โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
อุตุเตือนภัย ชายฝั่งอ่าวไทยเจอคลื่นลมแรงระลอกใหม่ แหลมตะลุมพุก–ปากพนังพังยับ ดาว์พงศ์เดินสายให้กำลังใจทหารช่วยผู้ประสบภัย สุราษฎร์ฯ–ชุมพร เร่งกู้เส้นทางกลางป่า
นายไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ เปิดเผยว่า จากการประเมินความเสียหายน้ำท่วมนครหาดใหญ่บางพื้นที่ในเบื้องต้นประมาณ 300 ล้านบาท คาดการณ์ว่าสถานการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่ยังมีในปีต่อไป ตราบใดที่ป่าต้นน้ำในอำเภอสะเดายังถูกทำลาย
“สำหรับแผนรับมือ เทศบาลนครหาดใหญ่ได้เสนอโครงการแบบยั่งยืนไปยังรัฐบาลแล้ว ใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท และกรมชลประทานได้เสนอโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมภาพรวมไปแล้วเช่นกัน แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ” นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ กล่าว
นายพงษ์เทพ จิระสุขประเสริฐ นายอำเภอนาทวี ได้ประชุมหัวหน้าส่วนราชการที่องค์การบริหารส่วนตำบลฉาง เพื่อสรุปความเสียหายจากน้ำท่วมทั้ง 10 ตำบล รวมทั้งสิ้นประมาณ 110 ล้านบาท เทศบาลตำบลนาทวีได้รับความเสียหายมากที่สุดประมาณ 40 ล้านบาท โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการเร่งซ่อมแซมถนน สะพาน
นายอุทิศ ชูช่วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ปัญหาน้ำท่วมจังหวัดสงขลา จะทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี เพราะคลองแต่ละสายตื้นเขิน จนไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา มีแผนขุดลอกคลองรอบนอกที่ตื้นเขิน ไม่สามารถระบายน้ำลงคลอง และแม่น้ำสายหลักๆ ได้ทันท่วงที เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง ได้แก่ คลองวังปริง เขามีเกียรติ สำนักขาม อำเภอสะเดา คลองหอยโข่ง คลองโคกม่วง อำเภอคลองหอยโข่ง คลองลำทับ คลองลูกเสือ อำเภอสะบ้าย้อย คลองกวาง คลองฉาง อำเภอนาทวี คาดว่าจะใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท
อุตุเตือนภัยคลื่นลมแรงระลอกใหม่
นายประพร เอกอุรุ นายกสมาคมประมงจังหวสัดสงขลา เปิดเผยว่า สภาพคลื่นลมในทะเลอ่าวไทยยังมีกำลังแรง ความสูงประมาณ 2 เมตร ประมงพื้นบ้านประมาณ 400–500 ลำ ยังไม่กล้าออกทำประมงประมาณ 2 เดือนแล้ว ทำให้ขาดรายได้ ส่งผลให้สัตว์น้ำขาดแคลน ราคาเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 30 จากราคาเดิม เพราะต้องสั่งซื้อสัตว์น้ำจากฝั่งทะเลอันดามัน ขณะที่สัตว์น้ำบางชนิดขาดตลาด
นายสัน หมัดเจริญ ชาวประมงพื้นบ้าน เปิดเผยว่า คลื่นลมมีกำลังแรงจึงไม่กล้าออกเรือ ทำให้ขาดรายได้ รัฐบาลน่าจะมีการชดเชยให้กับชาวประมง ที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ
สำหรับสภาพคลื่นลมในอ่าวไทยบริเวณ 6 อำเภอชายฝั่งของจังหวัดสงขลายังมีกำลังแรง ประมงพื้นบ้านไม่สามารถออกเรือได้ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกได้ออกประกาศเตือนจะมีคลื่นลมแรงระลอกใหม่ ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชไปจนถึงจังหวัดนราธิวาส ระหว่างวันที่ 6–8 มกราคม 2555
เมืองคอนเร่งซ่อมสะพาน
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะนี้เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะในอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ล่าสุดสามารถเปิดเส้นทางที่ถูกตัดขาดได้ทุกจุดแล้ว เหลือเส้นทางที่กำลังเร่งกู้คือ เส้นทางในตำบลฉลอง ตำบลเทพราช ตำบลเขาน้อย อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีสะพานได้รับความเสียหาย เพราะถูกกระแสน้ำกัดเซาะคอสะพานจนไม่สามารถใช้การได้กว่า 20 จุด ทั้งหมดเป็นสะพานเชื่อมระหว่างหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่กำลังเร่งซ่อมให้ใช้การได้ทั้งหมด ภายในวันที่ 6 มกราคม 2555
พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 เปิดเผยว่า 21 ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยของกองทัพภาคที่ 4 ได้ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ภาพรวมขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายจนเกือบเป็นปกติ แต่หน่วยทหารยังคงช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องทุกภารกิจ รวมทั้งสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยประชาชนขนย้ายสิ่งของ ซ่อมแซมฟื้นฟูบ้านเรือน โดยเฉพาะในอำเภอนบพิตำได้บินสำรวจคลุมทั้งพื้นที่ พบว่ามีจุดที่ถูกกระแสน้ำตัดสะพานและถนนขาด 7 จุด ทุกจุดสามารถใช้เส้นทางสัญจรได้แล้ว
“วันที่ 7 มกราคม 2555 กำลังพลจากกองทัพภาคที่ 4 ร่วมกับเทศบาลนครนครศรีธรรมราชฟื้นฟูทำความสะอาดตัวเมือง หลังจากน้ำป่าไหลหลากอย่างรุนแรง ผู้บัญชาการทหารบกมอบนโยบายให้หน่วยทหารร่วมกับทุกฝ่ายปลูกจิตสำนึกรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาทรัพยากรธรรมชาติที่ลดลงอย่างมาก ต้องเร่งสร้างจิตสำนึกป้องกันก่อนที่จะเกิดภัยธรรมชาติรุนแรงหนักหน่วงกว่านี้ ส่วนการรับมือนั้นพบว่าประชาชนมีความตื่นตัวสูง เมื่อเกิดภัยขึ้นจะไม่สูญเสียชีวิตเหมือนอดีต” เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 กล่าว
เทศบาลนครฯ แห้งสนิท
ส่วนเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ล่าสุดมีการระบายน้ำออกจนแห้งเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เหลือจุดที่น้ำยังท่วมขังไม่กี่จุด เช่น ชุมชนนอกโคกใกล้เคียงกับสถานีรถไฟนครศรีธรรมราช ชุมชนบ่อทรัพย์ ตำบลในเมือง เป็นต้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์เชาวนวัศน์ เสนพงศ์ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า มีการระดมเครื่องสูบน้ำและเครื่องดันน้ำ 19 เครื่อง มาติดตั้งยังจุดสำคัญที่ต้องระบายน้ำอย่างรวดเร็ว ปรากฏว่าระบายน้ำได้เร็วเหนือความคาดหมายไม่ถึง 2–3 วันก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โชคดีที่น้ำทะเลไม่หนุน เช้าวันที่ 7 มกราคม 25555 ทุกภาคส่วนจะร่วมกันทำความสะอาดเมืองด้วยกัน
สำหรับสถานการณ์ดินถล่ม หมู่ที่ 12 บ้านเขาวัง ตำบลหินตก อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช คลี่คลายลงแล้ว ถึงแม้จะมีรอยร้าวแยกหลายจุดก็ตาม ส่วนผลการเจรจาขอใช้ที่ดิน เพื่อเปิดเส้นทางและเดินสายส่งกระแสไฟฟ้าแรงสูงเข้าพื้นที่จากนางแก้ว ดวงฤทธิ์ อายุ 70 ปี และนางสาวโสภา ดวงฤทธิ์ บุตรสาว ปรากฏว่าล้มเหลวไม่สามารถตกลงกันได้
ในที่สุดนายต้อง ศรีอุลิต นางณัฐฏิกานต์ บัวเพชร และนางประเทือง ศรีฟองแก้ว ได้อุทิศที่ดินติดต่อกัน 3 แปลง เปิดเส้นทางใหม่กว้าง 6 เมตร ยาว 350 เมตร เข้าไปยังหมู่บ้านเขาวังด้านบนที่ถูกตัดขาด โดยใช้เครื่องจักรกลหนักขององค์การบริหารส่วนตำบลนครศรีธรรมราช
นายทวีผล บุญผล ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 12 ตำบลหินตก อำเภอร่อนพิบูลย์ เปิดเผยว่า ชาวบ้านเริ่มใช้เส้นทางขนส่งผลผลิตทางการเกษตร ลงมาด้านล่างได้แล้ว ต้องขอบคุณเจ้าของที่ดินที่อุทิศที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์ด้วย
แหลมตะลุมพุก–ปากพนังพังยับ
นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม และประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ 14 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอลานสกา อำเภอพรหมคีรี อำเภอนบพิตำ อำเภอขนอม อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา อำเภอหัวไทร อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอพระพรหม อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอพิปูน อำเภอเชียรใหญ่ และอำเภอชะอวด มีพื้นที่ประสบภัย 50 ตำบล 290 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบประมาณ 124,000 คน มีการอพยพประชาชนไปอยู่ที่ปลอดภัยประมาณ 3,000 คน 500 ครัวเรือน ถนนเสียหาย 120 สาย สะพาน คอสะพาน 30 แห่ง ส่วนสิ่งสาธารณประโยชน์อื่นอยู่ระหว่างการสำรวจ
นายวิโรจน์ เปิดเผยต่อไปว่า ในส่วนหมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 ตำบลแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง มีราษฎรได้รับความเดือดร้อน 596 ครัวเรือน 2,623 คน บ้านเรือนพังเสียหายทั้งหลัง 16 หลัง และเสียหายบางส่วน 6 หลัง ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กเสียหายใช้การไม่ได้อีกจำนวนหนึ่ง ได้จัดทำโครงการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 133 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา บริเวณหมู่ที่ 3 เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้ประสบภัยจากคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง 569 ครัวเรือน ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 เมษายน 2554 เสนอต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการของบประมาณสนับสนุนจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อซ่อมแซมถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ระยะทาง 250 เมตร และโครงการก่อสร้างแนวหินป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 ความยาว 800 เมตร เป็นเงิน 5,425,000 บาท
ดาว์พงศ์ให้กำลังใจทหาร
ในช่วงเช้าวันที่ 6 มกราคม 2555 พล.อ.ดาว์พงศ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก พร้อมด้วยพล.ท.นิพนธ์ ปานมงคล เจ้ากรมการทหารช่าง กองทัพบก ได้เดินทางไปยังตำบลแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครสรีธรรมราช ที่มีคลื่นขนาดใหญ่เข้าซัดหมู่บ้านได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง ในหมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 ตำบลแหลมตะลุมพุก
ขณะเดียวกันได้ให้กำลังใจหน่วยทหารที่เข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชนในที่เกิดเหตุ โดยระบุกับประชาชนว่าทหารจะจัดกำลัง 1 ชุด ประจำการในพื้นที่ เพื่อพร้อมช่วยเหลือประชาชน และอีกชุดปฏิบัติการเข้าฟื้นฟูเส้นทางในหมู่บ้าน และปลูกสร้างบ้านเรือนให้กับประชาชนที่บ้านพังเสียหาย ขณะนี้กำลังทหารเป็นหน่วยหลักที่อยู่ในพื้นที่ และเฝ้าระวังมรสุมที่จะเข้ามาอีกลูก
จากนั้น พล.อ.ดาว์พงศ์ ได้เดินทางจากไปยังอำเภอนบพิตำ เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินการของทหารช่างที่เข้าไปกู้เส้นทางร่วมกับหน่วยงานต่างๆ
สุราษฎร์ฯ เร่งกู้เส้นทางกลางป่า
นาวาอากาศเอกพันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บังคับการบินกองบินที่ 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้บินสำรวจพื้นที่น้ำป่าไหลหลากที่ตำบลคลองสระ และตำบลท่าอุแท อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยใช้เวลาบินสำรวจประมาณ 2 ชั่วโมงเศษ พบว่าความแรงของน้ำป่ากัดเซาะสะพานขาดกว่า 10 แห่ง บางจุดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และหน่วยทหารพัฒนาเคลื่อนที่ 46 ได้นำเครื่องจักรกลหนักเข้าซ่อมแซมแล้ว และ บางจุดชาวบ้านร่วมมือกันสร้างสะพานไม้กันเอง และบางจุดยังไม่สามารถซ่อมแซมได้
