อารีด้า สาเม๊าะ ฮัสซัน โตะดง มีณา เหตุหาก โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
คนใต้ประสานเสียง ไม่เอาเมกะโปรเจ็กต์ “ชาวท่าศาลา” ยันพร้อมปกป้องแหล่งอาหารโลก โต้ EIA เชฟรอน บิดเบือนข้อมูล คนสตูลระบุท่าเรือน้ำลึกปากบาราเกิดเมื่อไหร่ ตรัง สตูล สงขลา เจอผลกระทบเต็มๆ ชี้ขุมทรัพย์เมืองสตูลมีหลากหลาย อยู่ได้ยั่งยืน
ไม่เอา – ตัวแทนจากจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ ขึ้นเวทีร่วมกับนักวิชาการ ประกาศไม่เอาเมกะโปรเจ็กต์ ที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาภาคใต้
เมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 13 มกราคม 2555 ที่โรงแรมเรือรัษฎา อำเภอเมืองตรัง เครือข่ายสุขภาพภาคใต้ ได้จัดงานสมัชชาสุขภาพภาคใต้เป็นวันแรก ด้วยการเสวนาวิชาการเรื่องแผนพัฒนาภาคใต้กับทางเลือกการพัฒนาภาคใต้แผนพัฒนาที่ยั่งยืน วิทยากรประกอบด้วย นายเจริญ โต๊ะอิแต ชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดนครศรีธรรมราช นายไกรวุฒิ ชูสกุล ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจังหวัดสตูล นายทวีวัตร เครือสาย ตัวแทนภาคประชาสังคมจังหวัดชุมพร นางวันสุรีย์ พรหมภัทร ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ น.ส.ภารณี สวัสดิรักษ์ นักผังเมืองเพื่อสังคม
นายเจริญ กล่าวว่า ขณะนี้มีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นที่ชายฝั่งอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราชหลายโครงการ ส่งผลให้ชาวประมงต้องลุกขึ้นมาปกป้องระบบนิเวศน์ ร่วมกันเก็บข้อมูลทางทะเลนำไปผนวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่น นำไปต่อสู้กับนโยบายของรัฐ ชาวอำเภอท่าศาลาจะปกป้องแหล่งอาหารหน้าบ้านให้เป็นแหล่งอาหารของชาวโลก จะไม่ยอมให้โครงการขนาดใหญ่ทำลาย เป็นที่น่าสังเกตว่า ในรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างท่าเรือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่อำเภอท่าศาลา ข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับชุมชนขาดหายไป เช่น ระบุว่าพื้นที่ที่จะใช้สร้างท่าเรือเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ขณะที่ข้อเท็จจริงเป็นแหล่งที่ชาวประมงใช้ประโยชน์เต็มพื้นที่ เป็นต้น
นายไกรวุฒิ กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดสตูลมี 2 ยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์แรกคือ ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทย–ประเทศมาเลเซีย และจังหวัดสตูล–จังหวัดตรัง ยุทธศาสตร์ที่ 2 เป็นยุทธศาสตร์ที่ไม่ชอบมาพากลคือ ยุทธศาสตร์ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ยุทธศาสตร์นี้มีการเติบโตของการท่องเที่ยวจังหวัดสตูลขวางอยู่
นายไกรวุฒิ กล่าวต่อไปว่า ถ้าหากมีการก่อสร้างท่าเรือปากลบารา จะส่งผลกระทบถึง 3 จังหวัดคือ จังหวัดตรัง จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา เริ่มจากต้องเพิกถอนอุทยานแห่งชาติเกาะเภตรา ที่มีพื้นที่ครอบคลุมจังหวัดตรังถึง 4,700 ไร่ ต้องระเบิดภูเขาใน 3 อำเภอของสตูล เพื่อนำหินมาถมทะเล ต้องใช้ทรายก่อสร้างท่าเรือจากจังหวัดสงขลา ต้องมีโครงการต่อเนื่อง ได้แก่ รถไฟรางคู่ คลังน้ำมัน ในพื้นที่จังหวัดสตูล 5,000 ไร่ และที่จังหวัดสงขลา 10,000 ไร่
นายไกรวุฒิ กล่าวอีกว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นโครงการที่นำความแตกแยกมาสู่ชุมชน ระหว่างคนในชุมชนที่ตระหนักถึงผลกระทบที่คนในชุมชนได้รับ กับคนในชุมชนที่รับข้อมูลด้านเดียวจากภาครัฐ หรือจากเจ้าของโครงการ เพื่อลดความขัดแย้งภายในชุมชน รัฐจะต้องเปิดเผยความจริงทั้งหมด
“ขณะนี้ภาคประชาชนกำลังทำแผนพัฒนาจังหวัดสตูลที่ยั่งยืน นำเสนอจุดเด่นของจังหวัดสตูล เช่น ความสมบูรณ์ของป่าเทือกเขาบรรทัด ความสวยงามของอุทยานแห่งชาติเกาะเภตรา ที่กินอาณาบริเวณครอบคลุมจังหวัดตรังและจังหวัดสตูล อุทยานแห่งชาติตะรุเตาแหล่งดำน้ำที่สวยงามที่สุดของประเทศ อำเภอละงูแหล่งฟอสซิลสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะเดียวกันเกาะตะรุเตายังมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ เพราะเป็นแหล่งให้กำเนิดดิกชันนารีไทย–อังกฤษ และอังกฤษ–ไทย ของนายสอ เสถบุตร อดีตนักโทษการเมือง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทรัพยากรสำคัญของจังหวัดสตูล ที่จะทำให้ชาวจังหวัดสตูลสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน” นายไกรวุฒิ กล่าว
