โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพ ตั้งกรรมการทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ ชี้เหตุสภาพัฒน์ไม่ทำตามมติ จี้รัฐปรับแก้อีกรอบ
กิตติภพ สุทธิสว่าง
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 14 มกราคม 2554 ที่ห้องลิบง ตึกรัษฎา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ตรัง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง มีการประชุมสมัชชาสุขภาพภาคใต้ ในระเบียบวาระติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 แผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้ มีผศ.สอรัฐ มากบุญ ประธานคณะทำงานวิชาการ เครือข่ายสุขภาพภาคใต้ เป็นประธาน มีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน
นางศยามล ไกยูรวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) ในฐานะคณะทำงานวิชาการ รายงานต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้มีรายงานการศึกษาเรื่องการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2554 โดยว่าจ้างบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด เป็นที่ปรึกษา และให้สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำโครงการเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเมื่อครั้งบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ได้ระบุในเอกสารโครงการว่า เป็นการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2552 แต่วิธีการดังกล่าว ไม่เป็นไปตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งดังกล่าว ที่ตั้งคณะกรรมการทบทวนร่างแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน
นางศยามล รายงานต่อไปว่า เพื่อติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 คณะทำงานวิชาการ เครือข่ายสุขภาพภาคใต้ มีข้อเสนอเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณา ได้แก่ ให้ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพภาคใต้และคณะกรรมการสุขภาพภาคใต้ ตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาภาคใต้อีกชุดหนึ่ง เพื่อทบทวน ปรับปรุงทุกแผนพัฒนาเสนอไปยังรัฐบาล คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทบทวนปรับแผน และเป็นแนวทางกำหนดนโยบาย แผน และโครงการของกระทรวงต่างๆที่จะดำเนินการในภาคใต้ให้สอดคล้องกับความต้องการของคนใต้
นางศยามล รายงานต่อไปว่า คณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วย ผู้แทนจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และภาควิชาการ ในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยให้คณะกรรมการชุดนี้มีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายของรัฐ
นายกิตติภพ สุทธิสว่าง จากเครือข่ายชาวจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวในที่ประชุมว่า ตนได้อ่านรายงานการศึกษาเรื่องการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ฉบับดังกล่าวมาแล้ว พบว่า ยังไม่มีอะไรแต่ต่างจากแผนพัฒนาภาพใต้ฉบับที่ผ่านๆ มา เนื่องจากรายงานฉบับนี้ระบุให้พื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันเป็นพื้นที่พัฒนาด้านการท่องเที่ยว ยกเว้นพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน ซึ่งจะต้องมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมตามมา จึงยังมีเนื้อหาที่ตรงกันข้ามกับความเห็นของสมัชชาสุขภาพที่ต้องการให้มีการพัฒนาภาคใต้อย่างยังยืนสอดคลองกับความต้องการของคนในภาคใต้
ว่าที่ร.ต.กำพล จิตตะนัง ผู้ประสานงานศูนย์จัดการภัยพิบัติจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า เมื่อยังไม่มีการทำตามมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2552 ที่ให้ตั้งคณะกรรมการทบทวนร่างแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ก็ควรตั้งกลไกในการผลักดันให้มีการทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้อีกต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทบทวนหรือทบทวนปรับแผนพัฒนาภาคใต้
ที่ประชุมจึงได้เสนอให้คณะกรรมการชุดนี้ มีกลไก เฝ้าระวังเพื่อการพัฒนาภาคใต้ภายใต้บริบทและความสอดคล้องกับความต้องการของคนใต้ รวมทั้งมีบทบาทในการพัฒนากลไกการชะลอแผนงานและโครงการที่อาจสร้างความขัดแย้งหรือมีผลกระทบต่อสังคมและชุมชนทั้งปัจจุบันและอนาคต