Skip to main content

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

 

สิชล–นบพิตำอ่วมเจอน้ำป่าถล่มหนัก ถนนขาดชาวบ้านติดเกาะรอความช่วยเหลือ 70 นักท่องเที่ยวหนีน้ำไม่ทัน ติดอยู่บนน้ำตกลานสกา พัทลุงฝนยังกระหน่ำหนัก อุตุฯเตือนคนใต้รายวัน ระบุหลายจังหวัดฝั่งอันดามันอันตราย หาดใหญ่ยังวุ่นน้ำท่วมถนนเอเชีย สตูลส่อเค้าเจอภัยพิบัติ

 

ด

อ่วม – อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช กลายเป็นสถานที่เกิดภัยพิบัติซ้ำซาก เพราะทุกครั้งที่ฝนกระหน่ำหนัก พื้นที่นี้ก็จะเจอภัยน้ำท่วม ดินโคลนถล่มทันที (ภาพน้ำท่วมนบพิตำ ช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อต้นเดือนเมษายน 2554)

 

อุตุฯเตือนภัยคนใต้รายวัน

เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 2 มกราคม 2555 ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้ออกประกาศเตือนภัย ฉบับที่ 5 (3/2555) เรื่องฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ตอนล่างมีเนื้อหาว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวผ่านประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงมามีฝนชุกตกหนาแน่น และมีฝนหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณจังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา ระมัดระวังอันตรายที่เกิดจากฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ในระหว่างวันที่ 2–3 มกราคม 2555

 

เตือนชาวเรือระวังคลื่น

สำหรับคลื่นลมในอ่าวไทยตอนล่าง มีกำลังแรง ทะเลมีคลื่นสูง 2–3 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยตามแนวชายฝั่งทะเลของภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือและชาวประมงให้เดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงดังกล่าว

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์อากาศภาคใต้ฝั่งตะวันออกว่า ตั้งแต่เวลา 12.00 น. วันที่ 2 มกราคม 2555–12.00 น. วันที่ 3 มกราคม 2555 ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขึ้นไป อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 23–25 องศา อุณหภูมิสูงสุด 29–32 องศา ลมตะวันออกเฉียงเหนือความเร็ว 15–35 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทะเลมีคลื่นสูง 1–2 เมตร

ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปมีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20–40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทะเลมีคลื่นสูง 2–3 เมตร

สำหรับอากาศ 7 วันข้างหน้า  ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2555–วันที่ 8 มกราคม 2555  คาดหมายว่า ในช่วงวันที่ 2 มกราคม 2555 ตั้งแต่จังหวัดชุมพรขึ้นไป อากาศเย็นในตอนเช้า กับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20–23 องศา อุณหภูมิสูงสุด 29–31 องศา ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20–35 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60–70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือความเร็ว 20–45 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทะเลมีคลื่นสูง 2–4 เมตร ในช่วงวันที่ 3–8 มกราคม 2555 มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30–40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20–40 กิโลเมตร/ชั่วโมง

อ่าวไทยตอนบนสุราษฎร์ธานีขึ้นมา ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ทะเลมีคลื่นสูง 2–3 เมตร

 

หลายจังหวัดฝั่งอันดามันอันตราย

ต่อมา เวลา 11.00 น.วันที่ 2 มกราคม 2555 ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันตก ได้ออกประกาศเตือนภัยฉบับที่ 3 (3/2555) เรื่องฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีเนื้อหาว่า ขณะนี้หย่อมความกดอากาศต่ำได้ปกคลุมบริเวณตอนกลางของภาคใต้และทะเลอันดามัน ประกอบกับมีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทย ส่งผลให้บริเวณจังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ และจังหวัดตรัง มีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ในบางพื้นที่ 

ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ชาวเรือระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะ 1–2 วันนี้

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์อากาศภาคใต้ฝั่งตะวันตกว่า ตั้งแต่เวลา 12.00 น. วันที่ 2 มกราคม 2555–12.00 น. วันที่ 3 มกราคม 2555 มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดกระบี่ อุณหภูมิต่ำสุด 22–25 องศา อุณหภูมิสูงสุด 30–31 องศา ลมตะวันออก ความเร็ว 15–35 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทะเลมีคลื่นสูง 1–2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

สำหรับอากาศ 7 วันข้างหน้า  ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2555–วันที่ 8 มกราคม 2555  คาดหมายว่า ในช่วงวันที่ 2 มกราคม 2555  มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจายร้อยละ 30–40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 22–24 องศา อุณหภูมิสูงสุด 31–33 องศา ลมตะวันออก ความเร็ว 20–35 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทะเลมีคลื่นสูง 1–2 เมตร

ในช่วงวันที่ 3 – 8 มกราคม 2555 มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10–20 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15–35 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่ง 1–2 เมตร

 

กรมทรัพย์เตือนระวังดินโคลนถล่ม

          เวลา 13:09 น. วันที่ 2 มกราคม 2555 กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกประกาศฉบับที่ 3/2555 เรื่องให้อาสาสมัครเครือข่ายกรมทรัพยากรธรณีและประชาชนทั่วไปในจังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดกระบี่ เฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 2 – 3 มกราคม 2555 โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยอำเภอพะโต๊ะ ตำบลทุ่งตะโก อำเภอละแม จังหวัดชุมพร อำเภอละอุ่น อำเภอกะเปอร์ อำเภอเมืองระนอง อำเภอท่าชนะ อำเภอไชยา อำเภอวิภาวดี อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอสิชล อำเภอนบพิตำ อำเภอขนอม อำเภอพิปูน อำเภอลานสกา อำเภอพรหมคีรี อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ เนื่องจากมีฝนตกหนักและตกต่อเนื่อง วัดปริมาณน้ำฝนสะสมได้กว่า 300 มิลลิเมตร เริ่มมีดินไหลและน้ำป่าไหลหลากในบางพื้นที่แล้ว

ทั้งนี้ให้อาสาสมัครเครือข่ายฯ กรมทรัพยากรธรณี วัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง หากเกิดเหตุให้แจ้งเตือนสถานการณ์ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากให้ประชาชนในหมู่บ้านรับทราบ และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมปฏิบัติตามแผนเฝ้าระวังที่ได้อบรมไปแล้ว

 

สิชล–นบพิตำอ่วมเจอน้ำป่าถล่ม

ด้านจังหวัดนครศรีธรรมราช น้ำป่าไหลหลากอย่างรุนแรงในอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่งผลให้บ้านเผียน บ้านสามเทพ บ้านวังส้าน ตำบลเทพราช และตำบลฉลอง มีน้ำป่าทะลักลงมาจากเทือกเขาหลวง ถนนหลายสายถูกกระแสน้ำตัดขาดอย่างสิ้นเชิง ชาวบ้านหลายสิบครอบครัวต้องอพยพมาอยู่ที่โรงเรียนบ้านเผียน ขณะที่ชาวบ้านจำนวนหนึ่ง ยังไม่สามารถอพยพออกมาได้ เนื่องจากน้ำป่าตัดขาดถนนหลายสาย

ขณะเดียวกัน น้ำในคลองท่าทนได้เพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่สามารถเปิดประตูระบายน้ำได้ เนื่องจากไฟฟ้าดับไม่สามารถใช้มอเตอร์ไฮดรอลิกเปิดประตูระบายน้ำได้ ขณะเดียวกันน้ำป่าได้ทะลักท่วมถนนสาย 401 ช่วงกิโลเมตรที่ 36 ตำบลสิชล อำเภอสิชลสูงกว่า 80 เซนติเมตร รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านได้

ขณะที่อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช กระแสน้ำป่าไหลหลากมาตามลำห้วยสายต่างๆ ในตำบลกรุงชิง ตำบลนบพิตำ ส่งผลให้ถนนถูกตัดขาด ไม่สามารถเดินทางเข้าสู่ตำบลกรุงชิงได้ กระแสน้ำได้พัดพาเอาต้นไม้ใหญ่น้อยถอนรากถอนโคนลงมากระแทกกับตอม่อสะพานอย่างรุนแรงต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลนบพิตำ และองค์การบริหารส่วนตำบลกรุงชิง ได้ใช้รถยนต์ติดเครื่องขยายเสียงเปิดสัญญาณไซเรนแจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมรับสถานการณ์ และอพยพออกจากจุดเสี่ยง ชาวบ้านที่อพยพออกมานอกตำบลกรุงชิงแจ้งว่า ภูเขาถล่มลงมาหลายจุด จนบ้านเรือนพังเสียหาย แต่ยังไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ล่าสุดยังไม่สามารถเข้าไปยังเขตป่าเขาที่มีชุมชนตั้งอยู่ได้

นายพล จันทร์ชุม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกรุงชิง จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า น้ำป่าได้หลากลงมาอย่างรุนแรง จนถนนถูกตัดขาดหลายจุด เช่น หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 10 ตำบลกรุงชิง แต่ยังไม่สามารถรวบรวมมูลค่าความเสียหายได้ ล่าสุดดินโคลนถล่มหมู่ที่ 8 ตำบลกรุงชิง จนบ้านพังจำนวนหนึ่ง ขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรมเจ้าของบ้าน กองกำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 4 กำลังเข้าพื้นที่ให้ให้ความช่วยเหลือแล้ว

 

70 นักท่องเที่ยวติดอยู่บนน้ำตกลานสกา

ส่วนอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยไต้เต๊กเซี่ยงตึ๊ง พยายามเข้าไปช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ติดค้างอยู่บนน้ำตกท่าหา ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา เนื่องจากน้ำป่าทะลักลงมาจากเทือกเขาหลวง ผ่านลงลำคลองท่าดี ซึ่งเป็นลำคลองสายหลักอย่างรุนแรง มีนักท่องเที่ยวติดค้างประมาณ 70 คน แต่ยังไม่สามารถข้ามกระแสน้ำไปช่วยเหลือได้ ล่าสุดพ.ต.อ.สุตรีธา อ่อนสด ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรลานสกา ได้ส่งตำรวจเข้าไปประสานให้ความช่วยเหลือแล้ว

นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว 3 อำเภอ ในลุ่มน้ำคลองกลายคือ อำเภอนบพิตำ อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา 3 เนื่องจากมีน้ำป่าดินโคลนถล่มและน้ำท่วม เพื่อให้การช่วยเหลือตามกรอบขั้นตอนทางกฎมาย และการอนุมัติงบประมาณ

 

ฝนยังกระหน่ำพัทลุง

สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดพัทลุง ขยายวงกว้างวงไปยังหมู่บ้านในหลายตำบลของอำเภอเมืองพัทลุง อำเภอควนขนุน อำเภอเขาชัยสน อำเภอบางแก้ว อำเภอกงหรา อำเภอศรีบรรพต อำเภอศรีนครินทร์ อำเภอป่าบอน อำเภอป่าพะยอม และอำเภอตะโหมด รวม 11 อำเภอ จากการสำรวจเบื้องต้นของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพัทลุงพบว่า ขณะนี้มีพื้นที่น้ำท่วม 162 หมู่บ้าน 32 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมแล้วกว่า 32,000 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร นาข้าว สวนยางพารา สวนผลไม้ ถูกน้ำท่วมไม่ต่ำ 220,000 ไร่

ขณะที่น้ำป่ายังคงเข้าท่วมหมู่บ้านริมเทือกเขาบรรทัดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากฝนยังตกหนักทั้งในพื้นที่และบนเทือกเขา วัดได้ 105 มิลลิเมตร โดยเฉพาะหมู่ที่ 5 หมู่ที่ 6 หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 9 ตำบลชะรัด อำเภอกงหรา โดนน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมอย่างหนักทั้งบ้านเรือน พื้นที่การเกษตรระดับน้ำท่วมสูง 1 เมตร ต้องอพยพชาวบ้านหลายครัวเรือนมาพักในที่ปลอดภัย

ส่วนบนถนนสายบ้านชะรัด–อำเภอกงหรา ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 40 เซนติเมตร มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าฝนยังตกหนักต่อเนื่อง จะไม่สามารถใช้สัญจรได้ สำหรับพื้นที่นี้น้ำไหลบ่าลงมาจากเทือกเขาอย่างรวดเร็ว และมีปริมาณมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