นอกจากนี้ยังพบว่า พื้นที่หมู่ที่ 13 ชุมชนบ้านหน้าถ้ำ ชุมชนไร่บนและชุมชนบ้านยวนผึ้ง มีดินจากภูเขาสูงถล่มลงปิดกั้นเส้นทางยาวหลายจุดยังไม่ได้เคลียร์เส้นทาง เนื่องจากพื้นที่เป็นร่องเขาสูงชัน มีชาวบ้านติดอยู่อีกจำนวนหนึ่ง และพบว่าพืชผลทางการเกษตรเสียหายจำนวนมาก
อภิสิทธิ์เยี่ยมชาวชุมพร
เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2555 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ นายเชน เทือกสุบรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี และคณะ เดินทางลงพื้นที่ประสบอุทกภัย ตำบลพ้อแดง ตำบลวังตะกอ อำเภอหลังสวน และตำบลแหลมปอ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร เพื่อเยี่ยมและให้กำลังใจแก่ผู้ประสบภัย พร้อมมอบถุงยังชีพในนามของพรรค และมูลนิธิม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จุดละ 1,000 ชุด
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนมารับข้อมูลความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อนำไปเสนอให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือ โดยเฉพาะในช่วงพิจารณางบประมาณประจำปี ตนจะผลักดันงบประมาณนำมาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดชุมพร โดยเฉพาะในอำเภอหลังสวน ที่ถูกน้ำท่วมซ้ำซาก
นายอภิสิทธื์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับหลักเกณฑ์การช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท ที่ริเริ่มในรัฐบาลชุดที่แล้ว มีความเหมาะสมและครอบคลุม ทั้งน้ำท่วมขังและน้ำป่าไหลหลาก หากรัฐบาลนำมาใช้แล้วมีปัญหารัฐบาลสามารถทบทวนได้ ตนคิดว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดมีความยืดหยุ่นเพียงพอ สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ไม่มีปัญหา
จากนั้นนายสุทธิพันธ์ สุวรรณบัณฑิต สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่ามะพลา อำเภอหลังสวน ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายอภิสิทธิ์ ให้ขอช่วยเหลือประชาชนในตำบลท่ามะพลา 1,040 ครัวเรือน ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ทั้งที่ประสบภัยน้ำท่วมร้อยเปอร์เซ็นต์ บางแห่งสูงกว่า 2 เมตร เกินความสามารถขององค์การบริหารส่วนตำบลในจะช่วยเหลือได้ ได้กำชับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร ประสานไปทางหน่วยงานของจังหวัดให้การช่วยเหลือต่อไป
ทหารลุยช่วยชาวบ้านกลางป่าชุมพร
วันเดียวกัน ทหารจากกองทัพภาคที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับนายชวลิต บุญมี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาขา อำเภอหลังสวน เร่งลำเลียงถุงยังชีพ 350 ชุด เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านหมู่ที่ 13 บ้านห้วยเหมือง ตำบลนาขา ซึ่งเป็นหมู่บ้านกลางกลางป่าใกล้หุบเขา มีชาวบ้านอาศัยกว่า 500 คน ที่โดนน้ำป่าไหลหลาก ถนนถูกตัดขาด และดินสไลด์ทับเส้นทางเข้าออกหมู่บ้าน ไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ ทำให้อาหารหมดขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคนาน 3 วันแล้ว จากการบินสำรวจพบว่า ถนนเส้นทางหลักในหมู่บ้านหลายแห่งมีดินสไลด์ลงมาทับ และถูกน้ำเซาะตัดขาด มีร่องรอยการบุกรุกทำลายป่าเพื่อทำเกษตรจำนวนมาก
นายชวลิต เปิดเผยว่า ตำบลนาขาอยู่ในหุบเขารอยต่อระหว่างอำเภอหลังสวน อำเภอพะโต๊ะ และอำเภอทุ่งตะโก มีประชากรเข้ามาอยู่กันมาก มีถนนเข้าออกหมู่บ้านหลายสายเชื่อมต่อหลายอำเภอหลายตำบล เมื่อเกิดฝนตกหนักมีน้ำป่าไหลหลากดินถล่มพร้อมกันหลายจุด ทำให้เส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด อาหารที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ชาวบ้านต้องอดอาหารหลายวัน
