อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
เวทีเสวนาทางวิชาการ “กระบวนการสันติภาพในเอเชีย เปิดบทเรียนเจรจาใน 3ประเทศ ฟิลิปปินส์ก้าวหน้าสุด เตรียมรับ รัฐย่อย ‘มินดาเนา’
Mr. Emran G. Mohamad
เมื่อเวลา 09.00-16.00 น.วันที่ 12 มกราคม 2555 ที่ห้องมะปราง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี มูลนิธิทรัพยากรเอเชีย/เครือข่ายมุสลิมเอเชีย และคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี จัดโครงการเสวนาทางวิชาการ “กระบวนการสันติภาพในเอเชีย” มีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน
Mr. Emran G. Mohamad จากมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า การเจรจาครั้งล่าสุดระหว่างนายนอย นอย อาคีโน่ ประธาณาธิบดีฟิลิปปินส์กับนายมูราด อิบราฮิม หัวหน้าขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโร เมื่อปีที่แล้วที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นการเจรจาครั้งประวัติศาสตร์ เพราะยังไม่เคยมีผู้นำสูงสุดของทั้ง 2 ฝ่ายมาเจรจา โดยฝ่ายขบวนการขอให้มินดาเนาเป็นรัฐย่อย(Sub State)ในฟิลิปปินส์
Mr. Emran กล่าวว่า ในการเจรจาดังกล่าว ขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโร มีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล 3 ข้อ คือ ขอให้มิดาเนาะมีอำนาจในการพัฒนาพื้นที่ได้ด้วยตัวเอง ขอให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีการทางการเมือง และขอให้เขียนเนื้อหาประวัติศาสตร์มิดาเนาในตำราเรียนด้วย
Mr. Emran กล่าวว่า แม้ขณะนี้ยังไม่มีการตอบสนองจากฝ่ายรัฐบาลฟิลิปปินส์ แต่มีท่าทีผ่อนคลายขึ้น และไม่มีการสู้รบตามมาเหมือนกับการเจรจาในอดีต ส่วนเหตุที่ยังไม่เอื้อให้เกิดรัฐย่อยดังกล่าว เนื่องจากรัฐธรรมนูญของฟิลิปปินส์ยังไม่เปิดโอกาส
Mr. Jiten Yumnam นักสันติวิธี จากเมืองมานีปู ประเทศอินเดีย กล่าวว่า ความขัดแย้งในของมานีปูร์ เกิดขึ้นหลังจากอังกฤษให้เอกราชกับอินเดีย โดยรัฐบาลอินเดียบังคับให้กษัตริย์ของมานีปูร์ลงนามในสัญญาว่าจะอยู่ภายใต้อินเดีย ทำให้คนมานีปูร์ไม่พอใจจนเกิดขบวนการเรียกร้องเอกราชขึ้นมา รัฐบาลอินเดียจึงส่งกำลังเข้ามาปราบปรามภายใต้ใช้กฎหมายพิเศษ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิและการสังหารหมู่ประชาชนมานีปูร์หลายครั้ง แต่ไม่สามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้
Mr. Jiten กล่าวว่า ชาวมานีปูร์พยายามเรียกร้องเอกราชจากอินเดีย โดยระบุว่าสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลอินเดียกับกษัตริย์มานีปูร์เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม โดยมีการต่อสู้โดยสันติวิธี แต่กลับถูกปราบปรามจากรัฐบาลอินเดียอย่างหนัก ขณะเดียวกันรัฐบาลอินเดียยังได้ยึดทรัพยากรของมานีปูร์ไปด้วย
Mr. Jiten กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการเจรจาเพื่อแก้ปัญหากันหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากแต่ละฝ่ายก็ไม่ยอม เนื่องจากรัฐบาลอินเดียต้องการให้มานีปูร์อยู่ภายใต้ปกครอง ขณะที่มานีปูร์เองก็ต้องการเป็นอิสระ ปัญหาความขัดแย้งก็ยังคงมีอยู่ แม้ว่า มีการทำประชามติตามข้อเสนอของกลุ่มเรียกร้องเอกราช ซึ่งผลออกมาปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่ต้องการแยกเป็นอิสระ แต่รัฐบาลอินเดียไม่ยอมรับผลการทำประชามติดังกล่าว
Mr. Mushtaq จากแคว้นแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย กล่าวว่า สหประชาชาติเข้ามาแก้ปัญหาแคว้นแคชเมียร์โดยสั่งให้ทั้งรัฐบาลปากีสถานและอินเดียถอนทหารของจากพื้นที่ที่แต่ละฝ่ายยึดครองในแคว้นแคชเมียร์ทั้งหมด แต่อินเดียปฏิเสธ อ้างว่าสหประชาชาติไม่มีศักยภาพพอ ทำให้ประเทศสมาชิกไม่ยอมทำตาม จึงเกิดขบวนการต่อสู้กับการยึดครองของอินเดียขึ้นมา แต่รัฐบาลอินเดียระบุว่า ไม่สามารถให้อิสระกับแคชเมียร์ได้ เพราะจะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ
Mr. Mushtaq กล่าวว่า ชาวแคชเมียร์มีข้อเสนอต่อรัฐบาลอินเดีย 5 ข้อ คือ ให้ยกระดับปัญหาความขัดแย้งในแคชเมียร์ขึ้นสูงนานาชาติ เพื่อให้ต่างประเทศเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ให้ถอนกำลังทหารออกให้หมด ให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษที่ใช้ในแคชเมียร์ทั้งหมดและปกป้องชีวิตประชาชน นำผู้กระทำผิดมาลงโทษ และให้นิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าว ก็ยังไม่ไปถึงไหน เพราะไม่มีตัวกลางในการเจรจาระหว่างรัฐบาลอินเดียกับขบวนการต้อสู้ในแคชเมียร์
Mr. Kamaruzzaman Bustamam Ahmad จากบันดา อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า กลุ่มขบวนการต่อสู้กับรัฐบาลอินโดนีเซียมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ต้องการให้ใช้กฎหมายอิสลามบริหารอาเจะห์กับกลุ่มที่ต้องการเอกราชจากอินโดนีเซีย คือ ขบวนการ GAM ช่วงหลังเหลือแต่ขบวนการ GAM ปัจจุบันกลุ่มนี้ได้เข้ามาต่อสู้ทางการเมืองโดยลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด
Mr. Kamaruzzaman กล่าวว่า หลังการทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลกับขบวนการ GAM เมื่อปี 2004 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 4 ประการ คือ จากขบวนการจับอาวุธกลายเป็นพรรคการเมืองอาเจะห์ จากการจับอาวุธมาเป็นการต่อสู้ในสภา จากการโฆษณาชวนเชื่อมาเป็นอำนาจบริหาร เป็นจากยุควางระเบิดมาสู่ยุคการพัฒนา