โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
พลเดช ปิ่นประทีป
ตั้งแต่ต้นปี 2555 เป็นต้นไป กระบวนการปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป และภาคประชาสังคมชายแดนภาคใต้ เป็นเจ้าภาพหลัก ถึงเวลาออกเดินสายระดมจัดเวทีระดมความคิดเห็น 200 เวที กระจายครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส
เริ่มต้นเปิดฉากงานแรกคือ เวทีสมัชชาเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 1 “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” ระหว่างวันที่ 4–5 มกราคม 2555 ตามด้วยการเดินสายเปิดเวทีย่อยตลอดปี 2555
ย้อนรอยขบวนการปฏิรูป
การปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูป ที่เริ่มต้นมาจากการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย ที่ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553
คราวนั้น ที่ประชุมได้มีข้อเสนอต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบ และโครงสร้างต่างๆ ในประเทศไทย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เสริมสร้างสมรรถนะและพลังปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยให้มีความเข้มแข็ง อยู่เย็นเป็นสุข มีศักดิ์ศรี และความเป็นธรรม อันจะนำไปสู่ความสมานฉันท์ สันติสุข และความเจริญมั่นคงในชาติบ้านเมือง
เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอข้างต้น ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 คณะคือ คณะกรรมการปฏิรูป และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอ
สำหรับคณะกรรมการปฎิรูป มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย นายกฤษณพงศ์ กีรติกร คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา นายชัยอนันต์ สมุทวณิช นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นายบัญชา อ่อนดำ นางปราณี ทินกร นายพงศ์โพยม วาศภูติ นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ พระไพศาล วิสาโล นางรัชนี ธงไชย นายวิชัย โชควิวัฒน์ นางวิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ นายศรีศักดิ วัลลิโภดม นายสมชัย ฤชุพันธุ์ นางสมปอง เวียงจันทร์ นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา นายเสกสรร ประเสริฐกุล ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์
ส่วนคณะกรรมการสมัชชาปฎิรูป มีศาสตราจารย์ประเวศ วะสี เป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ นายชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชิดชนก ราฮิมมูลา นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ นายต่อพงษ์ เสลานนท์ นางเตือนใจ ดีเทศน์ รองศาสตราจารย์นิพนธ์ พัวพงศกร นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นางปรีดา คงแป้น นายปรีดา เตียสุวรรณ นางเปรมฤดี ชามภูนท นายพลเดช ปิ่นประทีป นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม นายมานิจ สุขสมจิตร นายรัชฏะ ศรีบุญรัตน์ นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข นายวิชัย โชควิวัฒน์ นายสน รูปสูง นายสมพร ใช้บางยาง นางสาวสารี อ๋องสมหวัง นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ
ต่อมา มีการแต่งตั้งนางสาวสมสุข บุญญะบัญชา เป็นกรรมการสมัชชาปฏิรูป เพิ่มเติมขึ้นมาอีกหนึ่งตำแหน่ง
จากนั้น จึงได้จัดตั้งสำนักงานปฏิรูป เพื่อเป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูป และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป มีนางวณี ปิ่นประทีป เป็นรองผู้อำนวยการสำนักงาน
จากเป้าหมายสู่กระบวนการ
คณะกรรมการปฏิรูปกับคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ได้กำหนดเป้าหมายร่วมของการปฏิรูปคือ การสร้างความเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปต้องทำงานร่วมกับคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป โดยคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ทำหน้าที่เก็บข้อมูลข้อคิดเห็นและสังเคราะห์ปัญหา นำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการปฏิรูป นำไปยกร่างเป็นแผนปฏิบัติการ ที่สามารถนำไปปฏิบัติและแก้ไขปัญหาความอยุติธรรม และความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น โดยภาครัฐบาล ภาคข้าราชการ และเอกชน สามารถนำไปใช้ได้
พร้อมกับให้คำนิยาม “ปฏิรูป” หมายความว่า การใดๆ ที่กระทำโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเชิงระบบและโครงสร้างในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบคุณค่าของสังคม ระบบการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมระบบภาษีและการเงินการคลัง ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา ระบบยุติธรรม ระบบการเมือง ระบบราชการ ระบบการสื่อสาร ระบบสุขภาพ ระบบสวัสดิการสังคม และระบบอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มสุขภาวะ ความเข้มแข็ง และความเป็นธรรมในสังคม
สำหรับคำนิยาม “สมัชชาปฏิรูป” หมายความว่ากระบวนการทางสังคมที่ให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชนและชุมชน ภาคธุรกิจ ภาควิชาการและภาครัฐ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างหลากหลายและกว้างขวาง บนฐานของปัญญา ความรู้ และความสมานฉันท์ โดยมีการจัดกระบวนการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การมีข้อเสนอเชิงนโยบายให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ หรือนำไปพิจารณา กำหนดเป็นนโยบายสาธารณะสำหรับการปฏิรูปประเทศไทย
สมัชชาปฏิรูป 3 ระดับ
สมัชชาปฏิรูป แยกออกเป็นสามระดับคือ สมัชชาปฏิรูป สมัชชาปฏิรูปเฉพาะพื้นที่ และสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น
หลักการสำคัญของสมัชชาปฏิรูป 1) เป็นกระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม 2) เป็นกระบวนการสานพลังทางปัญญา พลังทางสังคม และพลังอำนาจรัฐ ให้เชื่อมโยงกันอย่างสอดคล้องและสมดุล 3) เป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม บนฐานของปัญญา ความรู้ และความสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มสุขภาวะ ความเข้มแข็ง และความเป็นธรรมในสังคม 4) มีการจัดกระบวนการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยให้มีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับบริบทเชิงประเด็น ภูมินิเวศ วัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ และใช้วิธีการจัดการที่หลากหลาย ใช้การสื่อสารทุกรูปแบบ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง 5) มีการจัดกระบวนการให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างองค์กรภาคีเครือข่ายการปฏิรูปอย่างกว้างขวาง เพื่อการพัฒนาศักยภาพร่วมกัน
สำหรับสมัชชาปฏิรูปเฉพาะพื้นที่ หมายความว่าสมัชชาปฏิรูปที่ใช้อาณาบริเวณในเชิงภูมิศาสตร์ ภูมินิเวศ ภูมิวัฒนธรรม หรือชุมชนในรูปแบบต่างๆ เป็นขอบเขตในการดำเนินงาน
สมัชชาเฉพาะประเด็น
ส่วนสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น หมายถึงสมัชชาปฏิรูปที่ใช้ประเด็นในการทำงานปฏิรูปเป็นขอบเขตในการดำเนินงาน
ในการดำเนินการจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น ต้องมีคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานจากหลายภาคส่วน โดยจัดตั้งขึ้นเอง หรือจัดตั้งโดยคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ต้องใช้ข้อมูลและองค์ความรู้ทางวิชาการเป็นฐานในการดำเนินการ ต้องกำหนดประเด็นพิจารณาให้ชัดเจน ต้องเปิดกว้างให้มีผู้เข้าร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีจำนวนและสัดส่วนที่เหมาะสมกับพื้นที่หรือประเด็น ต้องมีการสื่อสารสาธารณะผ่านช่องทางที่หลากหลายและกว้างขวาง ต้องมีกระบวนการพิจารณาอย่างเป็นระบบ โปร่งใส และมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ในทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้ฉันทมติในข้อเสนอที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมนำไปปฏิบัติได้ ต้องมีการติดตามและผลักดันข้อเสนออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
กลไกสนับสนุน
พร้อมกันนี้ได้มีการจัดตั้งกลไกสนับสนุนคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปขึ้นมา 2 คณะ
หนึ่ง คณะกรรมการดำเนินการจัดสมัชชาปฏิรูป มีนายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดรูปแบบและแนวทางในการจัดสมัชชาปฏิรูประดับชาติ สมัชชาปฏิรูปเฉพาะพื้นที่ และสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น โดยให้มีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับบริบทเชิงประเด็น ภูมินิเวศ วัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ใช้วิธีการจัดการที่หลากหลาย และใช้การสื่อสารทุกรูปแบบ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างวขวาง
สอง คณะทำงานเครือข่ายวิชาการเพื่อการปฏิรูปภายใต้กรรมการสมัชชาปฏิรูป มีนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นประธาน ทำหน้าที่รวบรวมวิเคราะห์ สังเคราะห์ ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปที่มีการร่างและเสนอโดยภาคส่วนต่างๆ เพื้อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้งจัดประชุมและจัดกระบวนการจัดการความรู้ร่วมกับเครือข่ายวิชาการต่างๆ ตามความจำเป็น เพื่อทำให้ข้อเสนอแนะต่างๆ ให้เกิดความจำกัดเป็นรูปธรรม นำไปสู่การปฏิบัติได้ชัดเจน
สำหรับแนวทางการสนับสนุน 1) การสนับสนุนข้อมูล องค์ความรู้ทางวิชาการ 2) การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ 3) การสนับสนุนการสื่อสารสาธารณะ 4) การสนับสนุนงบประมาณ 5) การสนับสนุนการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย 6) การสนับสนุนทางด้านการประสานงาน เชื่อมโยงกับภาคีหรือเครือข่ายอื่น 7) การสนับสนุนด้านอื่นๆ ตามความเหมาะสม
ข้อเสนอจากคณะกรรมการปฏิรูป
ในการประชุมคณะกรรมการปฏิรูป เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 ที่ประชุมต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม 5 ด้าน ได้แก่ รายได้ สิทธิ โอกาส อำนาจ ศักดิ์ศรี
นั่นคือที่มาของข้อเสนอจากคณะกรรมการปฏิรูป ที่มีแนวทางกว้างๆ คือ การปฏิรูประบบคิดด้านการบริหารจัดการเศรษฐกิจในประเทศไทย มีเป้าหมาย 4 ประการคือ 1. จัดสรรทรัพยากรได้อย่างเต็มที่ 2. ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 3. บริหารเศรษฐกิจเจริญเติบโตต่อเนื่อง เกิดเสถียรภาพ 4. การกระจายการปันผลเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม ใน 4 ด้านนี้มีความสำคัญมาก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีภาวการณ์ที่มีจุดอ่อน นั่นคือ การจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจ เบื้องต้นต้องดำเนินการจัดสรรการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่ แรงงานมีงานทำ ที่ดินมีการใช้เต็มที่ นักธุรกิจสามารถประกอบธุรกิจได้
นำมาสู่ข้อเสนอใหญ่ๆ 2 เรื่องคือ ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร และปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ที่มีจุดเน้นอยู่ตรงที่การกระจายอำนาจ ภายใต้กรอบคิด “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มความเข้มแข็งให้กับประชาชน”
คณะกรรมการปฏิรูป ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ได้ประกาศลาออก และยุติบทบาท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2554
ถึงกระนั้นในส่วนของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ที่มีศาสตราจารย์ประเวศ วะสี เป็นประธาน ก็ยังคงทำหน้าที่ผลักดันการปฏิรูปประเทศไทย ผ่านกระบวนการต่างๆ ต่อไป
สู่สมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้
ต่อมา ศาสตราจารย์ประเวศ วะสี ในฐานะประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ได้มีคำสั่งที่ 12/2555 แต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2554 มีนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เป็นประธาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชิดชนก ราฮิมมูลา เป็นรองประธาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงศ์เทพ สุธีรวุฒิ เป็นรองประธาน
คณะกรรมการประกอบด้วย พลตำรวจตรีจำรูญ เด่นอุดม นางโซรยา จามจุรี นางปรีดา คงแป้น นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ นางสาวมาเรียม ชัยสันทนะ นายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน นายรอซีดี เลิศวิริยะพงษ์กุล นางสาวลม้าย มานะการ นายแวรอมลี แวบูละ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี นายอิสกันดาร์ ธำรงทรัพย์ นางสาวพัชรา อุบลสวัสดิ์ กรรมการและเลขานุการ นายสมเกียรติ พิทักษ์กมลพร กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ นางสาวจิตติมา อุ้มอารีย์ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
คณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่กำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมายเฉพาะ และกรอบประเด็นหลัก ในการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และออกแบบกิจกรรมให้มีความสอดคล้องกับสภาพปัญหา และภูมินิเวศวัฒนธรรมของพื้นที่ ประสานเครือข่ายภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ในการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล
พร้อมกับจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปการจัดการ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพื่อการแก้ปัญหาภาคใต้อย่างยั่งยืน เสนอต่อคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานสนับสนุนการดำเนินงานได้ตามความจำเป็น และปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปมอบหมาย
ขณะเดียวกัน ก็มีการจัดตั้งคณะทำงานยุทธศาสตร์สนับสนุนการปฏิรูป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ เป็นประธาน คณะทำงานประกอบด้วย นางจิราพร บุนนาค นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชิดชนก ราฮิมมูลา นายพลเดช ปิ่นประทีป นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข นางสาวลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ นายสมเกียรติ จันทรสีมา นางสาวพัชรา อุบลสวัสดิ์ นายคณุสสัน ศุภวัตรวรคุณ นางวณี ปิ่นประทีป คณะทำงานและเลขานุการ นายเมธัส อนุวัตรอุดม คณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ
คณะทำงานชุดนี้ มีหน้าที่จัดประชุมแลกเปลี่ยนความรู้และข้มูลข่าวสารเป็นประจำ เพื่อระดมความคิดในการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และการปฏิรูปการจัดการปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดทำรายงานและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ปัญหา และการปฏิรูป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอต่อคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ให้คำปรึกษาในการจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแนดภาคใต้ และปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปมอบหมาย
คณะกรรมการฯ ได้กำหนดจัดเวทีสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 1 “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” ระหว่างวันที่ 4–5 มกราคม 2555 ตามด้วยการจัดเวทีย่อยอีก 200 เวที ตลอดปี 2555
เวทีสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ ครั้งที่ 1 “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน”
4–5 มกราคม 2555 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
จัดโดยสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ร่วมขับเคลื่อนโดยข่ายงานชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ สนับสนุนโดยสำนักงานปฏิรูป (สปร.) 4 มกราคม 2555 09.00–10.00 น. ลงทะเบียน 10.00–10.15 น. โหมโรง 10.15–10.30 น. รำลึก 8 ปีไฟใต้ 10.30–10.40 น. กล่าวรายงานโดยนายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ 10.40–11.10 น. เปิดงานและปาฐกถาพิเศษ “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” โดยศ.นพ.ประเวศ วะสี 11.10 –11.40 น. สะท้อนความรู้สึกจากผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ คุณแยน๊ะ สะแลแม คุณสม โกไศยกานนท์ และคุณสุกรี อาดำ ดำเนินรายการโดยอัสรา รัฐการัณย์ 11.40–11.55 น. การแสดงอนาซีด 11.55–12.15 น. นำเสนอผลการช่วยเหลือและเยียวยาของภาคประชาสังคม โดยคุณลม้าย มานะการ และคุณอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ 12.15–13.30 น. รับประทานอาหารกลางวันและละหมาด 13.30–13.45 น. การแสดงอนาซีด 13.45–14.15 น. ประกาศข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการใช้กฎหมายพิเศษ และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 จากสภาประชาสังคมชายแดนใต้ 14.15–16.00 น. มุมมองข้อคิดเห็นต่อข้อเสนอเชิงนโยบาย ผู้ร่วมอภิปราย: พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม อนุกูล อาแวปูเตะ ศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี ตัวแทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แลกเปลี่ยนจากผู้เข้าร่วมประชุม ดำเนินการอภิปรายและสรุปโดยนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป
5 มกราคม 2555 09.00–09.30 น. ปาฐกถาพิเศษ “สิทธิ เสรีภาพของประชาชนในทัศนะอิสลาม” โดยดร.อิสมาแอลลุตฟี จะปะกียา 09.30–09.45 น. การแสดงอนาซีค กอมปัง 09.45–09.55 น. ฉายวีดีทัศน์ “ทำไมต้องกระจายอำนาจ” 09.55–10.25 น. นำเสนอรูปแบบทางเลือกการกระจายอำนาจจังหวัดชายแดนใต้ โดยผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี 10.25–11.55 น. การอภิปราย“ทางเลือกการกระจายอำนาจในรูปแบบพิเศษจังหวัดชายแดนใต้: มุมมองที่หลากหลาย” ผู้ร่วมอภิปราย: นายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสวิง ตันอุด ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการทางสังคม ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ นายกสมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ดำเนินการอภิปรายโดยอาจารย์ฮาฟิส สาและ 11.55–12.15 น. แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วม 12.15–12.30 น. ประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ 12.30น. กล่าวปิดงานโดยนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานกรรมการจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
|