Skip to main content

สมพร ช่วยอารีย์

อาจาย์ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทศโนโลยี

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

ด

                                              สมพร ช่วยอารีย์

 

เรียน ทุกท่านและผู้เฝ้าระวังภัยจากพายุวาชิ

ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2554 ก็ได้เกิดลูกหนูตัวน้อยหรือหย่อมความกดอากาศต่ำในบริเวณทางทิศตะวันออกเฉียง ใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ ลูกหนูก็เจริญเติบโตและพัฒนาตัวเองให้ลอยตัวสูงขึ้นในแนวดิ่งและได้พัฒนาตัวเองเป็นพายุดีเปรสชั่นที่ความเร็วลมรอบศูนย์กลาง 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (หากจินตนาการไม่ออกให้นึกถึงเราขับรถรอบวงเวียนและเร่งเครื่องให้ได้ความ เร็ว 55 กม.ต่อ ชม. เพียงแต่วงเวียนของพายุหรือหนูจะใหญ่หน่อย เกิน 10 กม.)

หนูก็ได้เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นพายุโซนร้อน (ความเร็วรอบศูนย์กลาง 65 กม.ต่อ ชม.) ซึ่งได้รับฉายาในภาษาญี่ปุ่นว่า "WASHI" แปลว่า ชื่อหมู่ดาว นกอินทรี และกินไอน้ำในมหาสมุทรด้วยความร่าเริง และพัฒนาตัวเองสูงสุดวิ่งรอบวงเวียนได้ความเร็วจนถึง 75 กม.ต่อ ชม. หนูสะสมพลังงานเต็มที่แล้วมุ่งหน้าสู่ทะเลจีนใต้ ซึ่งต้องผ่านพื้นที่ประเทศฟิลิปปินส์หลายเมือง ทำให้พี่น้องในประเทศฟิลิปปินส์เสียชีวิตอย่างน้อย 652 คน และยังมีที่สูญหายอีกหลายร้อยคน ในวันที่ 17 ธันวาคม 2554

จากนั้นเมื่อส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายให้กับเมืองต่างๆ ทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์แล้วก็มุ่งหน้าไปยังทะเลจีนใต้ ผ่านเกาะ Palawan และเกิดการสะดุดจากแรงจากแรงเสียดทานที่วิ่งผ่านเกาะ ทำหนูหรือพายุวาชิแตกร่างออกเป็น 2 ร่าง เกิดบทเรียนให้ผู้ติดตามทางเดินของหนูวาชิได้ประสบการณ์ไปคิดวิจัยต่อไป

ตอนแรกคิดว่าเมื่อเกิดหนูสองร่างขึ้น ร่างแรกจะไปทางซ้าย ร่างที่สองไปทางขวา  อาจจะขึ้นไปหาฟิลิปปินส์ตอนบน แต่ด้วยแรงต้านของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีลมแรงทำให้หนูร่างทางขวามือต้อง ถอยมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้มารวมกันกับหนูร่างซ้ายมือกลายเป็นหนูตัวเดิม มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็ว 65 กม.ต่อ ชม และหนูต้องเจอกับแมวตัวใหญ่ (หย่อมความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็น หรือลมเย็นจากประเทศจีนพัดมาปกคลุมประเทศไทยและเวียดนาม หรือพระเอกของเรา) ที่มาล้อมและโอบกอดหนูตัวนี้ ที่สร้างความเสียหายตามเส้นทางที่ผ่านมา ทำให้หนูวาชิโดนต้านจากแนวกั้นของขาแมวทำให้หนูมุ่งหน้าเข้าสู่เวียดนามไม่ได้ จึงต้องเบนทิศไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

จะมุ่งสู่ทิศทางใด ขึ้นอยู่กับขาแมวเป็นหลัก ซึ่งขาแมว(เส้นความกดอากาศสูง) ก็เปลี่ยนไปมาเสมือนว่าต้องการจะให้หนูวาชิสงบลง แล้วก็มีการคาดการณ์จากหลายแหล่งข่าวว่าจะมุ่งหน้าลงสู่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งความเป็นไปได้ขึ้นกับขาแมวเป็นหลัก เมื่อขาแมวอยู่ห่างหนูวาซิ เข้าทำนอง แมวไม่อยู่หนูร่าเริง แต่ก็ทำให้หนูวาชิลดกำลังลง เจอความเหน็บหนาวเมื่อเจอแมว (มวลอากาศเย็นจากทางเหนือ) เหลือความเร็ว 55 กม.ต่อ ชม. ลดศักยภาพลงเป็นพายุดีเปรสชั่น (ความเร็วรอบศูนย์กลางไม่เกิน 63 กม.ต่อ ชม.) ประกอบกับเป็นช่วงเวลาเย็นของวันที่ 19 ธันวาคม 2554

จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่เฝ้าระวังพายุมาอย่างต่อเนื่องแล้วลองจำลอง เพื่อดูทิศทางของหนูวาชิ พบว่าเมื่อเป็นช่วงเวลากลางคืนหนูวาชิจะมุ่งหน้าเข้าหาเวียดนามทางตอนใต้ทุกครั้ง และคืนนี้ก็เป็นเช่นนี้

เราก็พบกว่าหนูอยู่ในอ้อมแขนของแมวทำให้หนูไม่สามารถเคลื่อนต่อไปได้ และในที่สุดหนูก็พยายามดิ้นรนแต่สู้ความหนาวเหน็บจากแมวไม่ได้ ท้ายที่สุดหนูก็ยอมสลายตัวกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ หรือสัญลักษณ์ ตัว L หรือ หย่อมโลว์ (Low) และก็เฝ้าระวังกันต่อว่าหนูจะฟื้นคืนชีพกันหรือไม่จนถึงตีสี่ (คืน 19 ธ.ค. 2554) สุดท้ายก็ขอหลับมาฟังผลตอนเช้า พบกว่าหนูได้จากลาไปแล้ว ขาแมวก็เริ่มถอยขึ้นไปเล็กน้อย ทำให้วันนี้ฝนไม่หนัก

สถานการณ์เปลี่ยน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า หนูตัวอื่นจะไม่จุติเกิดขึ้นมาอีก เพราะผลต่อเนื่องจากหนูวาชิจะส่งผลต่อเป็นฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ของไทยและ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งต้องเฝ้าระวังกันต่อไปว่าฝนจะตกหนักในบางพื้นที่ตั้งแต่ สุราษฎร์ธานีลงมาจนถึงนราธิวาส และประเทศมาเลเซีย คลื่นลมแรง คลื่นสูง 2-3 เมตร การกัดเซาะชายฝั่งยังทำงานอย่างต่อเนื่อง

ระวังดินโคลนถล่มเมื่อฝนตกหนักในบางพื้นที่ ศึกษาพื้นที่เสี่ยงภัยดินโคลนถล่มในภาคใต้ได้จาก http://www.pbwatch.net/WeatherReport.html กดเลือกข้อ 2 พื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มภาคใต้ เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง 21-23 ธันวาคม 2554

 

บทเรียนที่ได้จากการติดตามหนูวาชิ

การให้ข้อมูลกับประชาชนให้รับรู้ก่อนล่วงหน้านั้นสำคัญมาก ๆ อย่างน้อยให้คนได้รับรู้ว่า จะมีอะไรมาบ้าง จะต้องดำเนินการและปรับชีวิตในช่วงนั้นอย่างไร ส่งผลให้เกิดการทบทวนและเตรียมความพร้อมถ้าเกิดภัยขึ้นมาจริง เป็นการเตือนสติให้กับตนเอง และรับรู้ว่าชีวิตสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด แต่ไม่ใช่การเห็นแก่ตัว

ทำให้ผมเห็นถึงการตื่นตัวของประชาชนและพี่น้องในเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ที่เฝ้าระวังกันอย่างต่อเนื่องเพื่อกระจายข่าวเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงของตนเอง เทียบกับจากที่ผมเคยนั่งดูภาพดาวเทียมอยู่คนเดียวตอนยังอยู่เยอรมัน ไม่รู้จะแลกเปลี่ยนกับใคร ซึ่งเทคโนโลยีช่วยได้มากในการติดต่อสื่อสารเฝ้าระวังภัย และเห็นพฤติกรรมของพายุ(หนู) ความกดอากาศ(แมว) การหมุนของกระแสลมในแนวดิ่ง ลมในชั้นต่าง ๆ สัมพันกันอย่างไร เห็นธรรมชาติเห็นคณิตศาสตร์ เห็นสมการเห็นธรรมชาติเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากคนที่ไม่เคยเจอ ไม่เคยพูดคุย เกิดมิตรภาพขึ้นได้ มันเป็นการยกระดับจิตใจอย่างหนึ่ง

หนู หรือพายุสามารถจะสลายตัวได้เมื่อเจอความกดอากาศสูงหรือความเหน็บหนาวจัด เพราะพายุลอยตัว ความหนาวจมตัว มาเจอกันจะโดนลมหนาวดูดพลังจากตัวมันได้จนหมดแรงและอ่อนเพลียจากการทำนายทิศ ทางของพายุหลายสำนัก ทำให้พบว่าหากพายุวิ่งมุดลงไปหาเส้นศูนย์สูตรจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก แต่สำหรับวาชิก็ไม่เกิดอย่างนั้นเพราะสลายตัวก่อน

การที่พายุสลายตัวในทะเลท่ามกลางแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์มีโอกาสจะเกิดได้ น้อย แต่อยู่ที่พระเอกคือความกดอากาศสูงจริงๆ ปกติพายุหากวิ่งขึ้นฝั่งจะเจอความแห้งแล้งพายุก็จะฝ่อในที่สุดและสลายเพราะไม่มีอาหารคือไอน้ำให้ยังชีพต่อไปทำให้ได้ศึกษาลองวิเคราะห์เส้นทางที่เป็นไปได้ว่าเส้นทางใดบ้างที่มีแนวโน้นจะพายุอาจจะเคลื่อนที่ไป เป็นการเตรียมความพร้อมของแต่ละพื้นที่ได้ ไม่ใช่เป็นการทำให้คนตกใจแต่เป็นการฝึกสติคิดในการจัดการตัวเองและคนรอบข้าง

ทำให้เกิดมิติใหม่ในการพูดคุยกันหรือการประชุมรูปแบบใหม่ มุมมองเพื่อดูและวิเคราะห์ภูเขาปัญหาได้ชัดขึ้นและมีอีกหลายๆ อย่างมากมายจากวาชิในครั้งนี้ เป็นการสั่งสมประสบการณ์ต่อไป เป็นฐานของการวิจัยต่อยอดจากการได้ลงมือทำจริงต่อไปเราจะพัฒนาเครื่องมือได้ อย่างไรที่จะบอกว่า พรุ่งนี้ควรกรีดยางหรือไม่ ควรจะออกทะเลหาปลาหรือไม่ ออกไปได้กี่วัน ควรจะจับกุ้งหรือไม่อย่างไร

จากข้อมูลสภาพดินฟ้าอากาศ ซึ่งจะเกี่ยวโยงตั้งแต่คนขายกล้วยทอดไปจนถึงตลาดหุ้น หรือเศรษฐกิจ "สู่การวิจัยไทยใช้ได้จริง"ประเทศไทยควรจะพัฒนาให้มีหลักสูตรทางด้านอุตุ นิยมวิทยาในระดับปริญญา ตรี โท เอก โดยสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถให้มากขึ้น แทนที่จะร่ำเรียนกันในด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไปกันตามแฟชั่นหรือตามค่านิยม แต่ละยุคสมัย ตลอดจนการสร้างครูให้มีความพร้อมเพื่อจะสร้างบทเรียนในการนำไปใช้จริงจาก ทฤษฎีและบทเรียนนอกห้องเรียนเชื่อมโยงกันโดยไม่มีกำแพงห้องกั้น

ประสบการณ์ในอดีตจะส่งผลต่อการอพยพหลบภัย แม้จะมีเทคโนโลยีขั้นสูงแค่ไหน หากยังมีช่องว่างระหว่างกลุ่มคนมาก ก็จะส่งผลถึงความเสียหายได้มากเช่นกัน เช่น พายุลูกวาชิลูกนี้ พายุทุเรียน พายุนากีส พายุแคทรินา และลูกอื่นๆ การตระหนักอย่างมีสติจึงสำคัญมาก

สุดท้ายนี้ขอให้ทุกดวงวิญญาณของพี่น้องประเทศฟิลิปปินส์จงไปสู่สุคติ และจะเอาบทเรียนเหล่านี้มาเตือนสติในการร่วมกันเฝ้าระวังต่อไป ชีวิตคนเราตายกันได้ง่ายมาก เพียงแค่หายใจไม่เข้าหรือมีลมหายใจออกเป็นลมหายใจสุดท้าย หรือหายใจออกแล้วต่อเนื่องด้วยลมหายใจเข้าได้อย่างไร เราจะหายใจเข้าอย่างมีสติกันอย่างไร นั่นคือคำถามที่แต่ละคนต้องหาคำตอบกันเอง หรือจะหายใจไม่เข้าโดยไม่หลับไหลได้อย่างไร

ภัยพิบัติที่น่ากลัวกว่าภัยจากธรรมชาติคือ "ภัยพิบัติทางจิตวิญญาณ" จึงฝากไว้ร่วมคิดกันต่อไปครับ
 
                        ด้วยมิตรภาพ
                          หมายเหตุ

    อ่านบทความหนูกับแมวจากข้อมูลด้านล่างนี้ครับ หรืออ่านได้จาก http://www.pbwatch.net/node/57

 

ที่มา- http://www.pbwatch.net/node/59