Skip to main content

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณาคใต้ (DSJ)

 f

แผนภาคใต้ แผนที่ระบุสถานที่ที่จะเกิดโครงการขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ภาคใต้ ภายใต้แผนพัฒนาภาคใต้

 

ประเด็น “แผนพัฒนาภาคใต้” กลายเป็นประเด็นที่ภาคประชาชนในภาคใต้ ติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดมานานหลายปีแล้ว กระทั่งผลักดันผ่านสมัชชาสุขภาพภาคใต้กลายเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2552 ให้รัฐบาลทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ทั้งหมด เพื่อจัดทำแผนพัฒนาภาคใต้ภาคใต้ที่ยั่งยืน

ถึงแม้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะรับลูกส่งต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ แต่การดำเนินการผ่านบริษัทที่ปรึกษา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนภาคใต้

ด้วยเหตุนี้การประชุมสมัชชาสุขภาพภาคใต้ และงานวิชาการ “ไอดิน กลิ่นใต้” พ.ศ.2555 ระหว่างวันที่ 13–15 มกราคม 2555 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ตรัง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง วาระสำคัญจึงอยู่ที่วาระการติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะมติให้ทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้

 

ความเป็นมา

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่หลักในการจัดทำแผนพัฒนาให้กับรัฐบาลทุกชุดตลอดมา ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้จัดทำร่าง “แผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน” (สิงหาคม 2551 โดยสำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาพื้นที่)

ต่อมา เป็นร่างแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ในเดือนกันยายน 2552 บนแนวคิดที่ให้พื้นที่ภาคใต้รองรับ “การพัฒนาอุตสาหกรรมและการบริการ” ที่ล้นมาจากนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจังหวัดระยอง โดยในหน้าที่ 1 ของร่างนี้ระบุว่า

“ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศึกษาความเหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เพื่อเตรียมรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการที่มีศักยภาพของประเทศไทยในอนาคต เนื่องจากพื้นที่ฐานเศรษฐกิจปัจจุบัน ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก เริ่มมีข้อจำกัดในการขยายตัวทั้งในเชิงพื้นที่และขีดความสามารถในการรองรับด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่พื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้จะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่ควรได้รับการพัฒนาให้เป็นพื้นที่ฐานเศรษฐกิจใหม่ของประเทศในอนาคต”

ในขณะที่สถานการณ์ในพื้นที่ เจ้าของโครงการได้ทำงานมวลชนสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่ หลายจังหวัดเพื่อตั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และท่าเรือน้ำลึก ทั้งในโซนชายฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ทำให้ชุมชนมีความสงสัยเกิดความแตกแยก ระหว่างกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการ โดยที่ชุมชนไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารของโครงการพัฒนา ที่เชื่อมโยงกับร่างแผนพัฒนาภาคใต้ ที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ร่วมกับโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) เครือข่ายชุมชนที่ประเมินผลกระทบทางสุขภาพในประเด็นแผนพัฒนาภาคใต้ และสมาคมดับบ้านดับเมือง มีความเห็นร่วมกันว่า

“การจัดทำแผนการพัฒนาดังกล่าว เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนขนาดใหญ่ต่างชาติ ที่เน้นการใช้ทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นแหล่งปิโตรเลียม แหล่งน้ำจืด รวมทั้งแรงงานราคาถูก เพื่อการส่งออกเป็นหลัก ทั้งๆ ที่คนไทยยังมีปัญหาด้านคุณภาพชีวิต คุณภาพการศึกษา เป็นต้นแต่ประเด็นเหล่านี้ ก็ไม่ปรากฏอยู่ในร่างแผนแม่บทดังกล่าว”

กลุ่มเครือข่ายดังกล่าว จึงได้นำปัญหานี้เข้าปรึกษาหารือในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 ซึ่งเป็นกระบวนการปรึกษาหารือตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็น “กระบวนการที่ให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเรียนรู้อย่างสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพหรือความมีสุขภาพของประชาชน โดยจัดให้มีการประชุมอย่างเป็นระบบและอย่างมีส่วนร่วม” โดย...

กังวลต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากแผนพัฒนาที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้ขึ้นรูปจากโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของภาคใต้ และไม่ได้พัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับผลผลิตที่มีอยู่ในภาคใต้ ทำให้มีแนวโน้มสร้างความขัดแย้งของสังคมมากขึ้น เนื่องจากผลของการพัฒนาภาคใต้ที่ผ่านมา รวมถึงทิศทางในอนาคตมีแนวโน้มการกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนไม่ทั่วถึง ผลประโยชน์ตกอยู่เฉพาะบางกลุ่มบางพื้นที่ เกรงว่าผลกระทบของการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ จะเป็นแบบเดียวกับภาคตะวันออก

ห่วงใยว่า เหตุการณ์เหล่านี้จะก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อรากฐานทางวัฒนธรรม และฐานทรัพยากรของภาคใต้

เห็นว่า ทิศทางการพัฒนาภาคใต้ควรสอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรม และศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของระบบนิเวศป่าฝนเขตร้อน ซึ่งเหมาะสมกับการทำการเกษตร ประมง การศึกษา และการท่องเที่ยวอันเป็นภูมิปัญญาที่คนใต้ได้สืบทอดต่อกันมา

รับทราบว่า ในขณะนี้มีประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ พ.ศ.2552 สมควรให้มีการเร่งรัดดำเนินการต่อไป

รับทราบว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 แต่งตั้งให้มีคณะกรรมการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมนิเวศ ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับประเทศ

ตระหนักว่า กระบวนการจัดทำแผนพัฒนาที่ยั่งยืน บนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจสังคมสิ่งแวดล้อมกรณีภาคใต้  ควรเป็นกระบวนการที่ให้ประชาชน และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาภาคใต้ได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเรียนรู้อย่างสมานฉันท์นำไปสู่การเสนอแนะนโยบายสาธารณะ เพื่อการมีสุขภาวะที่ดีของประชาชน โดยจัดให้มีกระบวนการร่วมกำหนดแผนพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นระบบ และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคี

 

ติดตามมติ

โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) ได้ประสานการจัดประชุมคณะทำงานวิชาการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เพื่อรวบรวมข้อมูลข้อเสนอทิศทางแผนพัฒนาภาคใต้อย่างยั่งยืนและการติดตามมติที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันดังนี้

1.ให้นำกรอบเอกสารหลักของมติสมัชชาสุขภาพประเด็นแผนพัฒนาที่ยั่งยืนภาคใต้ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2552 มาเป็นแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาที่ยั่งยืนภาคใต้ โดยมีข้อมูลศักยภาพพื้นที่ภาคใต้รองรับ

2.ให้นำเสนอต่อกรอบและทิศทางการทำแผนพัฒนาที่ยั่งยืนภาคใต้

 

เป้าหมาย

ชี้ศักยภาพพื้นที่ภาคใต้ทุกจังหวัด ทั้งในเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่

ชี้ภัยคุกคาม ที่ทำให้ศักยภาพพื้นที่ของจังหวัดถูกทำลาย

ชี้ว่าโครงการพัฒนาจากรัฐและกลุ่มทุน ตอบโจทย์ความต้องการจากภายนอก ไม่ใช่ตอบสนองจากคนภายในภาคใต้

 

สื่อสารกับสังคมเพื่อหาฉันทามติ

ต่อมา มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการประมวลข้อมูลและเอกสารในวันที่ 26–28 พฤศจิกายน 2554 ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผลของการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการได้นำไปเขียนเป็นเอกสาร และใช้ในการขับเคลื่อนของเครือข่ายประชาชน เพื่อนำไปดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดอย่างยั่งยืน โดยมีฐานข้อมูลศักยภาพพื้นที่และวางแผนพัฒนาจังหวัดเชิงระบบและเชิงพื้นที่ โดยใช้ประเด็นในเอกสารรับฟังความคิดเห็นไปพร้อมกัน โดยที่ประชุมเห็นร่วมกันให้แต่ละจังหวัดนำไปจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดที่ยั่งยืน และร่วมทำแผนพัฒนาภาคใต้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งมีทีมงานติดตามสถานการณ์ของโครงการพัฒนาต่างๆ

คณะทำงานวิชาการได้แลกเปลี่ยนกระบวนติดตามมติ โดยมีข้อเสนอดังนี้

สื่อสารกับสังคมเรื่องศักยภาพพื้นที่ภาคใต้ ที่เป็นจุดเด่นของการพัฒนาด้านการเกษตรและการแปรรูปการเกษตร การศึกษา และการท่องเที่ยว กำหนดเกณฑ์ตัวชี้วัดความสุขเป็นเกณฑ์ในการกำหนดแผนพัฒนาที่ยั่งยืน และหาฉันทามติในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพภาคใต้ ประชาชนและชุมชนในพื้นที่ขับเคลื่อนนำเสนอศักยภาพพื้นที่ในชุมชนและจังหวัด เพื่อจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดอย่างยั่งยืน เช่น จังหวัดชุมพร จังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล จังหวัดตรัง จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดปัตตานี เป็นต้น

ใช้วัฒนธรรมของคนใต้ในการปกป้องบ้านเกิด ผลักดันในกลไกของสมัชชาประชาชนต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนรณรงค์เผยแพร่ต่อสาธารณะ

 

มติสมัชชาสุขภาพแผนพัฒนาภาคใต้

มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 กรณีแผนพัฒนาที่ยั่งยืนภาคใต้ฯ ประกอบด้วย

ให้รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี พิจารณามอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทบทวนร่างแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืนและแผนพัฒนาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นแผนบูรณาการ มีหลักการสำคัญ ดังนี้

ให้เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาการศึกษาที่สร้างคนให้มีคุณภาพสู่สมดุลทางด้านสุขภาวะ

ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ตามความต้องการและความจำเป็นของท้องถิ่น โดยเป็นอุตสาหกรรมที่คำนึงถึงการรักษาฐานทรัพยากร ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตและสุขภาพชุมชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่น และการกระจายรายได้ควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ

ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าสมุนไพร พื้นที่ชุ่มน้ำ การส่งเสริมการเกษตรยั่งยืน และการพัฒนาระบบเศรษฐกิจพอเพียง

ให้ความสำคัญกับฐานความรู้ภูมินิเวศ เคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้เสนอความต้องการและมีส่วนร่วมในการกำหนดประเด็นในการพัฒนา

ทั้งนี้ขอให้รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้การดำเนินโครงการพัฒนาของภาครัฐและเอกชน คำนึงถึง ผลกระทบอย่างรอบด้าน และสร้างกลไกเพื่อพิจารณาข้อเสนอที่จะชะลอแผนงานและโครงการที่สร้างความขัดแย้ง และ/หรือมีผลกระทบต่อสังคมและชุมชน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อเปิดโอกาสในการสร้างฉันทามติร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย

ในการดำเนินการขอให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประสานคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคชุมชน ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบจากการพัฒนา ตั้งคณะกรรมการทบทวนร่างแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ด้วยการใช้เครื่องมือที่หลากหลาย มุ่งเน้นสนับสนุนการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน

ขอให้คณะกรรมการทบทวนร่างแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ผลักดันให้แผนฯได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งในระดับภาคและระดับท้องถิ่น มีกลไกการติดตามกำกับประเมินผล และเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบ

ขอให้รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้ และภาคอื่นๆ อย่างยั่งยืน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 20 กรกฎาคม 2553 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามมติดังกล่าว    โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ  

 

ผลการติดตามมติ

          วันที่ 15 กันยายน 2553 โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศ ผู้ประสานงานเฉพาะประเด็นแผนพัฒนาที่ยั่งยืนภาคใต้ ได้ส่งเรื่องไปยังเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้มีการติดตามและดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 มีข้อเสนอเชิงปฏิบัติคือให้ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะทำงานเฉพาะประเด็นแผนพัฒนาที่ยั่งยืนภาคใต้ มีศาสตราจารย์ดอกเตอร์สุรชัย หวันแก้ว เป็นประธาน เพื่อวางแผนกระบวนการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพต่อไป

          วันที่ 26 กันยายน 2553 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ส่งเรื่องไปยังประธานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กรณีแผนพัฒนาที่ยั่งยืนภาคใต้ เพื่อต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามมติคณะรัฐมนตรี

          วันที่ 17 ธันวาคม 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แถลงไว้ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2553 ณ ที่ห้องประชุมสำนักงานสหประชาชาติไว้ว่า

“รัฐบาลได้เรียนรู้จากบทเรียนครั้งนี้แล้ว เรียนรู้ว่าการพัฒนาจากนี้ไป เราจะต้องใช้ความระมัดระวังตั้งแต่ต้น และจึงเป็นเหตุผลให้รัฐบาลได้ตัดสินใจในขณะนี้ว่า การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ รวมไปถึงพื้นที่ซึ่งเคยมีการมองว่า จะมีการสนับสนุนให้มีการเกิดอุตสาหกรรมหนัก หรืออุตสาหกรรมที่มีมลพิษมากนั้น รัฐบาลได้ตัดสินใจอย่างชัดเจนว่า จะไม่มีการดำเนินการอย่างนั้น หลังจากที่ได้ใช้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่และในชุมชนต่างๆ”

          วันที่ 26 มีนาคม 2554 สมัชชาปฏิรูปประเทศไทยระดับชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ.2554 มีมติสมัชชาปฏิรูประดับชาติ มติ 2  ประเด็น “การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง” ในข้อ 2 ดังนี้

             “ขอให้คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปเสนอให้คณะรัฐมนตรี มีมติยกเลิกแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลทุกภาค หรือโครงการพิเศษใดๆ ที่กำหนดไว้  และที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน  และขอให้เร่งรัดการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2552 เรื่องแผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมกรณีภาคใต้ รวมทั้งจัดให้มีกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลทั่วทุกภาคของประเทศไทยขึ้นใหม่ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ผู้มีส่วนได้เสียประชาชนในพื้นที่ทุกเพศทุกวัยทุกเศรษฐฐานะ และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม”

          วันที่ 15 สิงหาคม 2554 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้ประสานงานการประชุมเพื่อตั้งกลไกติดตาม ผลสรุปการประชุม ประกอบด้วย...

