Skip to main content

ไมตรี จงไกรจักร

ประธานสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

 

             ด

 

โครงการขุดลอกทรายลุ่มน้ำตะกั่วป่า โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์  โครงการ.........  โครงการ..... และโครงการพัฒนาอื่นๆ อีกมากมาย  ที่เราได้เรียนรู้ผ่านสื่อสาธารณะ

10 กว่าปีที่แล้ว...มีเครือข่ายชาวบ้านปีนรั้วทำเนียบ บุกรัฐสภา ปิดถนน ชุมนุมยืดเยื้อ ซึ่งผมก็เป็นคนต่างจังหวัดที่มองภาพเหล่านั้นว่า เขาคือผู้ก่อความวุ่นวาย เขาคือผู้รับจ้างประท้วง ในวงสนทนาเล็กๆ ถกเถียงเรื่องนี้กันอยู่เรื่อยมา

“ผมว่าพวกนั้นที่มาประท้วงเขาคงรับจ้างมาแน่นอน ไม่นั้นเขาจะมากันทำไม เขาจะมาอยู่เป็นเดือนๆ แล้วเขาจะเอาอะไรกิน” นี่อาจเป็นบทสรุปในวงกาแฟ ในพื้นที่ต่างจังหวัดอย่างเราเมื่อ 10 กว่าปีก่อน

บัดนี้สื่อสาธารณะได้เปลี่ยนวิธีคิดคนเหล่านี้ไป เพราะมีพื้นที่ในการสื่อสารสาธารณะ และนำเสนอข้อมูลรอบด้าน

การปกป้องสิทธิชุมชน การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของรัฐ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเดือดร้อนของคนจน เป็นที่คลางแคลงใจของคนในสังคมตลอดมาว่า “มันจะเป็นเรื่องจริงเหรอที่มีคนเอาเปรียบคนด้วยกัน” นี่คือคำถามที่มีอยู่จริงในสังคม ทำให้ขบวนประชาชนต้องคิดค้นกระบวนการเรียนรู้กับสังคม ไม่ใช่เป็นเพียงเพื่อเจรจากับรัฐบาล แต่เราและเขาต้องต่อสู้ปกป้องสิทธิชุมชนของตัวเอง เขาต้องทำให้สังคมเข้าใจ ได้เรียนรู้ และเห็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างรอบด้าน ครอบคลุม และตรงไปตรงมา

สื่อ....คือคำตอบของการต่อสู้ภาคประชาชน “จะสื่อสารอย่างไรให้คนในพื้นที่เข้าใจ จะสื่อสารอย่างไรให้คนในสังคมเข้าใจ จะสื่อสารอย่างไรให้สังคมเห็นด้วยกับเรา และยืนอยู่ข้างความถูกต้อง” นั่นคือคำถาม

วิทยุชุมชนที่เกิดขึ้น จึงเป็นเครื่องมือแรกๆ ที่ขบวนประชาชน นักเคลื่อนไหว นักเปลี่ยนแปลงสังคม และชุมชนเครือข่ายเลือกใช้ เมื่อเวลาผ่านไปพัฒนาการการสื่อสารขยายวงมากขึ้น ถึงขั้นจะต้องผลักดันให้มีทีวีประชาชน จึงเกิดกระบวนการเคลื่อนไหวให้เกิดสื่อสาธารณะในสังคมไทย

“องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย” เป็นสื่อสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย ที่เกิดขึ้นมาภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 โดยมีพระราชบัญญัติรองรับ โดยมีโครงสร้างสำคัญคือ กรรมการนโยบาย กรรมการบริหาร และสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ที่ต่างมีบทบาทหน้าที่ต่างกัน ในการพัฒนาองค์กรสื่อสาธารณะให้เทียบเท่าสากลในอนาคตอันใกล้นี้

เครือข่ายเพื่อนสื่อสาธารณะเป็นอีกกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการร่วมกันติดตามการทำงาน กำหนดทิศทางผ่านหน้าจอสื่อสาธารณะ รวมทั้งยังสามารถกำหนดประเด็นในการนำเสนอผ่านสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในสถานการณ์สังคมไทย ทั้งในช่วงปรกติ และภาวะวิกฤติ นี่คือจุดประกายการเปลี่ยนแปลงสังคม นี่คือจุดประกายการไว้วางใจสื่อ

หากวันนี้ไปไม่มีสื่อสาธารณะ.....สภาผู้ชมผู้ฟังรายการ..ที่มีสมาชิกที่มาจาก 9 ภูมิภาค และ 24 ประเด็นของสังคมไทยที่ครอบคลุมทุกกลุ่ม เช่น กลุ่มเด็ก กลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มหลากหลายทางเพศ กลุ่มที่ดิน กลุ่มทรัพยากร กลุ่มธุรกิจ ฯลฯ สมาชิกทุกคนมีฐานที่มาจากเครือข่ายในการขับเคลื่อนงาน

3 ปีที่ผ่านมา สภาผู้ชมผู้ฟังรายการ และสำนักต่างๆ ของสื่อสาธารณะ ได้เน้นสร้างความเข้าใจว่าสื่อสาธารณะเป็นใคร มีบทบาทหน้าที่อะไร และใครเป็นเจ้าของ ทำให้เครือข่ายประชาชน คนเล็ก คนน้อยเข้ามาให้ข้อเสนอแนะ ร่วมกำหนดนโยบาย ผ่านช่องทางต่างๆ ของสื่อสาธารณะแห่งนี้ ด้วยเป้าหมายเดียวกันคือการสร้างสังคมคุณภาพและคุณธรรม

“ทีวีช่องนี้ดีครับ ผมเพิ่งมีโอกาสเสนอแนะเรื่องการจัดรายการ ไม่เคยมีสื่อไหนเคยมาถามเราเลยว่า เขาดีหรือไม่ อะไรดี อะไรไม่ดี นี่แหละที่เขาว่าสื่อสาธารณะ ใครจะทำลายของสาธารณะนี้ไปไม่ได้แน่นอน เพราะเป็นของประชาชน” แกนประสานเพื่อนสื่อสาธารณะจังหวัดพังงาพูดอย่างมั่นใจ

เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นยืนยันว่า “ชีวิตของเราเปรียบเสมือนเต่า ที่ไข่แล้วฝังทรายไว้ ไม่มีโอกาสได้เป็นแม่ ทั้งที่เป็นลูกตัวเอง เพราะเราไม่มีบัตร ไม่มีสิทธิแม้จะเป็นมนุษย์ที่จะได้รับการดูแล แต่สื่อสาธารณะช่วยเราเปิดเผยเรื่องราวให้สังคมได้รู้จัก และเข้าใจเรา จนสังคมร่วมเป็นพลังในการผลักดันให้มีการแก้ปัญหา ดิฉันว่าใครคิดทำลายสื่อสาธารณะ นั่นคือทำลายความเป็นมนุษย์ ทำลายความเป็นชุมชน และทำลายสังคม ทั้งที่ตั้งใจ  หรืออาจไม่เข้าใจ เพราะอะไรบางอย่างบังตาอยู่ เราไม่ยอมให้ใครทำลายสื่อของเราได้แน่นอน”

สื่อสาธารณะยังไม่แต่เพียงเปิดโอกาสให้ประชาชน เพื่อนสื่อสาธารณะเสนอแนะ แสดงความคิดเห็นในการพัฒนาหน้าจอเท่านั้น ประชาชนคนเล็ก คนน้อย ยังสามารถเป็นผู้ผลิตสื่อได้เอง สามารถนำเสนอเรื่องราวในพื้นที่ ทั้งประเด็นที่เป็นปัญหาของตัวเอง นำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตของคนเล็ก คนน้อยในสังคม คนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ และการถูกรุกรานสิทธิชุมชน ทั้งจากภาคเอกชน และจากนโยบายการพัฒนาของรัฐที่ไม่เห็นหัวคนจน เรื่องราวเหล่านั้นไม่เคยถูกลืม เมื่อมีสื่อสาธารณะ

นักข่าวพลเมือง กระจายตัวอยู่ตามจุดเล็กๆ ของสังคมไทย ทั้งที่ในอดีตไม่เคยมีโอกาส ในอดีตไม่เคยมีพื้นที่ทางสังคมให้กับสื่อพลเมือง วันนี้เขาได้รับการยอมรับว่า เรื่องราวของคนเหล่านั้นมีอยู่จริง จากเด็ก จากเยาวชน จากคนในชุมชนที่สนใจงานสื่อ เดิมเคยผลิตได้ 3 นาที ในการบอกเล่าเรื่องราวของตนเองสู่สังคม ปัจจุบันกลุ่มคนเหล่านั้น มีโอกาสได้รับการพัฒนาเป็นผู้ผลิตอิสระ เพื่อเผยแพร่เรื่องราวชุมชนของตนเอง ชุมชนในเครือข่าย ผ่านหน้าจอสาธารณะ เช่น รายการบ้านเธอก็บ้านฉัน

สื่อสาธารณะจึงไม่ใช่คู่ต่อสู้กับสื่ออื่นๆ และสื่ออื่นๆ ก็อย่าได้คิดว่าสื่อสาธารณะคือคู่ต่อสู้ทางธุรกิจ ทุกคนในสังคมนี้จึงต้องร่วมกันสร้างสรรค์สื่อสาธารณะร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชน เพราะท่านมีความรู้ มีความสามารถ และอีกสถานะหนึ่งท่านก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่เสียภาษี ด้วยเหตุผลดังกล่าว ท่านต้องเป็นกำลังสำคัญในการให้คำแนะนำ ติชม และร่วมเสนอแนะให้สื่อสาธารณะเป็นของสาธารณชนจริงๆ เพราะเราในฐานะสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ มิได้หวังประโยชน์เฉพาะตน เราหวังแค่จะสร้างสังคมเราไปสู่สังคมที่มีคุณภาพ และสังคมแห่งคุณธรรม

จากการติดตามการทำงานของสื่อสาธารณะมาตั้งแต่ต้น เราอาจเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอยู่บ้าง อาจมีสิ่งที่ไม่เหมาะสมบ้าง แต่นี่คือสื่อสาธารณะ เราจึงติชมได้ และได้ให้ข้อเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์ตลอดมา เราจึงต้องสร้างความเชื่อมั่นให้สังคมเรียนรู้และสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ผ่านสื่อสาธารณะต่อไป ใครอย่าได้คิดทำลาย เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น คนเล็ก คนน้อยในสังคมไทย จำเป็นจะต้องลุกขึ้นมาปกป้อง ซึ่งอาจสร้างความขัดแย้งในสังคมขึ้นมาอีก

เราจะออกมาปกป้องสื่อสาธารณะ เพราะสื่อสาธารณะเป็นของเรา ของคนในสังคม มิใช่ของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง