Skip to main content

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

           h

ต้าน เครือข่ายสุขภาพภาคใต้เดินหน้าต้านเมกะโปรเจ็กต์ ภายใต้แผนพัฒนาภาคใต้ ลงมติในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพภาคใต้ ให้ตั้งกรรมการจากพหุภาคีทำแผนพัฒนาภาคใต้ 

 

มาถึงวันนี้ งาน “สมัชชาสุขภาพภาคใต้” กลายเป็นอีกงานใหญ่ประจำปีของกลุ่มกิจกรรมใน 14 จังหวัดภาคใต้ ที่รวมตัวกันในนาม “”เครือข่ายสุขภาพภาคใต้”

คราวนี้ “เครือข่ายสุขภาพภาคใต้” จัดงาน “สมัชชาสุขภาพภาคใต้” ระหว่างวันที่ 13–15 มกราคม 2555 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ใต้ จังหวัดตรัง

ที่ประชุมที่มีแกนนำเครือข่ายจากจังหวัดต่างๆ เดินทางเข้าร่วมกันอย่างคับคั่งหลายร้อยคน ร่วมกันพิจารณาและลงมติในหลากหลายประเด็น ซึ่ง  “โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้” จะนำรายละเอียดในแต่ละมติมานำเสนอเรียงเป็นรายประเด็น ดังต่อไปนี้

 

……………………………………………………..

 

มติการติดตามมติและข้อเสนอเพื่อการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ. ศ. 2552

กรณี “แผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้”

 

1.ให้คณะรัฐมนตรีสั่งการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ดำเนินการติดตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 ในประเด็น “แผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเอง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้” ทุกข้อ

2.ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาทบทวนแผนงานและชะลอโครงการที่อาจสร้างความขัดแย้ง และ/หรือมีผลกระทบต่อสังคมและชุมชนทั้งปัจจุบันและอนาคต โดยการดำเนินงานของคณะกรรมการต้องสอดคล้องกับหลักการต่อไปนี้

2.1 อยู่บนหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ 12 สิทธิชุมชน หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ส่วนที่ 10 แนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น

2.2 เป็นไปตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 11 บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิร้องขอให้มีการประเมินและมีสิทธิร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ จากนโยบายสาธารณะบุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิได้รับรู้ข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐ ก่อนการอนุญาตหรือดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของตนหรือชุมชน และแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว

2.3 ให้ใช้หลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment/HIA) และเครื่องมืออื่นๆ ในการประเมินผลกระทบ ตลอดจนกระบวนการรวมพลังทุกภาคส่วน และการดำเนินการตามระบบยุติธรรมเป็นกลไกการชะลอแผนงานและโครงการที่อาจสร้างความขัดแย้ง และ/หรือมีผลกระทบต่อสังคมและชุมชนทั้งปัจจุบันและอนาคต

3.ให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการขับเคลื่อนตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประเด็น “แผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม   กรณีภาคใต้” มติสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยครั้งที่ 1 พ.ศ.2554 มีมติสมัชชาปฏิรูประดับชาติมติ 2 ประเด็น “การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง”   และให้รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีรายงานผลการติดตามมติและข้อเสนอ เพื่อการขับเคลื่อนมตินโยบายแผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเอง ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้

4.ให้ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพภาคใต้ แต่งตั้งคณะกรรมการอีกชุดหนึ่ง ทำหน้าที่ในการจัดทำแผนแม่บท เพื่อการพัฒนาภาคใต้ที่ยั่งยืน ให้สอดคล้องกับความต้องการของคนภาคใต้ ทบทวนร่างแผนพัฒนาภาคใต้ ที่จัดทำโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเป็นกลไกในการเฝ้าระวังโครงการที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชน และให้นำเสนอแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาภาคใต้ ที่จัดทำขึ้นเสนอที่ประชุมสมัชชาสุขภาพภาคใต้ และระดับชาติ เพื่อเสนอไปยังรัฐบาลให้ดำเนินการต่อไป

4.1 คณะกรรมการตามข้อ 4 ประกอบด้วย ผู้แทนจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และภาควิชาการ ในสัดส่วนที่เหมาะสม ทั้งนี้ ภาคประชาชนต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

4.2 ให้สถาบันการจัดการระบบสุขภาพ ร่วมกับโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการในการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 4

               5.แผนแม่บทเพื่อการพัฒนาภาคใต้ มีหลักการสำคัญ เพื่อ “ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ร่วมสร้างสุขภาวะที่เป็นสุข” และมีหลักการสำคัญ 5 ข้อ ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 ทั้งนี้จะต้องมีตัวชี้วัดของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับข้อเสนอของสหประชาชาติ ดังต่อไปนี้

5.1 มีการพัฒนาระบบเศรษฐกิจสีเขียว ที่มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

5.2 มีมาตรฐานการครองชีพที่ทุกครอบครัวมีรายได้พึ่งตนเอง และมีสภาพการดำรงชีวิตตามอัตภาพ

ของแต่ละครอบครัวและชุมชนที่เป็นสุข

5.3 มีธรรมาภิบาลในการปกครองตนเองในระดับตำบล จังหวัด ภาค และระดับประเทศ

5.4 มีระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์

5.5 มีการเคารพวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ และความแตกต่างในทางเชื้อชาติ และศาสนา

5.6 มีระบบการศึกษาที่พัฒนาคนให้รู้เท่าทัน คิดเป็น และปฏิบัติการเป็น โดยตระหนักถึงความรู้ของ

ชุมชนและสังคมไทย  พร้อมทั้งพัฒนาความรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาสุขภาวะที่ดีในทุกระดับ

5.7 มีการใช้เวลาอย่างมีคุณค่าและสมดุลกับการใช้ชีวิตครอบครัวและชุมชน ในสิ่งแวดล้อมที่ดี

5.8 มีความเข้มแข็งของชุมชนที่พึ่งตนเองได้ โดยรู้คุณค่าและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่าง

ประหยัด และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่

5.9 มีระบบสาธารณสุขที่พึ่งตนเองได้ จากการดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน และมีระบบของรัฐที่รองรับได้อย่างเพียงพอ

6. ให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานปฏิรูป และภาคีเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนกระบวนการทำแผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนาภาคใต้ที่ยั่งยืน ตามข้อ 4 โดยสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง