Skip to main content

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

สถานการณ์น้ำท่วมใต้คืนสู่สภาพปกติ ชุมพร–ปัตตานีโล่งหลังฝนหยุดตก พัทลุงยังโดนน้ำป่าถล่ม รัฐ–ชาวบ้านเร่งช่วยนบพิตำ–สุราษฎร์ฯ พ้นสภาพถูกตัดขาดจากโลกภายนอก

 ห

 

ถึงแม้สถานการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่ใน ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่วันที่ 4 มกราคม 2555 มีโรงเรียนบางแห่งยังไม่สามารถเปิดเรียนได้ เนื่องจากโรงเรียนถูกน้ำท่วมเสียหาย เช่น โรงเรียนสหศาสตร์วิทยา ที่ยังอยู่ระหว่างฟื้นฟูอาคารสำนักงานและอาคารเรียน กำหนดเปิดเรียนในวันที่ 5 มกราคม 2555

ขณะที่วิทยาลัยเทคโนโลยีหาดใหญ่อำนวยวิทย์ เปิดเรียนตามปกติ มีนักเรียนมาเรียนครบตามจำนวน เช่นเดียวกับโรงเรียนเทศบาล 5 วัดหาดใหญ่ใน ที่ฟื้นฟูโรงเรียนแล้วเสร็จ ความเสียหายไม่มาก ขณะนี้ใช้เป็นที่พักนักกีฬาที่เข้าร่วมแข่งขันกีฬานักเรียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ที่เทศบาลนครหาดใหญ่เป็นเจ้าภาพ จึงเลื่อนไปเปิดเรียนในวันที่ 23 มกราคม 2555

 

น้ำป่ายังถล่มพัทลุง

สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดพัทลุงยังน่าวิตก ถึงแม้ฝนหยุดตกตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 3 มกราคม 2555 จนถึงวีนที่ 4 มกราคม 2555 แต่ยังไม่น่าไว้วางใจ โดยเฉพาะโซนล่างที่รับน้ำเหนือมาจากเทือกเขาบรรทัดคือ ตำบลชัยบุรี ตำบลนาโหนด ตำบลปรางหมู่ ตำบลพญาขันต์ ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง, ตำบลควนขนุน ตำบลมะกอกเหนือ ตำบลพนางตุง ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน, ตำบลเขาชัยสน ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน, ตำบลนาปะขอ ตำบลท่ามะเดื่อ อำเภอบางแก้ว และตำบลฝาละมี ตำบลเกาะหมาก ตำบลเกาะนางคำ อำเภอปากพะยูน บ้านเรือนราษฎรยังถูกน้ำท่วมขัง เนื่องจากน้ำป่าทะลักเข้าท่วมสูงกว่า 150 เซนติเมตร ถนนหลายสายไม่สามารถใช้สัญจรผ่านไปมาได้ โดยเฉพาะเส้นทางระหว่างตำบลชัยบุรีกับตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน ถูกกระแสน้ำกัดเซาะถนนจนขาด ไม่สามารถใช้เส้นทางดังกล่าวได้ ต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น นอกจากนี้ เส้นทางระหว่างตำบลพญาขันต์ ตำบลชัยบุรี มีน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ยาวกว่า 2 กิโลเมตร ไม่สามารถใช้เส้นทางได้เช่นกัน

สำหรับโรงพยาบาลพัทลุง หลังจากเทศบาลเมืองพัทลุง และชลประทานจังหวัดพัทลุง ระดมสูบน้ำทั้งวันทั้งคืน น้ำที่ท่วมก็ลดลงเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ส่วนพื้นที่ริมเทือกเขาบรรทัด 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอตะโหมด อำเภอป่าบอน อำเภอกงหรา อำเภอป่าพะยอม อำเภอศรีนครินทร์ และอำเภอศรีบรรพต ระดับน้ำลดลงเกือบเป็นภาวะปกติแล้ว แต่จังหวัดยังคงสั่งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัย 28 จุดริมเทือกเขาบรรทัด เนื่องจากปริมาณดินอุ้มน้ำไว้มาก ดินอาจจะถล่มลงมาได้

                  

รัฐ–ชาวบ้านเร่งช่วยนบพิตำ

          สำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราช ภาพรวมเริ่มคลี่คลายมากขึ้น ฝนได้หยุดตกตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 4 มกราคม 2555 ขณะที่น้ำป่าไหลลงมาจากเทือกเขาหลวงลดลง การระบายน้ำจึงคล่องตัวมากขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 3 มกราคม 2555 พล.ต.กิตติ อินทสร รองแม่ทัพภาค 4 ได้ใช้เฮลิคอปเตอร์บินสำรวจพื้นที่อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ยังมีประชาชนถูกตัดขาดหลายหมู่บ้าน นับตั้งแต่หมู่ที่ 6 ตำบลกรุงชิงขึ้นไป พล.ต.กิตติสั่งการให้จัดตั้งกองอำนวยการทหารขึ้นที่อำเภอนบพิตำ เพื่อความสะดวกในการบัญชาการกองกำลัง โดยได้เข้าตรวจสอบสะพานที่เคยขาด เมื่อครั้งน้ำท่วมช่วงเดือนมีนาคม–เมษายน 2554 ที่มีการเสริมสะพานแบริ่งชั่วคราวไว้

ปรากฏว่าสะพานแบริ่งน้ำหนักหลายสิบตัน ถูกน้ำซัดห่างจากจุดเดิมนับร้อยเมตร ชาวบ้านต้องใช้รอกขนย้ายสิ่งของผ่านคลองกลาย และใช้สะพานลิงมีเชือกผูกโยงเดินข้ามไปมาชั่วคราว รถยนต์ทุกชนิดไม่สามารถใช้เส้นทางนี้ได้ ประชาชนติดค้างที่หมู่ที่ 6 ตำบลกรุงชิงจำนวนมาก

พล.ต.กิตติ เปิดเผยว่า กำลังพลจากกรมทหารปืนใหญ่ที่ 5 และกรมทหารช่างได้เข้าพื้นที่ให้การช่วยเหลือชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านฝั่งที่ยังติดอยู่ได้ร้องขอแพทย์ทหารเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วย จึงสั่งการให้แพทย์จากโรงพยาบาลค่ายวชิราวุธ จัดหน่วยแพทย์ทหารเคลื่อนที่เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านแล้ว

“ส่วนการกู้เส้นทางนั้น ทหารช่างพร้อมชาวบ้านในพื้นที่ จะเคลื่อนย้ายเครื่องกลหนักเข้าไปกู้สะพานแบริ่งที่ถูกน้ำซัดกลับมาวางให้ประชาชนใช้เส้นทางได้ไปพลางก่อน ผู้บังคับบัญชาของชุดปฏิบัติการทหารช่างยืนยันว่า วันที่ 5 มกราคม 2555 จะสามารถเปิดเส้นทางเข้าออกได้” รองแม่ทัพภาคที่ 4 ระบุ

 

สุราษฎร์ธานีสถานการณ์คลี่คลาย

นายมนตรี เพชรขุ้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยมูลนิธิกุศลศรัทธายังคงลำเลียงอาหาร น้ำดื่ม ยาแก้ไข้ ผ่านทางลวดสลิงข้ามคลองครามอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้อาสาสมัครเดินเท้านำเข้าไปยังพื้นที่ประสบภัยกว่า 3 กิโลเมตร มอบให้กับผู้ประสพภัยกว่า 50 ครัวเรือน ที่บ้านหน้าถ้ำ หมู่ที่ 13 ตำบลท่าอุแท อำเภอกาญจนดิษฐ์

ก่อนหน้านี้ ช่วงเย็นวันที่ 3 มกราคม 2500 ได้เดินเท้าเข้าอพยพ เด็ก ผู้หญิงและผู้สูงอายุ ออกจากพื้นที่ แต่นำออกมาไม่ได้ เนื่องจากมืดค่ำฝนตกหนักน้ำป่ายังไหลหลากรุนแรง เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง ขณะนี้มีหลายหมู่บ้านในอำเภอกาญจนดิษฐ์ เสาไฟฟ้าล้ม ไฟฟ้าดับ น้ำป่าไหลหลากรุนแรง ถูกตัดขาดจากภายนอก เจ้าหน้าที่ต้องนำลวดสลิงและเชือกมาผูกโยงใช้ลำเลียงอาหารและน้ำดื่ม เพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น

นายธรรมรงค์ มณีโชติ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองสระ เปิดเผยว่า ถนนและสะพานถูกตัดขาดหลายจุด ไฟฟ้าดับ เสาไฟฟ้าล้ม ประชาชนในตำบลครองสระได้รับความเดือดร้อนประมาณ 800 ครัวเรือน หรือกว่า 3,000 คน ถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิงประมาณ 400 ครัวเรือน ประกอบด้วย บ้านกงตอหมู่ที่ 9 บ้านม่วงลีบ หมู่ที่ 2 และบ้านปากฮายหมู่ที่ 10