หนึ่ง ศึกษาความเป็นไปได้ในการฟ้องศาลปกครอง กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไม่ปฏิบัติตามมติ

สอง จัดเวทีสาธารณะสร้างความเข้าใจร่วมกัน ระดมความคิดเห็นต่อการทำแผนพัฒนาจังหวัด กลไกของการขับเคลื่อนในจังหวัดกระจายในพื้นที่/จังหวัด ประสานงานร่วมกันหลายเครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายสภาพัฒนาการเมืองภาคใต้ สภาองค์กรชุมชนภาคใต้ เครือข่ายสุขภาพภาคใต้ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ และเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาในการขับเคลื่อนร่วมกัน จัดทำเป็นเอกสารหลักระดับภาค เข้าสู่เวทีสมัชชาต่างๆ เวทีสาธารณะในภาคใต้ และระดับประเทศ โดยมีทีมคณะทำงานวิชาการ ทำข้อมูลพื้นที่ ตามข้อเสนอนโยบายรายจังหวัด

วันที่ 4 กันยายน 2554 สภาพัฒนาการเมืองภาคใต้ ได้จัดประชุมร่วมกันหลายฝ่าย มีผลสรุปดังนี้

1) การทำแผนพัฒนาภาคประชาชนในจังหวัด

2) เสนอรัฐบาลยิ่งลักษณ์ระยะสั้นในการหยุดโครงการพัฒนา

3) มีทีมงานวิชาการจัดทำฐานข้อมูลประกอบ  โดยมีกระบวนการจากทุกภาคีร่วมดำเนินการ

4) มีกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาภาคใต้ที่ยั่งยืนและ เสนอโครงสร้างการกระจายอำนาจจัดการตนเอง

5) นัดประชุมวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๓.๐๐ น. ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และร่วมประชุมกับสมัชชาฏิรูปประเทศไทยในวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๔ ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีผู้เข้าร่วมประชุม คือแกนหลักประสานงานของแต่ละเครือข่าย และนำผลการปรึกษาหารือในจังหวัดมานำเสนอในวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๔

          วันที่ 22 กันยายน 2554 คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะทำงานเฉพาะประเด็น ประชุมหารือแนวทางขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประเด็นแผนพัฒนาที่ยั่งยืนภาคใต้ฯ สรุปว่าให้ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ปฏิบัติตามมติ

          วันที่ 2 ตุลาคม 2554 ที่ประชุมเห็นร่วมกันให้แต่ละจังหวัดนำไปจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดที่ยั่งยืน และร่วมทำแผนพัฒนาภาคใต้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งมีทีมงานติดตามสถานการณ์ของโครงการพัฒนาต่างๆ

          วันที่ 27–28 พฤศจิกายน 2554 ทีมงานคณะทำงานวิชาการร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำเอกสารข้อมูลศักยภาพพื้นที่ภาคใต้ ร่างข้อเสนอในการติดตามมติแผนพัฒนาที่ยั่งยืนภาคใต้ฯ และข้อเสนอในการสื่อสารกับสังคม และการขับเคลื่อนในทางสาธารณะ

 

ปัญหาและอุปสรรคการขับเคลื่อนมติ

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553–ต้นปี 2554 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไม่ได้ดำเนินการตามมติดังกล่าว แต่ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา Consultant of Technology (COT) จัดทำโครงการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ วงเงิน 4 ล้านบาท และได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการศึกษาเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ภายใต้โครงการศึกษาวางแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ โดยเน้นที่โครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา–สตูล ในวงเงิน 5 ล้านบาท

ทั้งสองหน่วยงานได้ดำเนินการกระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยจัดเวทีระดับจังหวัดในภาคใต้ เมื่อต้นปี 2554 อ้างว่าปฏิบัติตามมติสมัชชาสุขภาพแล้ว ทั้งๆ ที่ในบางจังหวัดเครือข่ายประชาชนด้านสุขภาพที่ติดตามเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน กลับถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วม จากการกระทำของสองหน่วยงานภายใต้การว่าจ้างของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษบกิจและสังคมแห่งชาติดังกล่าว ทำให้ประชาชนและชุมชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย และคัดค้านการจัดเวที เพราะไม่สอดคล้องกับมติสมัชชาฯ ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว

 

ข้อเสนอ

ให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาภาคใต้อีกชุด ประกอบด้วย ผู้แทนจากสถาบันการศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สภาองค์กรชุมชน สภาพัฒนาการเมือง สมัชชาปฏิรูป เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ สมาคมสื่อสิ่งพิมพ์ ผู้แทนจากจังหวัด หอการค้า อุตสาหกรรมจังหวัด การท่องเที่ยว ผังเมือง

ให้คณะกรรมการชุดนี้ มีบทบาทหน้าที่ในการจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาภาคใต้ ภายใต้บริบทและความสอดคล้องกับความต้องการของคนภาคใต้ และให้นำเสนอแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาภาคใต้ที่จัดทำขึ้นเสนอไปยังรัฐบาล คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาภาคใต้ ทั้งนี้เพื่อให้มีการทบทวน ปรับแผน และเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบาย แผน  และโครงการของกระทรวงต่างๆ ที่จะดำเนินการในภาคใต้ให้สอดคล้องกับความต้องการของคนใต้ และมีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนากลไกการชะลอแผนงาน และโครงการที่อาจสร้างความขัดแย้ง และ/หรือมีผลกระทบต่อสังคมและชุมชนทั้งปัจจุบันและอนาคต

แผนแม่บทเพื่อการพัฒนาภาคใต้ มีหลักการสำคัญ เพื่อ “ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ร่วมสร้างสุขภาวะที่เป็นสุข” และมีหลักการสำคัญ 5 ข้อ ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 ทั้งนี้จะต้องมีตัวชี้วัดของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับข้อเสนอของสหประชาชาติ ดังต่อไปนี้

1.มีการพัฒนาระบบเศรษฐกิจสีเขียว ที่มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

2.มีมาตรฐานการครองชีพที่ทุกครอบครัวมีรายได้พึ่งตนเอง และมีสภาพการดำรงชีวิตตามอัตภาพของแต่ละครอบครัวและชุมชนที่เป็นสุข

3.มีธรรมาภิบาลในการปกครองตนเอง ในระดับตำบล จังหวัด ภาค และระดับประเทศ

4.มีระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์

5.มีการเคารพวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และความแตกต่างในทางเชื้อชาติและศาสนา

6.มีระบบการศึกษาที่พัฒนาคนให้รู้เท่าทัน คิดเป็น และปฏิบัติการเป็น โดยตระหนักถึงความรู้ของชุมชนและสังคมไทย พร้อมทั้งพัฒนาความรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาสุขภาวะที่ดีในทุกระดับ

7.มีการใช้เวลาอย่างมีคุณค่าและสมดุลกับการใช้ชีวิตครอบครัวและชุมชน ในสิ่งแวดล้อมที่ดี

8.มีความเข้มแข็งของชุมชนที่พึ่งตนเองได้ โดยรู้คุณค่าและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัด และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่

9.มีระบบสาธารณสุขที่พึ่งตนเองได้จากดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านและมีระบบของรัฐที่รองรับได้อย่างเพียงพอ

 

กลไกชะลอแผนงานและโครงการ

กลไกการชะลอแผนงานและโครงการที่อาจสร้างความขัดแย้ง และ/หรือมีผลกระทบต่อสังคมและชุมชนทั้งปัจจุบันและอนาคต เป็นกลไกที่สอดคล้องกับหลักการต่อไปนี้

1.อยู่บนหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ 12 สิทธิชุมชน หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ส่วนที่ 10 แนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น

2.เป็นไปตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 11 บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิร้องขอให้มีการประเมินและมีสิทธิร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะ บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิได้รับรู้ข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐ ก่อนการอนุญาตหรือดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของตน หรือชุมชน และแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว

3.ให้ใช้หลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment/HIA) และเครื่องมืออื่นๆ ในการประเมินผลกระทบ ตลอดจนกระบวนการรวมพลังทุกภาคส่วน และการดำเนินการตามระบบยุติธรรม เป็นกลไกการชะลอแผนงาน และโครงการที่อาจสร้างความขัดแย้ง และ/หรือมีผลกระทบต่อสังคมและชุมชนทั้งปัจจุบันและอนาคต

 

ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับติดตามการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติแผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้ โดยสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานเพื่อกำกับ ติดตาม และการรายงานผลการดำเนินการตามมติ