นายชวลิต กล่าวอีกว่า พื้นที่ป่าแห่งนี้ลดน้อยลง เพราะมีการบุกรุกแผ้วถางป่า เพื่อนำที่ดินมาประกอบอาชีพเกษตร สวนยางพารา สวนปาล์ม พืชเกษตรพวกนี้ไม่สามารถชะลอน้ำได้ รากไม่ลึกจึงไม่ยึดหน้าดิน เมื่อฝนตกหนักดินอุ้มน้ำได้น้อยจึงถล่มลงมา เหตุการณ์นี้จะเกิดอยู่บ่อยครั้ง จึงต้องปลุกจิตสำนึกให้ทุกคนตระหนักในการอนุรักษ์ป่า และป่าต้นน้ำ เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของทุกคน
นายบุญเสี่ยง หมู่เย็น ผู้อำนวยการสำนักงานแขวงการทางระนอง กล่าวว่า เส้นทางจราจรในบริเวณถนนถนนทางหลวงหมายเลข 4006 ระหว่างหลังสวน–ระนอง หมู่ที่ 12 ตำบลวังตะกอ อำเภอหลังสวน ที่คอสะพานคอนกรีตข้ามคลองปิ กว้าง 10 เมตร พังถล่มเสียหาย ห่างออกไปอีก 3 กิโลเมตร กระแสน้ำได้พัดเอาท่อลอดระบายน้ำขนาดใหญ่ ใต้สะพานข้ามคลองบากแดงหลุดหาย จนเป็นหลุมลึกกว้างกว่า 10 เมตร ทำให้ถนนพังยุบตัวลง รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรได้ ขณะนี้ได้ทอดสะพานแบริ่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนอีกจุดได้วางท่อถมดินเสร็จแล้วเช่นกัน ถนนที่ชำรุดทั้ง 2 จุด จึงเปิดใช้ได้แล้ว
สำหรับจังหวัดชุมพรได้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 5 อำเภอ คือ อำเภอละแม อำเภอหลังสวน อำเภอพะโต๊ะ อำเภอทุ่งตะโก อำเภอสวี รวม 27 ตำบล 277 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 20,062 ครัวเรือน จำนวน 67,016 คน มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 50,085,000 บาท ขณะนี้สถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว แต่การคมนาคมในหลายหมู่บ้านยังถูกตัดขาด รอการซ่อมบำรุงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เวลา 10.00 น.วันนี้ (6 ม.ค.55) พ.อ.ศรีศักดิ์ เลิศล้ำ รองผู้บังคับการจังหวัดทหารบกชุมพร เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ตั้ง “ครัวทหารเพื่อประชาชน” จัดทำอาหารวันละ 3 มื้อ บรรจุกล่องพร้อมน้ำดื่ม ส่งให้ผู้ประสบภัยที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟู โดยครัวทหารเพื่อประชาชนจะอยู่ที่อำเภอหลังสวน จนกว่าสถานการณ์เป็นปกติ
สำหรับสถานการณ์ขณะนี้เข้าสู่สภาวะเกือบปกติแล้ว ยกเว้น 5 หมู่บ้านของตำบลพ้อแดง และตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน ที่ยังมีน้ำท่วมขังผิวจราจร พื้นที่การเกษตร และที่อยู่อาศัย เฉลี่ยระดับน้ำสูงประมาณ 20 เซนติเมตร เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มรองรับน้ำจากตอนบน ก่อนจะไหลลงสู่ทะเล และบางช่วงมีน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้การไหลระบายของน้ำเป็นไปอย่างช้าๆ แต่คาดว่าอีกประมาณ 2 วัน จะเข้าสู่ภาวะปกติ
นอกจากนั้น ถนนลูกรังเส้นทางหลักเข้าไปยังหมู่ที่ 5 ตำบลพระรักษ์ อำเภอพะโต๊ะ ถูกกระแสน้ำกัดเซาะจนขาดหลายช่วงเป็นระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร รถทุกชนิดไม่สามรถใช้สัญจรได้ ประชาชนนับพันครัวเรือน การจราจรถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิง หากจะติดต่อกับโลกภายนอก ต้องเดินเท้าอย่างเดียว และหมู่ที่ 12 บ้านในกรัง ตำบลพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ สะพานไม้ข้ามแม่น้ำหลังสวนเชื่อมระหว่างหมู่บ้าน ถูกกระแสน้ำซัดจนขาด การสัญจรถูกตัดขาดนานกว่า 3 วัน ไม่สามารถส่งพืชผลทางการเกษตรออกไปจำหน่ายได้
สำหรับเส้นทางคมนาคม ตามชุมชน หมู่บ้านต่างๆ ที่ถูกตัดขาดยังใช้การไม่ได้อีกจำนวนมาก ขณะนี้กองทัพบกได้จัดส่งกำลังทหารช่าง จากจังหวัดราชบุรี เข้าสำรวจความเสียหายเตรียมนำอุปกรณ์พร้อมเครื่องจักรกลเข้าไปซ่อมแซมแล้ว