นางวันสุรีย์ กล่าวว่า ภาคใต้เป็นพื้นที่เล็กๆ ที่มีขีดความสามารถเป็นแหล่งอาหารเลี้ยงคนทั้งโลกได้ ตนเคยลงไปศึกษาความเหมาะสมในการตั้งนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดหนึ่งของภาคใต้ ถูกชาวบ้านกล่าวหาว่ารับจ้างนายทุนเข้าไปศึกษา ตนจึงตั้งคำถามกับชาวบ้านว่า การตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะทำให้ชาวบ้านมีความสุขหรือไม่ จากคำถามดังกล่าว ทำให้ในที่สุดโครงการตั้งนิคมอุตสาหกรรมต้องยุติ โครงการพัฒนาที่จะลงมาในพื้นที่ใดก็ตาม ต้องมีคำตอบชัดเจนว่า โครงการนั้นทำให้ชุมชนมีความสุขได้อย่างไร
นพ.ไพศาล เกื้ออรุณ สาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าวว่า แผนพัฒนาระดับชาติ ระดับประเทศ และระดับจังหวัด ควรตอบได้ว่าไม่ได้ทำลายความสุขของมนุษย์ การนำพาสังคมไปข้างหน้า ไม่ว่าโดยภาครัฐ ภาควิชาการ หรือภาคประชาสังคม จะต้องไม่มีการปกปิดข้อมูล ทุกฝ่ายต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เท่าเทียมกัน และมั่นใจในภาคีทุกส่วน
น.ส.ภารณี กล่าวว่า ที่ผ่านมาแผนพัฒนาภาคใต้ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ จึงทำให้คนไม่มีความสุข จากการทำแผนชุมชนของคนในจังหวัดนครศรีธรรมราช แสดงให้เห็นว่าชุมชนมีความสุขที่ได้จัดทำแผนพัฒนาด้วยตัวเอง ขนาดของแผนพัฒนาจะใหญ่หรือเล็ก จึงไม่สำคัญเท่ากับว่าประชาชนมีความสุขกับการพัฒนาตามแผนนั้นหรือไม่ การจัดทำแผนพัฒนาจะต้องดำเนินการด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วม ต้องไม่กระทบต่อปัจจัย 4 โดยเฉพาะไม่กระทบกับแหล่งอาหารของชุมชน ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งต้องคำนึงถึงว่า จะมีผลกระทบต่อพหุวัฒนธรรมอย่างไรหรือไม่ จะทำอย่างไรให้แผนพัฒนาภาคใต้ อยู่ร่วมกับพหุวัฒนธรรมและพหุภาคีได้ ภายใต้หลักธรรมาภิบาล ที่ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ทุกฝ่ายเข้าถึงข้อมูล เข้าถึงข้อเท็จจริง มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
“การจัดทำแผนพัฒนาใดๆ ก็ตาม ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งได้ แต่ต้องต่อสู้กันด้วยข้อมูลความรู้ แสดงให้เห็นว่า แผนที่กำหนดขึ้นมามีประโยชน์หรือไม่อย่างใด ความเห็นที่แต่ละฝ่ายแสดงออกมา ไม่ควรตั้งอยู่บนความชอบ หรือไม่ชอบโครงการใดโครงการหนึ่ง” น.ส.ภารณี กล่าว
นายทวีวัตร กล่าวว่า จังหวัดชุมพรเป็นอีกจังหวัดหนึ่ง ที่มีโครงการขนาดใหญ่ลงพื้นที่ ตั้งแต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน เขื่อน อุตสาหกรรมเหล็ก ส่งผลให้ชาวบ้านในรอำเภอละแม อำเภอปะทิว อำเภอสวี และอำเภอท่าแซะ รวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหว เนื่องจากเกรงจะกระทบกับวิถีชีวิต และภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจหลักของชาวชุมพร เคยมีการชุมนุมคัดค้านพร้อมกับเชิญนายถาวร เสนเนียม ขณะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มารับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน ต่อมาก็ได้เข้าร่วมปฏิบัติการเพชรเกษม 41 จัดเวทีคู่ขนานกับการแถลงนโยบายของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อบอกกับรัฐบาลว่า คนภาคใต้ไม่ต้องการโครงการขนาดใหญ่
นายทวีวัตร กล่าวต่อไปว่า การต่อสู้ของชาวจังหวัดชุมพรใช้ 3 กลไกหลัก กลไกแรกเคลื่อนไหวผ่านกิจกรรมสุขภาวะ กลไกที่สองใช้สิทธิชุมชนผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การจัดทำร่างผังเมืองร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตชุมพร และการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น กลไกที่สาม สื่อสารผ่านนักข่าวพลเมือง นำเสนอประเด็นสู่สาธารณชนให้ได้มากที่สุด