 

หาดใหญ่วุ่นน้ำท่วมถนนเอเชีย

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดสงขลา ล่าสุดปริมาณน้ำจากอำเภอสะเดา และอำเภอคลองหอยโข่ง ยังคงไหลทะลักมายังอำเภอหาดใหญ่ ทำให้เกิดน้ำท่วมผิวจราจรเส้นทางสายเอเชียขาออกจากตัวเมืองหาดใหญ่ ช่วงสี่แยกคลองหวะกับสี่แยกสนามบิน น้ำท่วมถนนถึง 3 ช่วง ระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร ระดับน้ำสูงประมาณ 10 เซนติเมตร แม้รถจะผ่านได้ แต่ก็ทำให้การจราจรติดขัด เพราะเป็นเส้นทางทางขาขึ้นจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และออกจากตัวเมืองหาดใหญ่ ประกอบกับมีประชาชนนำรถมาจอดกีดขวางการจราจร บนสะพานคลองหวะและสะพานหน้ามหาวิทยาลัยหาดใหญ่เพื่อหนีน้ำท่วมจำนวนมาก

 

สตูลส่อเค้าเจออุทกภัย

ที่จังหวัดสตูลเตรียมพร้อมควบคุมสถานการณ์น้ำท่วม ขณะนี้ระดับน้ำในคลองหลายสายเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะน้ำในคลองละงู คลองเขาขาว และคลองฉลุงบางจุดเริ่มเอ่อล้นในพื้นที่ต่ำ โดยคลองละงูมีน้ำที่ท่วมขังสวนยางพาราในที่ลุ่ม แต่ยังไม่เข้าท่วมหมู่บ้าน

ล่าสุดนายเอกรัฐ หลีเส็น นายอำเภอละงู ได้สั่งการให้จุดบริการล่องแก่งในตำบลน้ำผุด อำเภอละงู หยุดบริการนักท่องเที่ยวชั่วคราวแล้ว ทางด้านสำนักงานชลประทานจังหวัดสตูลแจ้งว่า ขณะนี้ฝายดุสน อำเภอควนโดน ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้ โดยสำนักงานชลประทานได้ประสานไปทางป้องกันบรรเทาและสาธารณภัย รวมทั้งอาสาสมัครป้องกันภัยพลเรือน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านแต่ละอำเภอ ให้เฝ้าระวังระดับน้ำอย่างใกล้ชิด

 

ชายแดนใต้โล่งฝนหยุดตก

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสารณภัยได้แจ้งเตือนชาวบ้าน เตรียมรับน้ำจากจังหวัดยะลา ซึ่งจะมาถึงตัวเมืองปัตตานี ในช่วงเที่ยงคืนวันที่ 2 มกราคม 2555 ขณะที่ราษฎรบ้านท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ขนของหนีน้ำขึ้นที่สูง และราษฎรหมู่ที่ 3 บ้านลิมุด ตำบลท่าสาป ซึ่งอยู่ห่างจากแม่น้ำปัตตานีที่ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพียง 200 เมตร ก็ทยอยขนของขึ้นไปไว้บนถนนภายในหมู่บ้าน และทางหลวงสาย 418 ตั้งแต่บ่ายวันที่ 1 มกราคม 2555 สำหรับหมู่บ้านในตำบลท่าสาปส่วนใหญ่อยู่ใกล้แม่น้ำปัตตานี

ก่อนหน้านี้ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าสาป ได้ประกาศเตือนให้ระวังน้ำขึ้นสูง ส่งผลให้ชาวบ้านที่มีบ้านสองชั้นต่างขนขึ้นชั้น 2 ส่วนบ้านชั้นเดียวก็ขนของมาวางบนท้องถนน ขณะที่จังหวัดปัตตานีออกมาประกาศเตือนชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงเป็นระยะๆ ให้เฝ้าติดตามข่าวสาร ปริมาณน้ำฝนที่ตกในจังหวัดยะลาอย่างใกล้ชิด และเตรียมตัวรับมวลน้ำที่ไหลผ่านจังหวัดปัตตานี ออกทะเลฝั่งอ่าวไทย

