นทางของพายุวาชิที่จะเข้าสู่บริเวณภาคพื้นทวีป 7 เส้นทางขึ้นอยู่กับบริบทของความกดอากาศที่ปกคลุมประเทศไทย และเวียดนาม

เส้นทางที่ 1 พายุจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ตอนใต้ของประเทศเวียดนาม และจะเข้าสู่ประเทศกัมพูชา

เส้นทางที่ 2 พายุเคลื่อนตัวผ่านไปทางแหลมญวนตอนใต้ แล้วเคลือนตัวไปทางอ่าวไทย ขึ้นฝั่งที่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และออกไปสู่ทะเลอันดามัน

เส้นทางที่ 3 พายุจะเคลื่อนตัวผ่านมาใต้แหลมญวน ของประเทศเวียดนาม แล้วเคลื่อนตัวผ่านไปทางจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร และออกไปสู่ทะเลอันดามัน

เส้นทางที่ 4 พายุจะเคลื่อนตัวมาทางใต้ของแหลมญวน ประเทศเวียดนาม ไปทาง คาบสุมทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี  และออกไปสู่ทะเลอันดามัน

 เส้นทางที่ 5 คือ เคลื่อนตัวมาทางใต้ของแหลมญวนและขึ้นฝั่งระหว่างจังหวัดปัตตานีกับนราธิวาส  

เส้นทางที่ 6 พายุจะเคลื่อนตัวมาทางทะเลจีนใต้ เข้าอ่าวไทย เข้ารัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย

เส้นทางที่ 7 พายุจะเคลื่อนที่ลงมาทางทะเลจีนใต้ เข้าสู่บริเวณเมือง Kuantan  รัฐปะหัง (Pahang) ประเทศมาเลเซีย และพายุอาจจะสลายตรงนี้

 

     f

                                       7 เส้นทางที่ดร.สมพร คาดว่าพายุวาชิจะเข้า

               ดร.สมพร วิเคราะห์ว่า เส้นทางที่เป็นไปได้มากที่สุดจากการวิเคราะห์ของหลายๆ แหล่ง เช่น อุตุนิยมวิทยาของประเทศมาเลเซีย และกรมอุตุนิยมวิทยา  ได้แก่ เส้นทางที่ 7 นั้น จะทำให้บริเวณเมือง Kuantan มีคลื่นสูง ฝนตกหนัก ส่งผลกระทบต่อในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี และยังทำให้คลื่นลมทะเลสูงประมาณ 2-3 เมตร ชาวประมงไม่ควรที่จะออกจากฝั่ง ในช่วงวันที่ 20 - 24  ธันวาคม 2554 

“อาจเกิดน้ำท่วม ดินโคลนถล่มบริเวณจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ส่วนภาคใต้ตอนบนกับภาคใต้ฝั่งอันดามัน อาจได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย หากพายุสลายที่ประเทศมาเลเซีย ก็อาจจะไม่รับผลกระทบเลย  ยกเว้นจะมีฝนตก แต่หากพายุพัดเข้าข้ามฝั่งอ่าวไทยมายังฝั่งอันดามัน แล้วพายุยังไม่สลาย อาจจะถล่มซ้ำได้” ดร.สมพร คาดการณ์

ดร.สมพร แนะนำว่า ประชาชนตั้งแต่จังหวัดชุมพรจนถึงจังหวัดนราธิวาส ควรเตรียมตัวรับมือ แม้ว่าพายุจะเข้ามาพื้นที่ประเทศมาเลเซียตามที่คาดการณ์เอาไว้ แต่จำเป็นต้องเฝ้าระวังเพื่อที่ให้มีความพร้อมหากเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้น ถ้าความกดอากาศเปลี่ยนแปลง พายุก็อาจก่อตัวเริ่มอีกครั้ง ดังนั้นไม่สามารถคาดการณ์สภาพอากาศที่ชัดเจนได้ ควรเตรียมความพร้อมให้มากสุดในการที่จะเฝ้าระวัง ป้องกันการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

          “บริเวณชายหาด ควรเก็บเศษกระเบื้อง สังกะสี  ให้เป็นที่เป็นทาง ป้องกันพายุพัดปลิวโดนร่างกายทำให้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตได้ ทั้งควรสำรองกักตุนอาหารไว้ประทังชีวิตในระหว่างเกิดภัย ควรเตรียมไฟสำรอง กรณีที่ไฟดับ ส่วนพื้นที่ที่อยู่ตามไหล่เขา อาจเกิดปัญหาน้ำป่าไหลหลาก ควรจะมีอาสาสมัครเพื่อที่จะเฝ้าระวังตรวจสอบพื้นที่ ด้วยการเก็บปริมาณน้ำฝนเพื่อที่จะเป็นข้อมูล  ในการดูปริมาณน้ำที่สะสมมีมากน้อยแค่ไหน และอาจจะส่งผลต่อพื้นที่อย่างไร เช่น หากน้ำฝนมีมากเกิน 300 มิลลิเมตร ก็จะส่งผลให้เกิดดินโคลนถล่มได้”  ดร.สมพร แนะนำ

ภัยพิบัติมักจะมาในยามไม่พร้อมหรือหลับใหล และทำให้เสียชีวิตได้ แต่ถ้าเตรียมตัวพร้อมแม้พายุเข้า น้ำท่วม ดินถล่ม และคนไม่เสียชีวิตก็อาจจะไม่ถือว่าเป็นภัยพิบัติดร.สมพร ช่วยอารีย์  ย้ำทิ้งท้าย

 

   ชมการวิเคราะห์พื้นที่ดินโคลนถล่มภาคใต้ โดยดร.สมพร ช่วยอารีย์