วันเดียวกัน นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายในอำเภอกาญจนดิษฐ์ และได้สั่งการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งเคลียร์พื้นที่หลังน้ำลด เพื่อให้รถสัญจรไปมาได้ และขอกำลังทหารจากค่ายวิภาวดีรังสิตสุราษฎร์ธานี ช่วยอพยพประชาชนหากมีความจำเป็น

 

เร่งแก้ปัญหาชุมชนถูกตัดขาด

ช่วงสายวันที่ 4 มกราคม 2555 เจ้าหน้าที่สามารถช่วยเหลือ นางขวัญชนก โพธิบาล อายุ 22 ปี และลูกสาววัย 3 ขวบ และ 2 ขวบ ราษฎรบ้านหน้าถ้ำ ออกจากพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย หลังจากหลบหนีน้ำป่าขึ้นไปอยู่บนภูเขาสูง ซึ่งการช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบาก ต้องใช้เชือกผูกกับต้นไม้แล้วใช้เปลไนล่อนมาผูกทำเป็นกระเช้าเข้ากับรอก แล้วโรยตัวข้ามน้ำป่าที่ไหลเชี่ยวกราก ระยะทางกว้างประมาณ 100 เมตร ชาวบ้านระบุว่า ยังมีชาวบ้านบ้านยวนผึ้ง และบ้านไร่บน ที่อยู่เหนือชุมชนบ้านหน้าถ้ำขึ้นไปประมาณ 5 กิโลเมตร ยังถูกตัดขาดกับภายนอกอีกจำนวนหนึ่ง เนื่องจากถนนขาดและดินถล่มปิดเส้นทาง

ต่อมา นายธีรยุทธ ได้เดินทางไปยังบ้านหน้าถ้ำ มีชาวบ้านระดมกำลังออกมาขุดดินที่สไลด์ปิดทับเส้นทางคมนาคม โดยใช้เครื่องไม้เครื่องมือเท่าที่มีในหมู่บ้าน เพื่อเร่งเปิดเส้นทางให้รถสามารถสัญจรเข้าออกได้ โดยไม่รอความช่วยเหลือจากทางราชการ

ส่วนสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากจังหวัดสุราษฎร์ธานี เริ่มคลี่คลายหลังฝนหยุดตก คาดว่าไม่เกิน 2 วัน เหตุการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ส่งรถเครื่องจักรกลหนักเข้าซ่อมแซมคอสะพานที่ชำรุด ที่อำเภอกาญจนดิษฐ์แล้ว

 

 

ชุมพรคืนสภาพปกติ

ส่วนจังหวัดชุมพร เริ่มกลับเข้าสู่สภาพปกติ มีน้ำท่วมขังเฉพาะที่ลุ่มบางแห่งเท่านั้น ถนนถนนสายเอเชีย หรือเพชรเกษม 41 ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 33–34 ตำบลนาโพธิ์ อำเภอสวี และหลักกิโลเมตรที่ 47–48 เยื้องที่ว่าการอำเภอทุ่งตะโก ที่ถูกน้ำท่วมขังสูงกว่า 50 เซนติเมตร ขณะนี้น้ำลดจนแห้ง รถทุกชนิดผ่านไปมาได้

นายพินิจ เจริญพานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ได้สรุปภาวะน้ำท่วมจังหวัดชุมพรว่า มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 5 อำเภอคือ อำเภอละแม อำเภอหลังสวน อำเภอพะโต๊ะ อำเภอทุ่งตะโก อำเภอสวี รวม 27 ตำบล 277 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 20,062 ครัวเรือน 67,016 คน ต้องอพยพราษฎรไปอยู่ที่ปลอดภัย 8 ครัวเรือนจำนวน 30 คน บ้านเรือนได้รับความเสียหายทั้งหลัง 2 หลัง เสียหายบางส่วน 11 หลัง

“ถนนชำรุดเสียหาย 395 สาย สะพาน 10 แห่ง ฝาย 1 แห่ง ท่อระบายน้ำ 68 แห่ง ส่วนพืชผลและพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ มีผู้ได้รับบาดเจ็บคือ นายสุชาติ สวัสดิ์ธนพงษ์ อายุ 61 ปี อยู่หมู่ที่ 6 ตำบลทุ่งตะไคร อำเภอทุ่งตะโก ถูกงูที่ลอยมากับกระแสน้ำกัด นำส่งโรงพยาบาลทุ่งตะโกอาการปลอดภัยแล้ว เบื้องต้นประเมินมูลค่าความเสียหายประมาณ 50,085,000 บาท” นายพินิจ กล่าว

ทั้งนี้ เวลา 09.00 น. วันเดียวกัน เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ทำให้บ้านเรือนราษฎรที่อยู่ใกล้ทะเลและริมแม่น้ำอำเภอหลังสวน และอำเภอสวี ถูกน้ำทะเลหนุนเอ่อเข้าท่วมที่อยู่อาศัยได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก โดยเฉพาะถนนสายเอเชีย หรือเพชรเกษม 41 ช่วงกิโลเมตร 33–34 บ้านหนองพรม ตำบลสวี อำเภอสวี มีน้ำทะเลเอ่อเข้าท่วมสูงกว่า 20–30 เซนติเมตร เป็นระยะทางยาวกว่า 200 เมตร ทำให้รถเล็กไม่สามารถสัญจรได้

ส่งผลให้รถยนต์ที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ติดค้าง ตรงช่วงถนนถูกตัดขาด ต้องหยุดพักค้างแรมตามที่พักต่างๆ ในจังวัดชุมพรและจังหวัดใกล้เคียง

ต่อมาเวลา 15.00 น. พ.ต.อ.ภคพล ทวิชศรี ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหลังสวน จังหวัดชุมพร เดินทางไปตรวจสอบเหตุดินทรุดตัวจากน้ำป่าที่ไหลทะลักกัดเซาะคอสะพาน บริเวณทางหลวงหมายเลข 4006 หลังสวน–ระนอง หมู่ที่ 12 ตำบลวังตะกอ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร จนสะพานคอนกรีตข้ามคลองปิ กว้าง 30 เมตร ทรุดตัวและขาดสะบั้นขาดลง ห่างจากจุดแรกไปอีก 3 กิโลเมตร กระแสน้ำพัดเอาท่อลอดระบายน้ำขนาดใหญ่ ใต้สะพานข้ามคลองบากแดงหลุดหาย จนเป็นหลุมลึกกว้างกว่า 10 เมตร ทำให้สะพานพังยุบตัวลง

นอกจากนั้น เสาไฟฟ้าแรงสูงบริเวณดังกล่าว 15 ต้น ล้มเป็นระยะเป็นทางยาวกว่า 5 กิโลเมตร ล้มทับบ้านของนางเกษมณี อินทร์แก้ว อายุ 52 ปี อาศัยอยู่บ้านไม่มีเลขที่ หมู่ที่ 12 ตำบลวังตะกอ อาชีพทำสวนปาล์มพังเสียหายทั้งหลัง ส่งผลให้ถนนเส้นทางหลักหลังสวน–ระนองเป็นอัมพาต รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรได้ ประชาชนหลายพันคนถูกตัดขาดจากภายนอก เจ้าหน้าที่แขวงการทาง หน่วยงานเกี่ยวข้อง และกำลังทหารจากจังหวัดทหารบกชุมพร ออกไปให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแล้ว

 

ปัตตานีเข้าสู่ภาวะปกติ

นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่มจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า จังหวัดปัตตานีมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วมรวม 9 อำเภอ 37 ตำบล 152 หมู่บ้าน 3 ชุมชน ประกอบด้วย อำเภอเมืองปัตตานี ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 5 ตำบล 9 หมู่บ้าน อำเภอยะรัง ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 3 ตำบล 5 หมู่บ้าน อำเภอโคกโพธิ์ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 3 ตำบล 16 หมู่บ้าน

นายธีระ เปิดเผยต่อไปว่า ที่อำเภอปะนาเระ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 3 ตำบล 15 หมู่บ้าน อำเภอแม่ลาน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1 ตำบล 9 หมู่บ้าน อำเภอกะพ้อ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 3 ตำบล 27 หมู่บ้าน อำเภอสายบุรี ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 8 ตำบล 24 หมู่บ้าน 3 ชุมชน อำมายอ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 7 ตำบล 23 หมู่บ้าน และอำเภอทุ่งยางแดง ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 4 ตำบล 23 หมู่บ้าน

“รวมประชาชนได้รับความเดือดร้อน 5,760 ครัวเรือน ประชากร 26,760 คน ส่วนความเสียหายด้านทรัพย์สิน ด้านการเกษตร ปศุสัตว์ การประมง บ้านเรือน และสาธารณประโยชน์ อยู่ระหว่างการสำรวจ ขณะนี้อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบภัย ได้ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว ล่าสุดสภาพอากาศปัจจุบันฝนหยุดตกแล้ว และสภาพพื้นที่ในภาพรวม ใกล้เข้าสู่สภาวะปกติ” นายธีระ กล่าว