นายปัญญศักดิ์ โสภณวสุ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดปัตตานี  เปิดเผยว่า จากปริมาณน้ำฝนที่ตกในจังหวัดยะลาตลอดช่วงที่ผ่านมาวัดได้ 279 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำจำนวนนี้จะไหลลงแม่น้ำปัตตานี จึงมีความเป็นไปได้ที่น้ำจะท่วมในจังหวัดปัตตานี สำหรับพื้นที่เสี่ยงสุดของจังหวัดปัตตานีคือ ตำบลตะลูโบะ ตำบลปะกาฮารัง และตำบลบาราเฮาะ อำเภอเมืองปัตตานี คาดว่าปริมาณน้ำจะไม่มากกว่าช่วงพฤศจิกายน 2554 สภาพน้ำท่วมขังน่าจะต่ำกว่าหนึ่งสัปดาห์

“มวลน้ำที่มาจากจังหวัดยะลา ใช้เวลาระหว่าง 24–36 ชั่วโมง จะมาถึงอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี เวลาเที่ยงคืนของวันที่ 2 มกราคม 2555 ถ้าไม่มีฝนตกเพิ่มก็ไม่น่าเป็นห่วง ความเสียหายสูงสุด จะเท่ากับช่วงวันที่ 21–26 พฤศจิกายน 2554 ถ้าพื้นที่ที่เคยถูกท่วมขังอย่างหนักเมื่อปีที่แล้ว ถูกท่วมขังครั้งนี้อีกรอบ โอกาสที่พืชผลการเกษตรเสียหายร้อยเปอร์เซ็นต์มีสูง เกษตรกรอาจจะไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตในปีนี้ ทั้งนี้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกจังหวัด เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่เสี่ยงแล้ว” นายปัญญศักย์ กล่าว

นายอนุรักษ์ ธีระโชติ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี กรมชลประทาน เปิดเผยว่า สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดสำหรับชาวจังหวัดปัตตานีคือ ปริมาณน้ำในเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เพราะถ้าเขื่อนไม่สามารถกักน้ำไว้ได้ ต้องระบายน้ำออกมา จะส่งผลให้พื้นที่ใต้เขื่อน ตั้งแต่อำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ลงมาถึงอำเภอเมืองปัตตานี ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำที่หลากลงมา ชาวปัตตานีจึงต้องให้ความสนใจปริมาณน้ำฝนในจังหวัดยะลาด้วย

 

ยันเขื่อนบางลางยังรับน้ำได้อีกเยอะ

นายอนุรักษ์ ยืนยันว่า ขณะนี้เขื่อนบางลางยังสามารถรองรับน้ำได้กว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของความจุน้ำในเขื่อน หรือประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร จากข้อมูลที่อยู่ไม่น่ากังวลกับปริมาณน้ำในเขื่อนบางลาง สำหรับเขื่อนกักเก็บน้ำ รวมถึงคลองรองรับน้ำแหล่งต่างๆ ในจังหวัดปัตตานี ได้พร่องน้ำลงสู่ทะเลแล้ว จึงไม่น่ากังวลปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านจังหวัดปัตตานี

นายธานินทร์ สมบูรณ์สาร ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า ภารกิจของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์คือ  ให้ความช่วยเหลือผู้มีความเปราะบางที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ เช่น เด็ก สตรี คนชรา และคนพิการ ขณะนี้ได้เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือบุคคลกลุ่มนี้แล้ว

สำหรับจังหวัดยะลาเกิดเหตุน้ำท่วมทั้งหมด 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองยะลา อำเภอรามัน อำเภอยะหา อำเภอกรงปินัง อำเภอกาบัง และอำเภอบันนังสตา มีราษฎรประสบความเดือดร้อน 728 ครัวเรือน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,388 คน ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ถนนเสียหาย 19 สาย สะพานเสียหาย 4 แห่ง โรงเรียน 2 แห่ง ส่วนพื้นที่ทางการเกษตรอยู่ในระหว่างการสำรวจของสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา