Skip to main content

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้                                                                                                                                                                                               อ

                              อาอีฉ๊ะ แก้วนพรัตน์

 

พายุโซนร้อนวาชิเคลื่อนเข้าพัดถล่มเกาะมินดาเนา ของฟิลิปปินส์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 652 ศพ และยังมีผู้สูญหายอีก 808  คน และกำลังเคลื่อนที่มุ่งสู่ภาคใต้ของไทย

ทำให้สำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประกาศเตือนภัยพายุ“วาชิ” ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2554 ระบุว่า พายุโซนร้อนวาชิ บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้ว และจะเคลื่อนตัวเข้าประเทศมาเลเซีย ในวันพุธที่ 21 ธันวาคม 2554 ส่งผลกระทบทำให้ภาคใต้ตอนล่างบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ตรัง และสตูล มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่...

พร้อมกันนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศภาคใต้ฝั่งตะวันตกว่า ในช่วงวันที่ 20-23 ธันวาคม 2554 ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 20-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 24-26 ธันวาคม 2554 อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศา อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศา โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20 ของพื้นที่

นางสาวอาอีฉ๊ะ แก้วนพรัตน์ แกนนำเยาวชนเครือข่ายไทยพลัดถิ่นจังหวัดระนอง บอกว่า ที่ผ่านมาในจังหวัดระนองมีการพูดคุยเกี่ยวกับการเตรียมการรับมือภัยพิบัติ  3 – 4 ครั้ง โดยสภาองค์กรชุมจังหวัดระนอง ซึ่งเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นจังหวัดระนองได้เข้าร่วมพูดคุยด้วย แต่ต่อมาก็เงียบหายไป

“ในเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นเองก็ไม่ได้ขับเคลื่อนเกี่ยวกับการเตรียมการรับมือภัยพิบัติเป็นหลัก แต่ถ้ามีเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิและสิทธิชุมชนมีวงคุยเรื่องภัยพิบัติเราก็จะเข้าไปร่วมพูดคุยด้วย” อาอีฉ๊ะ บอกตามตรงว่าจังหวัดระนองเตรียมการค่อนข้างน้อยในการรับมือภัยพิบัติ

อาอีฉ๊ะ บอกว่า ที่ผ่านมาในสถานการณ์ภัยพิบัติแต่ละครั้ง บทบาทของ “ไทยพลัดถิ่น” ส่วนใหญ่แล้วจะเข้าร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติร่วมกับเครือข่ายอื่นๆเป็นหลัก

 “พวกเราเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นจากจังหวัดระนองและประจวบคีรีขันธ์ ได้รวบรวมของบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดปทุมธานี การเดินทางมาครั้งนี้พวกเรามีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อช่วยพี่น้องที่กำลังเดือดร้อน...” เป็นถ้อยคำบรรยายน้ำเสียงหม่นของอาอีฉ๊ะ ในข่าวพลเมืองที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส                                                                                                                                        

 

อาอีฉ๊ะ บอกว่า เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นจากจังหวัดระนองและประจวบคีรีขันธ์ 30 คน ได้ขนข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม เท่าที่หาได้ขนไปกับรถกระบะ 2 คัน การเดินทางขึ้นไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่จังหวัดปทุมธานี สมทบกับเครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบนที่ตั้งศูนย์ประสานงานอยู่แล้ว

“เราไปคุยกับชาวบ้านที่นั่นว่าเราสามารถที่จะช่วยเหลืออะไรพวกเขาได้บ้าง คนที่ขับเรือได้ก็ช่วยขับเรือพาชาวบ้านสัญจรเข้าออกพื้นที่ เราไปช่วยปรุงอาหารสำเร็จรูปใส่ถุงออกตระเวณแจกชาวบ้านที่นั่น” อาอีฉ๊ะ เล่าถึงสิ่งที่เธอและเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นได้ไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม

สิ่งหนึ่งที่เธอได้พบเห็นคล้ายคลึงกับสถานการณ์คนไทยพลัดถิ่นโดนพิบัติภัยสึนามิเมื่อปลายปี 25547 คือ คนต่างจังหวัด และคนที่ไม่มีบ้านเลขที่แทบจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ

“บางคนไม่ได้กินข้าว 3-4 วัน ถุงยังชีพก็ไม่ได้” อาอีฉ๊ะ เล่าสิ่งที่เธอพบเห็น

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจการช่วยเหลือที่จังหวัดปทุมธานี ก็ย้ายศูนย์ประสานงานไปตั้งที่เดอะมอลล์บางแค เพื่อไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่บางแค กรุงเทพมหานคร โดยเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นได้เข้าไปช่วยสำรวจเส้นทางปลอดภัยเพื่อการอพยพ ช่วยตั้งเต็นท์ แพ็คของ แจกของบริจาค ช่วยทำครัว ฯลฯ

อาอีฉ๊ะ บอกว่า ก่อนหน้านั้นในช่วงเดือนตุลาคม 2554 เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ในช่วงเดือนเมษายน 2554 ได้ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยดินโคลนถล่มที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ รวมถึงเหตุการณ์อุทกภัย และวาตภัยครั้งใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 ในภาคใต้ ที่คนไทยพลัดถิ่นได้เข้าไปช่วยเหลือผูประสบภัยที่จังหวัดพัทลุง และสงขลา

“เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นไปช่วยสร้างบ้านให้ผู้ประสบภัยดินโคลนถล่มที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ เป็นระยะเวลา 1 เดือน ขาเดินทางกลับระนองเราโดนตำรวจจับ ต้องพูดคุยกันนานกว่าตำรวจจะปล่อยตัว” อาอีฉ๊ะ เล่าถึงสิ่งที่คนไทยพลัดถิ่นเจอหลังเดินทางกลับจากการไปช่วยเหลือ เธอเล่าถึงเหตุการณ์ที่ประสบ

นี่คือบทบาทในสถานการณ์ภัยพิบัติของ “ไทยพลัดถิ่น” คนชายขอบไร้สัญชาติจากจังหวัดระนอง ขณะที่พระราชบัญญัติสัญชาติไทย อยู่ในวาระที่ 2 ของวุฒิสภา

       

     เว็บไซต์เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น http://www.thaipladthin.org/