Skip to main content

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

                    า่

 

                ปิดฉากปี 2554 ชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็พบกับงานใหญ่ในแทบจะทันที

เนื่องเพราะส่งท้ายปีเก่า 2554 ได้ไม่กี่วัน พอถึงวันที่ 4–5 มกราคม 2555 ก็จะมีการระดมพลคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากถึง 1,000 คน มาร่วมงาน “สมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”

ด้วยจำนวนคนมากมายขนาดนี้ จึงไม่แปลกที่งานนี้จะใช้งบประมาณสูงถึง 1 ล้านบาท

คำถามก็คือว่า คนจำนวนนี้มาจากไหนกัน

เมื่อดูถึงกลุ่มเป้าหมายที่ผู้จัดงานวางไว้ก็พบว่า ประกอบด้วย กลุ่มคนทำงานภาคประชาสังคมใน 3 จังหวัด กลุ่มผู้ได้รับการเยียวยาและครอบครัว กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และกลุ่มนักศึกษา

นับว่าครอบคลุมกลุ่มคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกกลุ่ม

ประเด็นหลักในการระดมพลคราวนี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” เนื้อหาของงานมีอยู่ 5 ประเด็นหลักๆ

ประเด็นแรก รำลึก 8 ปีไฟใต้

ประเด็นต่อมา สำรวจทบทวนกระบวนการช่วยเหลือเยียวยาผู้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงหลายฉบับในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 และปัญหาการใช้ที่ดินและทรัพยากร

ประเด็นที่สาม ร่วมกันประกาศข้อเสนอเชิงนโยบาย ให้ยกเลิกการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ประเด็นที่สี่ ประกาศปฏิญญาเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมชายแดนใต้ “การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจเพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเลื่อมล้ำ” ภายใต้กระบวนการสมัชชาปฏิรูป

ประเด็นที่ห้า เป็นการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนทั่วประเทศ

ในส่วนของรูปแบบ เริ่มต้นวันแรก วันที่ 4 มกราคม 2554 เปิดด้วยการรำลึก 8 ปีไฟใต้ ผ่านการแสดงโหมโรง ในรูปของละครและการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน

ตามด้วยปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” โดยนายแพทย์ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป

จากนั้นเข้าสู่กระบวนการ “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” ผ่านเสียงสะท้อนความรู้สึกจากผู้ได้รับผลกระทบต่อการได้รับการเยียวยา และบอกเล่าผลการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยลม้าย มานะการ และอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ

ต่อด้วยการประกาศข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการใช้กฎหมายพิเศษ และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 จากสภาประชาสังคมชายแดนใต้

ปิดท้ายวันแรกด้วยคำถาม เราคิดอย่างไรกับการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงหลากหลายฉบับในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านเวทีอภิปรายที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ไล่มาตั้งแต่พรเพ็ญ คงสกุลเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม อนุกูล อาแวปูเต๊ะ จากศูนย์ทนายความมุสลิม และตัวแทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มีนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

 j

 

เริ่มต้นวันที่สอง วันที่ 5 มกราคม 2554 ด้วยปาฐกถาพิเศษ “สิทธิเสรีภาพของประชาชนในศาสนาอิสลาม” โดยดร.อิสมาแอลลุตฟี จะปะกียา ต่อด้วยการแสดงอานาซีดกอมปัง

เข้าสู่เนื้อหาการปฏิรูป ด้วยวีดีทัศน์ “ทำไมต้องกระจายอำนาจ” ตามด้วยการนำเสนอรูปแบบการกระจายอำนาจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี

จากนั้นเป็นการอภิปรายเรื่อง “ทางเลือกการกระจายอำนาจในรูปแบบพิเศษจังหวัดชายแดนใต้: มุมมองที่หลากหลาย” ผู้อภิปรายประกอบด้วย พงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมาหดไทย สวิง ตัยอุด ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการทางสังคม ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ นายกสมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม จากภาคประชาสังคมชายแดนใต้ มีอาจารย์ฮาฟิส สาและ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

ปิดท้ายด้วยการประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ

จากนั้นตลอดปี 2555 กระบวนการปฏิรูป ก็จะเคลื่อนพลลงสู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านการจัดเวทีระดมความเห็นจากชาวบ้านจำนวน 200 เวที ครอบคลุมทุกพื้นที่ และทุกกลุ่มคน

ความคิดความเห็นที่ได้ทั้งหมด จะถูกนำมาประมวลวิเคราะห์และสังเคราะห์ จัดทำเป็นข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

อันเป็นข้อเสนอที่จะถูกระดมขึ้นมาจากเสียงของคนในพื้นที่แท้ๆ