Skip to main content

อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

สมัชชา

(ภาพจากhttp://www.thaieditorial.com/)

 

เริ่มต้นปี 2555 คือการเข้าสู่ปีที่ 8 ของสถานการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันที่ 4 มกราคม อันเป็นช่วงที่ยอดคนตายคงจะพุ่งทะลุ 5,000 รายไปแล้ว

 

เป็นช่วงเดียวกับที่องค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังจะจัดงานใหญ่ เพื่อผลักดันการแก้ปัญหาผ่านกระบวนการปฏิรูปประเทศ

 

นั่นคือ เวทีสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดนใต้ ภายใต้ชื่องาน “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” ระหว่างวันที่ 4-5 มกราคม 2555 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งจัดโดยสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ขับเคลื่อนร่วมกับข่ายงานชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ที่สนับสนุนโดยสำนักงานปฏิรูป (สปร.)

 

เวทีนี้จัดขึ้นเพื่อรับฟังข้อเสนอจากประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอต่อสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ สปร. ที่มีนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เป็นประธานคณะกรรมการจัดงาน

 

เวทีดังกล่าวเน้น 3 ประเด็นหลัก คือ การกระจายอำนาจ กระบวนการยุติธรรมและการเยียวยา

 

เฉพาะประเด็นกระจายอำนาจ จะมีการนำเสนอรูปแบบทางเลือกการปกครองท้องถิ่นพิเศษสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ 6 ตัวแบบ (โมเดล) โดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี รองนายกสมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ ทั้งนี้ ก็เพื่อเปิดประเด็นรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมและสะท้อนความต้องการที่ชัดเจนในพื้นที่

 

นับว่า สมัชชาปฏิรูปครั้งนี้เป็นเวทีใหญ่เวทีหนึ่ง ซึ่งตามแผนดำเนินการจะตามมาด้วยการเดินสายจัดเวทีขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจด้วยวิธีการ Public Deliberation หรือเรียกว่า เวทีประชาหารือ รวม 200 เวทีตลอดปี 2555

 

จากนั้น เมื่อครบรอบ 9 ปีไฟใต้ ก็จะมีเวทีสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 4 มกราคม 2556 ภายใต้หัวข้อ “ปฏิรูปอำนาจ – สร้างความเป็นธรรม”

 

อันเป็นการเริ่มต้นช่วงเดินทัพทางไกลเพื่อเสนอกฎหมายการปกครองท้องถิ่นพิเศษสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยภาคประชาชน

 

แผนต่อไป คือการจัดเวทีสมัชชาฏิรูปจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 3 ในวันครบรอบ 10 ปีไฟใต้ 4 มกราคม 2557 หัวข้อ “ยุติสู้รบ จัดการตนเอง”

 

ถัดไปอีกปีหรือวันครบรอบ 11 ปีไฟใต้ 4 มกราคม 2558 เวทีสมัชชาปฏิรูปจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 4 จะใช้ขื่อหัวข้อว่า “ใต้อยู่เย็น ประเทศเป็นสุข”

 

ทำไมต้องสมัชชาปฏิรูป

 

คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ได้ให้ความหมายของคำว่า “สมัชชาปฏิรูป” ว่า หมายถึง กระบวนการทางสังคมที่ให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชนและชุมชนภาคธุรกิจ ภาควิชาการและภาครัฐ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน อย่างหลากหลายและกว้างขวางบนฐานของปัญญา ความรู้ และความสมานฉันท์

 

สมัชชาปฏิรูป มีการจัดกระบวนการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่การมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติหรือนำไปพิจารณากำหนดเป็นนโยบายสาธารณะสำหรับการปฏิรูปประเทศไทย

 

ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2554 คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ได้มีคำสั่ง คสป. ที่ 12/2554 แต่งตั้ง คณะกรรมการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เป็นประธาน

 

คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ยังมีคำสั่ง คสป. ที่ 13/2554 แต่งตั้งคณะทำงานยุทธศาสตร์สนับสนุนการปฏิรูปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ เป็นประธาน

 

ก่อนที่จะมาเป็น เวทีสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดนใต้ “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” มีการเตรียมการมาอย่างต่อเนื่องหลายเดือนมาแล้ว

 

เริ่มจากมติที่ประชุมสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2554 ที่มีมติรับเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดนใต้ร่วมกับคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) พร้อมกับร่างแผนการจัดสมัชชาปฏิรูปรวม 4 ครั้ง 7 ขั้นตอน

 

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการจัดประชุมเตรียมงานมาแล้ว 3 ครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2554 ที่ห้องมะปราง คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

คณะกรรมการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กำหนดเป้าหมายของสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดภาคใต้ว่า มีเป้าหมายหลักคือ ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ

 

ส่วนวัตถุประสงค์ คือ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบโดยไม่เป็นธรรม เพื่อเรียกร้องและเสนอแนะต่อรัฐบาลในการยกเลิกหรือต่ออายุการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เพื่อสร้างความเข้าใจในรูปแบบทางเลือกการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจการจัดการตัวเอง และเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันในชุมชนท้องถิ่นและสื่อสารให้คนภายนอกเข้าใจ

 

พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม จากเครือข่ายเพื่อการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะกรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ระบุว่า เวทีสมัชชาจะให้ประชาชนเข้าใจว่า การกระจายอำนาจคืออะไร เมื่อประชาชนเข้าใจแล้ว จึงจะสามารถดึงความต้องการขอประชาชนออกมาได้ แต่ประเด็นคือ ประชาชนเข้าใจคำว่าสมัชชามากน้อยแค่ไหน จึงจำเป็นที่ภาคประชาสังคมต้องทำความเข้าใจกับประชาชนก่อน

 

นับเป็นอีกหนึ่งในโจทก์ที่ท้าทายสำหรับการขับเคลื่อนประเด็นในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้พอสมควร

 

 

สำนักงานปฏิรูปกับภารกิจดับไฟใต้

 

รู้จัก สำนักงานปฏิรูป (สปร.)

สำนักงานปฏิรูป (สปร.) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2553 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 เป็นหน่วยงานภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการปฏิรูปพ.ศ.2553 ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูปและคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในงานเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูป คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป คณะกรรมการเฉพาะประเด็นหรือเฉพาะด้าน คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่ในการติดตามสถานการณ์ ศึกษาและรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ รวมทั้งการประสานกับหน่วยงาน องค์กรทุกภาคส่วนและสาธารณชนเพื่อร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูป

คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) คณะกรรการสมัชชาปฏิรูป (คสป.)

ในการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย ณ ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 ได้เสนอให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่เหมาะสมมาเป็นหลักในการขับเคลื่อนการปฏิรูป นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จึงได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานกรรมการปฏิรูป และแต่งตั้งศาสตราจารย์ประเวศ วะสี เป็นประธานกรรมการสมัชชาปฏิรูป แต่ต่อมานายอานันท์ ได้ยื่นหนังสือลาออก

เป้าหมายร่วมของการปฏิรูป

คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) กำหนดเป้าหมายร่วมของการปฏิรูป คือ "การสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม" โดยคณะกรรมการได้กำหนด เป้าหมายเชิงอุดมคติเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของคนไทย 3 ประการ ได้แก่

1.เป็นชีวิตที่มีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกันในฐานะความเป็นมนุษย์ มีส่วนร่วมทางสังคม มีสำนึกต่อประโยชน์สุขของส่วนรวม และมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตน ทั้งทางกาย ใจ ภูมิปัญญา และจิตวิญญาณ

2.เป็นชีวิตที่สงบสุขตามวิถีวัฒนธรรมแห่งสันติภาพ ปราศจากภัยคุกคามจากผู้อื่น หรือการคุกคามซึ่งกันและกันตลอดจนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาวะ

3.เป็นชีวิตที่มีหลักประกันในด้านเงื่อนไขการครองชีพ และมีกลไกการคุ้มครองทางสังคม

ความหมายการปฏิรูป

การปฏิรูป หมายถึง การใดๆ ที่กระทำโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเชิงระบบและโครงสร้างในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบคุณค่าของสังคม ระบบการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ระบบภาษีและการเงินการคลัง ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา ระบบยุติธรรม ระบบการเมือง ระบบราชการ ระบบการสื่อสาร ระบบสุขภาพ ระบบสวัสดิการสังคม และระบบอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มสุขภาวะ ความเข้มแข็งและความเป็นธรรมในสังคม

สมัชชาปฏิรูปเฉพาะพื้นที่ หมายถึง สมัชชาปฏิรูปที่ใช้อาณาบริเวณในเชิงภูมิศาสตร์ ภูมินิเวศ ภูมิวัฒนธรรมหรือชุมชนในรูปแบบต่างๆ เป็นขอบเขตในการดำเนินงาน

สมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น หมายถึง สมัชชาปฏิรูปที่ใช้ประเด็นในการทำงานปฏิรูปเป็นขอบเขตในการดำเนินงาน

สมัชชาปฏิรูป หมายถึง กระบวนการทางสังคมที่ให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชนและชุมชนภาคธุรกิจ ภาควิชาการและภาครัฐ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน อย่างหลากหลายและกว้างขวางบนฐานของปัญญา ความรู้ และความสมานฉันท์ โดยมีการจัดกระบวนการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่การมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติหรือนำไปพิจารณากำหนดเป็นนโยบายสาธารณะสำหรับการปฏิรูปประเทศไทย

สมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดภาคใต้

คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ได้มีคำสั่ง คสป. ที่ 12/2554 เรื่อง แต่งตั้ง คณะกรรมการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2554 โดยมี นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เป็นประธาน

สมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดภาคใต้ มีเป้าหมายหลักคือ ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ตามวัตถุประสงค์ ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยไม่เป็นธรรม เพื่อเรียกร้องและเสนอแนะต่อรัฐบาลในการยกเลิกหรือต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อสร้างความเข้าใจในรูปแบบทางเลือกการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจการจัดการตัวเอง และเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันในชุมชนท้องถิ่นและสื่อสารให้คนภายใน

 

 

ล้อมกรอบ 2

 

เวทีสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ ครั้งที่ ๑ “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน”

๔ -๕ มกราคม ๒๕๕๕ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อ. เมือง จ.ยะลา

จัดโดย สภาประชาสังคมชายแดนใต้

ร่วมขับเคลื่อนโดย ข่ายงานชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้

สนับสนุนโดย สำนักงานปฏิรูป (สปร.)

 

๔ มกราคม ๒๕๕๕

๙.๐๐ - ๑๐.๐๐ น.             ลงทะเบียน

๑๐.๐๐ – ๑๐.๑๕  น.         โหมโรง

๑๐.๑๕ – ๑๐.๓๐  น.         รำลึก ๘ ปีไฟใต้

๑๐.๓๐ – ๑๐.๔๐  น.         กล่าวรายงานโดย นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้

๑๐.๔๐   - ๑๑.๑๐ น.        เปิดงานและปาฐกถาพิเศษ “ ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี

๑๑.๑๐   - ๑๑.๔๐ น.        สะท้อนความรู้สึกจากผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ

                                    คุณแยน๊ะ สะแลแม คุณสม โกไศยกานนท์ และ คุณสุกรี อาดำ

                                    ดำเนินรายการโดย อัสรา รัฐการัณย์

๑๑.๔๐ - ๑๑.๕๕ น.         การแสดงอนาซีค

๑๑.๕๕ – ๑๒.๑๕ น.         นำเสนอผลการช่วยเหลือและเยียวยาของภาคประชาสังคม

โดย คุณลม้าย มานะการ และคุณอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ

๑๒.๑๕ – ๑๓.๓๐ น.         รับประทานอาหารกลางวัน และละหมาด

๑๓.๓๐ - ๑๓.๔๕ น.         การแสดงอนาซีค

๑๓.๔๕ - ๑๔.๑๕ น.         ประกาศข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

                                    และข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการใช้กฎหมายพิเศษ และพ.ร.กฉุกเฉินจากสภาประชาสังคมชายแดนใต้

๑๔.๑๕ - ๑๖.๐๐ น.          มุมมองข้อคิดเห็นต่อข้อเสนอเชิงนโยบาย

                                    ร่วมอภิปรายโดย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ          มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

                                                            อนุกูล อาแวปูเตะ              ศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี

                                                            ตัวแทนจากกอ.รมน.

แลกเปลี่ยนจากผู้เข้าร่วมประชุม

ดำเนินการอภิปรายและสรุปโดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

 

มกราคม ๒๕๕๕

๙.๐๐ – ๙.๓๐ น.              ปาฐกถาพิเศษ “ สิทธิ เสรีภาพของประชาชนในทัศนะอิสลาม”

โดย ดร.อิสมาแอลลุตฟี จะปะกียา

๙.๓๐ – ๙.๔๕ น.             การแสดงอนาซีค กอมปัง

๙.๔๕ - ๙.๕๕ น.                        ฉายวีดีทัศน์ “ทำไมต้องกระจายอำนาจ”

๙.๕๕ – ๑๐.๒๕ น.          นำเสนอรูปแบบทางเลือกการกระจายอำนาจจังหวัดชายแดนใต้

                                    โดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี

๑๐.๒๕ – ๑๑.๕๕ น.         การอภิปราย“ทางเลือกการกระจายอำนาจในรูปแบบพิเศษจังหวัดชายแดนใต้: มุมมองที่หลากหลาย”

                                    ผู้ร่วมอภิปราย:

นายพงศ์โพยม วาศภูติ             อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย

                                          นายสวิง ตันอุด                       ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการทางสังคม

                                          ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ     นายกสมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้

                                          พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม           ภาคประชาสังคมชายแดนใต้

                                    ดำเนินการอภิปรายโดย อาจารย์ฮาฟิส สาและ

๑๑.๕๕ – ๑๒.๑๕ น.         แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วม

๑๒.๑๕ - ๑๒.๓๐ น.          ประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ

๑๒.๓๐ น.                       กล่าวปิดงานโดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานกรรมการจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จชต.