โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
น้ำท่วมใต้ขยายวง 12 อำเภอสงขลาเจอน้ำถล่มหนัก สะเดาวิกฤติถูกตัดขาด หาดใหญ่ไปไม่รอดน้ำทะลุเข้าตัวเมืองชั้นใน หลายชุมชนอพยพคนแล้ว พัทลุงส่งทีมค้นหา 8 นักท่องเที่ยวหลงป่า ยะลา–นราธิวาสเจอดินถล่มซ้ำ ปัตตานีท่วมแล้ว 5 อำเภอ
ท่วมหาดใหญ่-น้ำทะลักเข้าเขตตัวเมืองหาดใหญ่ ตั้งแต่เย็นวันที่ 1 มกราคม 2554 จังหวัดสงขลามีคำสั่งให้อพยพคนในชุมชนต่างๆ ออกจากพื้นที่แล้ว
รายงานข่าวจากจังหวัดสงขลาแจ้งว่า สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ ได้กระจายไปยังอำเภอต่างๆ แล้ว 12 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอสะเดา อำเภอหาดใหญ่ อำเภอนาทวี อำเภอนาหม่อม อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอบางกล่ำ อำเภอเทพา อำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ และอำเภอเมืองสงขลา มีผู้จมน้ำผู้เสียชีวิตแล้ว 1 รายคือ นายฟักเม่ง แซ่เจีย อายุ 54 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 1 ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ เนื่องจากบ้านถูกน้ำท่วมกะทันหัน หนีออกจากบ้านไม่ทัน
สะเดาวิกฤติถูกตัดขาด
สำหรับพื้นที่วิกฤติคืออำเภอสะเดา เนื่องจากถนนกาญจนวนิชบริเวณบ้านทุ่งลุง ในเขตเทศบาลตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ น้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านได้ ขณะที่เส้นทางรถไฟสายหาดใหญ่–ปาดังเบซาร์ ก็ถูกตัดขาดจากน้ำท่วมรางรถไฟเขตเทศบาลตำบลพะตง ไม่สามารถเดินขบวนรถได้ ทำให้อำเภอสะเดาถูกตัดขาด ขณะเดียวกันในเขตเทศบาลตำบลคลองแงะ อำเภอสะเดา มีบ้านเรือนถูกน้ำพัดพังเสียหายแล้ว 8 หลัง
จากสภาพดังกล่าว ส่งผลให้รถขบวนขนส่งสินค้าต้องจอดที่สถานีชุมทางรถไฟหาดใหญ่ ส่วนขบวนรถไฟระหว่างประเทศบัตเตอร์เวร์ธ–กรุงเทพมหานคร จากมาเลเซียเข้าสู่สถานีหาดใหญ่ในช่วงเย็นของวันที่ 1 มกราคม 2555 ต้องจอดที่สถานีปาดังเบซาร์ สำหรับรถไฟใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงให้บริการตามปกติ
ส่วนนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ที่เข้ามาท่องเที่ยวปีใหม่ในอำเภอหาดใหญ่ เริ่มเช็คเอ้าต์ออกจากโรงแรมเดินทางกลับประเทศ เนื่องจากเกรงน้ำจะท่วมหาดใหญ่ แต่ยังมีจำนวนไม่น้อยที่ติดค้างอยู่ตามโรงแรมต่างๆ เนื่องจากเส้นทางถนนกาญจนวานิช ระหว่างอำเภอหาดใหญ่กับอำเภอสะเดาที่เส้นทางไปด่านพรมแดนสะเดาถูกตัดขาด
ขณะที่ประชาชนในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ต่างพากันไปซื้ออาหารตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ไปตุนเตรียมรับสถานการณ์หลังจากทางเทศบาลนครหาดใหญ่เปลี่ยนป้ายสัญลักษณ์เตือนภัยน้ำท่วม จากธงเขียวเป็นธงเหลือง เพราะ ปริมาณน้ำที่จุดวัดน้ำบางศาลาอีกเพียง 40 เซนติเมตรน้ำจะล้นตลิ่ง ในขณะที่น้ำในคลองอู่ตะเภาและคลองระบายน้ำที่ 1 ยังต่ำกว่าระดับตลิ่งกว่า 1.50 เมตร
น้ำทะลักเข้าตัวเมืองหาดใหญ่ชั้นใน
ล่าสุดน้ำจากคลองหวะเริ่มไหลทะลักเข้าสู่พื้นที่ตัวเมืองหาดใหญ่ บริเวณถนนพลพิชัยหน้าโรงเรียนคลองหวะน้ำท่วมสูงประมาณ 1 เมตร ชาวบ้านเร่งอพยพออกมาจากพื้นที่ ขณะที่ชุมชนจันทร์วิโรจน์ ซึ่งเป็นจุดแรกที่น้ำจะไหลเข้าสู่ตัวเมืองหาดใหญ่ชั้นใน ต่างเร่งขนย้ายสิ่งของ รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ออกจากบ้าน โดยทางจังหวัดสงขลาได้ออกประกาศให้อพยพประชาชนในชุมชนต่างๆ พร้อมกับจัดหน่วยกู้ภัยลำเลียงเรือท้องแบนมารับผู้อพยพแล้ว
ขณะเดียวกันเทศบาลนครหาดใหญ่ได้เร่งนำกระสอบทรายมาวางเป็นแนวกั้นน้ำ เพื่อชะลอน้ำให้ไหลเข้าสู่ตัวเมืองหาดใหญ่ชั้นใน ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจการค้าได้ช้าลง
นายไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ กล่าวว่า ถึงแม้บริเวณ 4 แยกคลองหวะระดับน้ำจะขึ้นสูง แต่ยังถือว่าระดับน้ำยังต่ำอยู่ เทศบาลจะพยายามระบายน้ำให้เร็วที่สุด ขณะนี้คลองระบายน้ำที่ 1 ยังสามารถระบายน้ำได้ดี ขณะที่คลองอู่ตะเภายังรับน้ำได้อีก 3 เมตร
ส่งทีมค้นหา8นักท่องเที่ยวหลงป่า
รายงานข่าวจากจังหวัดพัทลุงแจ้งว่า ช่วงเย็นวันที่ 1 มกราคม 2555 มีชาวบ้านและพรานป่า ซึ่งชำนาญพื้นที่ป่าเขาล้อน ตำบลกงหรา ได้ออกเดินทางเข้าป่า เพื่อช่วยเหลือ 8 นักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปชมทะเลหมอกรับปีใหม่ ที่ขาดการติดต่อมาตั้งแต่เมื่อฝนเริ่มตกหนักตอนเย็นวันที่ 31 ธันวาคม 2554 โดยประสานกับเจ้าหน้าที่ที่รออยู่ข้างล่างเป็นระยะ
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมนั้น ล่าสุดน้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัดได้ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร พื้นที่การเกษตรสวนยางพารา ในอำเภอตะโหมด 4 ตำบล อำเภอบางแก้ว 2 ตำบล อำเภอเขาชัยสน 3 ตำบล อำเภอป่าบอน 2 ตำบล อำเภอกงหรา 2 ตำบล อำเภอศรีนครินทร์ 3 ตำบล อำเภอศรีบรรพต 1 ตำบล อำเภอควนขนุน 6 ตำบล อำภอเมืองพัทลุง 5 ตำบล โดยมีน้ำท่วมสูงประมาณ 80 เซนติเมตร–1 เมตร โดยเฉพาะถนนสายอำเภอเขาชัยสน–อำเภอกงหรา หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 12 ตำบลคลองเฉลิม และสายตะโหมด–กงหรา หมู่ที่ 12 ตำบลตะโหมด ระดับน้ำท่วมสูงรถเล็กไม่สามารถผ่านได้
ยะลาเจอภัยดินถล่ม
ที่จังหวัดยะลา น้ำจากแม่น้ำปัตตานีและบึงแบเมาะ ได้เอ่อเข้าท่วมที่ราบลุ่มในเขตเทศบาลนครยะลา โดยกระแสน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร เข้าท่วมบริเวณหมู่บ้านเมืองทอง ถนนธนวิถี 5 เขตรอยต่อหมู่ที่ 9 ตำบลสะเตงนอก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ชุมชนย่านตลาดเก่า และชุมชนมัรกัสยะลา (ศูนย์ดะวะห์) หมู่ที่ 3 ตำบลสะเตงนอก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ต้องเร่งย้ายสิ่งของและอพยพออกจากบ้าน ขณะที่เทศบาลนครยะลาได้ตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่หลายเครื่อง เพื่อเร่งสูบน้ำอย่างเร่งด่วน
โดยมีนายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วยนายพงศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา นายเวโรจน์ สายทองแท้ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา ได้เดินทางไปอำนวยการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รายงานสรุปสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดยะลาว่า น้ำท่วมคลอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองยะลา ที่ตำบลสะเตงนอก ตำบลยุโป ตำบลท่าสาป และตำบลลำใหม่ อำเภอยะหา ที่ตำบลบาโร๊ะ ต้องอพยพราษฎร 20 ครัวเรือน ตำบลปะแต มีชาวบ้านได้รับผลกระทบ 153 ครัวเรือน และเกิดเหตุดินถล่มทับบ้าน 1 หลัง ตัวบ้านได้รับเสียหายบางส่วน อำเภอรามัน ที่ตำบลโกตาบารู รถเล็กผ่านไม่สะดวก ตำบลกายูบอเกาะ หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 6 ตำบลอาซ่อง หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 5 ตำบลท่าธง หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 7 ตำบลเกะรอ หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 7 และตำบลจะกว๊ะ หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 5 อำเภอบันนังสตา ที่ตำบลตลิ่งชัน ตำบลบาเจาะ และตำบลบันนังสตา อำเภอกรงปินัง ที่ตำบลกรงปินัง และตำบลสะเอ๊ะ
นายเดชรัฐ เปิดเผยว่า ทางจังหวัดยะลาได้เร่งระดมเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อุปกรณ์ เครื่องมือในการช่วยเหลือเบื้องต้น เข้าไปช่วยเหลือประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมแล้ว พร้อมทั้งประกาศ แจ้งเตือนพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่เสี่ยงภัย ให้เก็บข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ขึ้นที่สูง และระมัดระวังอุปกรณ์เครื่องไฟฟ้า ปลั๊กไฟที่อยู่ในที่ต่ำ และระมัดระวังสัตว์ร้ายต่างๆ ที่อาจเข้ามารบกวนและทำร้ายในช่วงน้ำท่วม
นายเดชรัฐ เปิดเผยต่อไปว่า นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลาตรวจสอบข้อมูลและสรุปพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป ส่วนบ้านที่ถูกดินถล่มทับ จะให้อพยพไปอยู่ในที่พักชั่วคราว โดยให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และองค์การบริหารส่วนตำบลปะแต อำเภอยะหา เข้าไปตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือแล้ว
ทหารออกโรงช่วยชาวบ้าน
ขณะเดียวกันพล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 พร้อมด้วยพ.ท.ธนุตม์ พิศาลสิทธิวัฒน์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 11 พร้อมทหารจากหน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 11 ออกเยี่ยมเยียนชาวบ้านหมู่ที่ 3 บ้านเป๊าะยานิ ตำบลสะเตงนอก ซึ่งมีชาวบ้านอยู่อาศัยกว่า 400 ครัวเรือน ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก 5 ครัวเรือน น้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ต้องย้ายมาอาศัยที่ศูนย์อพยพชั่วคราวของหมู่บ้าน
พร้อมกันนี้หน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 11 ยังได้นำทีมแพทย์ทหาร พร้อมเครื่องยาเวชภัณฑ์และอาหารสำเร็จรูป พร้อมเรือท้องแบน และรถ GMC ของกองทัพภาค 4 ออกมาให้บริการชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมด้วย
พล.ท.อุดมชัย กล่าวว่า ในส่วนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้มีการประสานฝ่ายพลเรือนและหน่วยกองกำลังเจ้าหน้าที่ทหารใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระจายกำลังออกให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างเต็มที่ เป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนในหมู่บ้าน ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สามารถรู้ล่วงหน้าว่าน้ำจะไหลเข้าท่วมพื้นที่ ทำให้เตรียมพร้อมรับมือได้ทัน คาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะดีขึ้นโดยเร็ว
ปัตตานีท่วมแล้ว 5 อำเภอ
วันเดียวกันนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปัตตานี ได้ประกาศแจ้งพื้นที่น้ำป่าไหลหลากและเกิดน้ำท่วมแล้ว 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอยะรัง อำเภอแม่ลาน อำเภอกะพ้อ อำเภอปะนาเระ และอำเภอสายบุรี มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 2,000 ครัวเรือน พร้อมกับได้แจ้งเตือนทั้ง 12 อำเภอ ให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมแล้ว
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดปัตตานี ขณะนี้ทางหลวงสาย 418 เป็นเส้นทางสัญจรหลัก ตรงบริเวณเขตรอยต่อระหว่างอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี–ตำบลยุโป อำเภอเมืองยะลา น้ำป่าไหลหลากท่วมเส้นทางต้องปิดถนนฝั่งขาออกไม่ให้รถทุกชนิดผ่าน โดยหน่วยทหารได้จัดกำลังมาคอยอำนวยความสะดวก และอนุญาตให้รถวิ่งผ่านฝั่งขาเข้าได้เพียงช่องทางเดียว
ขณะที่หมู่ที่ 5 ตำบลเมาะมาวี อำเภอยะรัง น้ำป่าและน้ำจากแม่น้ำปัตตานี ทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรกว่า 300 ครัวเรือน ถนนเข้าออกหมู่บ้านจมอยู่น้ำประมาณ 30–60 เซนติเมตร ประชาชนต้องนำสิ่งของขึ้นไปไว้บนที่สูง
นราธิวาสเร่งช่วยผู้ประสบภัย
วันเดียวกัน ที่บริเวณวัดประชุมชลธารา อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยนายจำนัล เหมือนดำ นายอำเภอสุไหงปาดี ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายจากน้ำท่วมใน 6 ตำบลของอำเภอสุไหงปาดี หลังฝนตกหนักวัดปริมาณน้ำได้กว่า 260 มิลลิเมตร ทำให้ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 60 เซนติเมตร ส่งผลให้บริเวณถนนสายหลักและสายรองในอำเภอสุไหงปาดี ได้รับความเสียหาย รถเล็กไม่สามารถผ่านได้
พระเทพศีลวิสุทธิ์ เจ้าคณะจังหวัดนราธิวาส ในฐานะเจ้าอาวาสวัดประชุมชลธารา กล่าวว่า ปริมาณน้ำที่ท่วมครั้งนี้สูงที่สุดในรอบ 30 ปี หลังจากฝนหยุดตกแล้ว สถานการณ์น้ำที่ท่วมในพื้นที่เริ่มลดลงจนเหลือ 30 เซนติเมตร คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในคืนวันที่ 1 มกราคม 2555 ถ้าหากไม่มีฝนตกซ้ำอีก เนื่องจากมวลน้ำได้ไหลลงสู่ป่าพรุโต๊ะแดง เขตรอยต่ออำเภอสุไหงปาดีกับอำเภอสุไหงโก–ลก ซึ่งเป็นแก้มลิงธรรมชาติ
นายจำนัลยอมรับว่า ปริมาณน้ำได้ไหลบ่าลงมาจากเทือกเขาตะเวอย่างรวดเร็วเหนือความคาดหมาย ทำให้ราษฎรไม่สามารถเก็บสิ่งของขึ้นบนที่สูงได้ทัน ทางอำเภอกำลังตรวจสอบความเสียหาย ทั้งในส่วนของบ้านเรือนราษฎร ถนน และสาธารณูปโภค เพื่อให้ความช่วยเหลือและซ่อมบำรุงต่อไป
ขณะเดียวกันนายอภินันท์ ก็ได้ประกาศให้พื้นที่ 8 อำเภอ เป็นเขตประสบภัยพิบัติ และแจ้งไปยังนายอำเภอทั้ง 8 อำเภอ ให้การช่วยเหลือราษฎร รวมทั้งสำรวจความเสียหายเพื่อตั้งงบประมาณช่วยเหลือเยียวยาอย่างเร่งด่วนแล้ว
จากการสำรวจล่าสุด มีน้ำท่วมขังพื้นที่ทางการเกษตรและบ้านเรือนของราษฎรในจังหวัดนราธิวาสแล้ว 8 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอจะแนะ อำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงปาดี อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ อำเภอสุคิริน และอำเภอเมืองนราธิวาส โดยบริเวณน้ำท่วมได้ขยายวงกว้าง ปริมาณน้ำท่วมขังสูงอยู่ที่ระดับ 100–130 เซนติเมตร
ขณะนี้ถนนจารุเสถียร สายสุไหงโก–ลก–เจาะไอร้อง ยานพาหนะทุกชนิดไม่สามารถสัญจรไปมาได้ โดยมีน้ำท่วมขังสูง 2 จุดคื ภายในเขตเทศบาลตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี และบริเวณทางโค้งมะรือโบออก หมู่ที่ 1 ตำบลมะรือโบออก อำเภอเจาะไอร้อง เจ้าหน้าที่ต้องใช้รถบรรทุกและเครื่องขยายเสียง ประกาศเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมสามารถอพยพได้ทันที หากมีน้ำป่าบนเทือกเขาไหลทะลัก
รือเสาะท่วมหนักแถมดินถล่มซ้ำ
สำหรับพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดของจังหวัดนราธิวาสคืออำเภอรือเสาะ เนื่องจากมีน้ำป่าบนเทือกเขาหลังหมู่บ้านกาเปาะ หมู่ที่ 4 ตำบลสุวารีไหลทะลักเข้าท่วม และพัดบ้านเรือนราษฎร 5 หลัง หายไปกับกระแสน้ำ ประกอบด้วย บ้านของนายฮารง สาลี นายฮาซิน แดแง นายสุรเดช กาลอปอ นางรอพีซะ สะแดแก และนายฮาเซ็ง แดแง แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
นอกจากนี้ น้ำป่ายังได้พัดดินบนเทือกเขาหลังหมู่บ้านถล่มลงมา สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนของราษฎรอีก 20 หลัง โดยพ.ต.อ.สะท้านฟ้า วามะสิงห์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรรือเสาะ ได้นำกำลังตำรวจไปให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว