Skip to main content

 

น้ำทะลักท่วมหาดใหญ่ชั้นนอกแล้ว ส่วนหาดใหญ่ชั้นในยังเอาอยู่ ประกาศ 12 อำเภอสงขลาเขตภัยพิบัติ น้ำยังถล่มพัทลุงหนัก 8 นักท่องเที่ยวติดป่าเขาบรรทัดปลอดภัย ยะลา–ปัตตานีท่วมตลอดแนวฝั่ง 2 แม่น้ำ นราธิวาสโล่งฝนหยุดตก

 

หาดใหญ่

ท่วมหาดใหญ่ - ชุมชนหาดใหญ่ใน อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาบางแห่ง มีน้ำท่วมสูงระดับสะเอว โดยน้ำเริ่มเข้าท่วมเมื่อเวลาประมาณ 04.00 น. ของวันที่ 2 มกราคม 2555(ภาพถ่ายโดยชาคริต โภชะเรือง)

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ล่าสุดจังหวัดสงขลาได้ประกาศให้พื้นที่ 12 อำเภอจาก 16 อำเภอเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ว ประกอบด้วย อำเภอสะเดา อำเภอหาดใหญ่ อำเภอนาทวี อำเภอนาหม่อม อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอคลองหอยโขง อำเภอบางกล่ำ อำเภอเทพา อำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ และอำเภอเมืองสงขลา พื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย 69 ตำบล 364 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 20,390 คน เสียชีวิต 1 คน ขณะสถานการณ์น้ำท่วมทั้ง 12 อำเภอ เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้วเหลือเฉพาะพื้นที่ริมคลองอู่ตะเภาและคลองระบายน้ำ ร.1 ที่น้ำยังล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร

 

น้ำทะลักท่วมหาดใหญ่ชั้นนอก

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ล่าสุดตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 2 มกราคม 2555 น้ำจากคลองระบายน้ำ ร.1 ล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนในชุมชนหาดใหญ่ใน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ชั้นนอกของตัวเมืองหาดใหญ่ โดยระดับน้ำเริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณ 20–50 เซนติเมตร ชาวบ้านต้องอพยพข้าวของขึ้นไปไว้ที่สูง

นอกจากนี้ น้ำยังท่วมถนนเพชรเกษมทั้งฝั่งขาเข้าและขาออกจากตัวเมืองหาดใหญ่ ตรงบริเวณหาดใหญ่ใน จนรถเล็กไม่สามารถผ่านได้ ผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองหาดใหญ่ต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางสายเอเชีย เข้าทางสี่แยกคลองหวะและถนนลพบุรีราเมศวร์ นอกจากนี้ปริมาณน้ำในคลองระบายน้ำ ร.1 ที่ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้เข้าท่วมโรงเรียนเทศบาล 5 รวมทั้งวัดมหัตตมังคลาราม หรือวัดหาดใหญ่ในด้วย

นายไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ เปิดเผยว่า มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 4 ชุมชนคือ ชุมชนวัดมหัตตมังคลาราม หรือวัดหาดใหญ่ใน ชุมชนตลาดพ่อพรหม ชุมชนซอย 41 เพชรเกษม และชุมชนริมคลอง ร.1 มีระดับน้ำเฉลี่ยประมาณ 30–50 เซนติเมตร และน้ำได้ไหลเข้าโรงสูบน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค ทำให้เครื่องสูบน้ำเสียหาย 1 เครื่อง ต้องส่งเครื่องสูบน้ำเทศบาลไปช่วย

ส่วนพื้นที่ชั้นในของตัวเมืองหาดใหญ่ สถานการณ์ยังคงเป็นปกติ แต่ก็ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากระดับน้ำคลองอู่ตะเภาอยู่ในช่วงวิกฤตใกล้ล้นตลิ่งเช่นกัน คาดว่ามวลน้ำที่ไหลเข้าท่วมพื้นที่หาดใหญ่ใน จะมีระดับสูงสุดประมาณ 1 เมตร และจะไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาใน 4–8 ชั่วโมง

หาดใหญ่2

ล้นตลิ่ง - ระดับน้ำในคลอง ร.1 ซึ่งเป็นคลองระบายน้ำ ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ปริ่มล้นตลิ่งบ้างแล้ว แต่น้ำยังไหลเชี่ยว(ภายถ่ายโดยชาคริต โภชะเรือง)

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 1 มกราคม 2555 มวลน้ำทั้งสองก้อนที่คาดว่า จะไหลเข้าท่วม 8 ชุมชนในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ระหว่างเวลา 19.00 น.–22.00 น. ประกอบด้วย ชุมชนจันทร์วิโรจน์ ชุมชนจันทร์ประทีบ ชุมชนรัตนวิบูลย์ ชุมชนเทศาพัฒนา ชุมชนวัดหาดใหญ่ใน ชุมชนตลาดพ่อพรหม ชุมชนซอย 41 เพชรเกษม และชุมชนคลอง ร.1 สถานการณ์น้ำเป็นปกติ ไม่มีน้ำท่วมแต่อย่างใด โดยเฉพาะบริเวณสะพานจันทร์วิโรจน์ ที่น้ำไหลทะลักเข้ามาช่วงเย็นของวันที่ 1 มกราคม 2555 ในช่วงเวลาดังกล่าวก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 1 มกราคม 2555 นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้ประกาศธงแดงเตรียมพร้อมอพยพในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ 8 ชุมชนประกอบด้วย ชุมชนจันทร์วิโรจน์ ชุมชนจันทร์ประทีบ ชุมชนรัตนวิบูลย์ ชุมชนเทศาพัฒนา ชุมชนวัดหาดใหญ่ใน ชุมชนตลาดพ่อพรหม ชุมชนซอย 41 เพชรเกษม และชุมชนคลอง ร.1  เนื่องจากคาดว่าจะมีมวลน้ำเข้ามายังเมืองหาดใหญ่ ตั้งแต่เวลา 19.00 น. และอีกระลอกในเวลาประมาณ 22.00 น. วันที่ 1 มกราคม 2555

ถึงแม้ขณะนี้น้ำจะยังไม่เข้าเมืองหาดใหญ่ชั้นใน ซึ่งเป็นย่านธุรกิจตามที่คาดเอาไว้ แต่บรรดาผู้ประกอบการร้านค้า ในย่านตลาดกิมหยง ตลาดสันติสุข และแผงลอยนับร้อยแผง ต่างเก็บสินค้าขึ้นสู่ที่สูงกันอย่างคึกคัก

 

น้ำยังถล่มพัทลุงหนัก

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดพัทลุงยังคงน่าเป็นห่วง ล่าสุดน้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัดได้ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร พื้นที่การเกษตรสวนยางพารา และนาข้าว รวมถึงถนนสายระหว่างอำเภอ และสายรองในหมู่บ้านอย่างหนัก

ทั้งนี้ อำเภอตะโหมด อำเภอบางแก้ว อำเภอเขาชัยสน อำเภอป่าบอน อำเภอกงหรา อำเภอศรีนครินทร์ อำเภอศรีบรรพต อำเภอควนขนุน อำเภอป่าพะยอม อำเภอปากพะยูน อำเภอเมืองพัทลุง มีน้ำท่วมสูงประมาณ 80 เซนติเมตร–1 เมตร ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนกว่า 30,000 ครอบครัว

บริเวณแยกโพธิ์ทอง อำเภอศรีบรรพต น้ำท่วมสูงกว่า 80 เซนติเมตร เป็นระยะทางยาวกว่า 500 เมตร ทำให้รถไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ขณะเดียวกันถนนสายเข้าอำเภอควนขนุน บริเวณหมู่ที่ 7 หมู่ที่ 8 ตำบลควนขนุน มีน้ำท่วมสูงเป็นทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร รถเล็กต้องใช้ความระมัดระวังในการเดินทาง

 

8นักท่องเที่ยวติดป่าปลอดภัยแล้ว

ล่าสุด จังหวัดพัทลุงยังคงประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยริมเทือกเขาบรรทัด ให้ระวังน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มอย่างต่อเนื่อง ส่วนนักท่องเที่ยวเดินป่าเทือกเขาบรรทัด ที่ขาดการติดไป 2 วัน ล่าสุดติดต่อได้แล้วทุกคนปลอดภัย และกำลังเดินทางกลับลงมาจากเทือกเขาบรรทัด สาเหตุที่ติดต่อไม่ได้ เพราะบนภูเขาฝนตกหนักต้องปิดสัญญาณโทรศัพท์ หลบกระแสน้ำเชี่ยวกราก และบางจุดก็ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์

 

ปัตตานี–ยะลาท่วมตลอดแนวฝั่ง 2 แม่น้ำ

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้แม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักผ่านจังหวัดยะลาลงสู่ทะเลอ่าวไทยที่จังหวัดปัตตานี น้ำขึ้นสูงกว่าตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ที่อาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำในหลายตำบล ส่งผลให้ชาวบ้านในตำบลบาลอ ตำบลกายูบอเกาะ ตำบลตะโละหะลอ ตำบลเกะรอ ตำบลท่าธง และตำบลอาซ่อง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา กว่า 1,000 คน ได้รับความเดือดร้อน

สำหรับตำบลอาซ่อง ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากอยู่ติดกับแม่น้ำสายบุรีตลอดแนวกว่า 15 กิโลเมตร ทำให้ราษฎรบ้านบูเกะซืองอ บ้านปายอแง บ้านกำปงบาโง ประสบอุทกภัยกว่า 100 ครัวเรือน ขณะที่บ้านลาโม๊ะ หมู่ที่ 6 และบ้านตะโล๊ะสะดา หมู่ที่ 1 ต้องใช้เรือเดินทาง เนื่องจากถนนเข้าหมู่บ้านถูกน้ำท่วมตลอดเส้นทาง

นายสมเกียรติ ศีรษะเนตร นายอำเภอรามัน ได้ออกตรวจเยี่ยมราษฎรที่ประสบภัย พร้อมกับสั่งการให้ปลัดอำเภอประจำตำบล ออกสำรวจความความเดือดร้อนและนำเรือท้องแบนออกไปช่วยเหลือประชาชนในหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วม ออกไปจับจ่ายซื้อหาอาหาร และออกไปดูแลสัตว์เลี้ยงที่นำไปไว้ในที่ปลอดภัย ขณะที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอรามัน ได้นำรถยนต์บรรทุกหญ้าแห้งไปแจกจ่ายให้สัตว์เลี้ยงแล้ว

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดปัตตานี เริ่มทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างต่อเนื่อง ล่าสุดสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปัตตานี ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ว 6 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอแม่ลาน อำเภอยะรัง อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอปะนาเระ อำเภอกะพ้อ และอำเภอสายบุรี นอกจากนี้ยังจะเตรียมประกาศเพิ่มพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอมายอ ขณะที่น้ำเหนือจากจังหวัดยะลา เอ่อล้นสปริงเวย์และไหลออกจากท้ายเขื่อนปัตตานีตลอดเวลา

พร้อมกันนี้ จังหวัดปัตตานียังได้ประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ 2 ฝั่งแม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำสายบุรีให้ระวังน้ำท่วมสูง เนื่องจากตลอดวันที่ 2 มกราคม 2555 น้ำทะเลหนุนสูง 1 เมตร ส่งผลให้ปริมาณน้ำเหนือจากจังหวัดยะลา และปริมาณน้ำในจังหวัดปัตตานีไหลลงสู่ทะเลได้ช้า ทำให้เอ่อล้น 2 ฝั่งแม่น้ำเป็นวงกว้าง

ล่าสุด ที่ตำบลปะกาฮารัง ตำบลบาราเฮาะ และตำบลตะลุโบะ อำเภอเมืองปัตตานี น้ำได้เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมที่ราบลุ่ม ทำให้บ้านเรือนประชาชนกว่า 600 ครัวเรือน และถนนเข้าออกหมู่บ้านถูกน้ำท่วมสูง 30–100 เซนติเมตร จมอยู่ใต้น้ำรอบที่ 4 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554–มกราคม 2555 เช่นเดียวกับตำบลเมาะมาวี อำเภอยะรัง ที่ระดับน้ำยังคงท่วมสูง

 

นราธิวาสโล่งฝนหยุดตก

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดนราธิวาส ขณะนี้ฝนหยุดตกแล้ว แต่น้ำป่าบนเทือกเขาสันกาลาคีรี จากอำเภอสุคิรินยังคงไหลทะลักลงสู่แม่น้ำสุไหงโก–ลก 1 ใน 3 ของแม่น้ำสายหลัก ส่งผลให้น้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนล้นตลิ่งและไหลเข้าท่วมบ้านเรือนของราษฎรตลอดแนวริมตลิ่ง ใน 3 อำเภอคือ อำเภอตากใบ อำเภอแว้ง และอำเภอสุไหงโก–ลก ระยะทาง 50 กิโลเมตร มีราษฎรอาศัยอยู่กว่า 500 ครัวเรือน ราษฎรกว่า 1,800 คน ได้รับความเดือดร้อน จากระดับน้ำท่วมสูงโดยเฉลี่ย 100–130 เซนติเมตร ล่าสุดราษฎรบางส่วนได้อพยพออกจากพื้นที่แล้ว

ส่วนถนนสายหลักในอำเภอสุไหงปาดี อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอรือเสาะ และอำเภอบาเจาะ ที่ถูกน้ำท่วมขัง เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2555 จนยานพาหนะทุกชนิดไม่สามารถสัญจรได้นั้น ล่าสุดปริมาณน้ำบนถนนทั้ง 4 สายลดลงสู่สภาวะปกติแล้ว