Skip to main content

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

           กแ

มาถึงวันนี้ งาน “สมัชชาสุขภาพภาคใต้” กลายเป็นอีกงานใหญ่ประจำปีของกลุ่มกิจกรรมใน 14 จังหวัดภาคใต้ ที่รวมตัวกันในนาม “”เครือข่ายสุขภาพภาคใต้” ไปแล้ว

คราวนี้ “เครือข่ายสุขภาพภาคใต้” จัดงาน “สมัชชาสุขภาพภาคใต้” ระหว่างวันที่ 13–15 มกราคม 2555 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ใต้ จังหวัดตรัง

ที่ประชุมที่มีแกนนำเครือข่ายจากจังหวัดต่างๆ เดินทางเข้าร่วมกันอย่างคับคั่งหลายร้อยคน ร่วมกันพิจารณาและลงมติในหลากหลายประเด็น ซึ่ง  “โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้” ขอนำรายละเอียดในแต่ละมติมานำเสนอเรียงเป็นรายประเด็น ดังต่อไปนี้

 

……………………………………………………..

 

การติดตามมติและข้อเสนอเพื่อการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 1 พ. ศ. 2551–ครั้งที่ 2 พ.ศ.2552

นโยบายแห่งชาติเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

การจัดรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นแบบใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

1.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ตราพระราชบัญญัติจัดตั้ง “ทบวงการบริหารการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” (Southern Border Provinces Development Administration Bureau--SBPDAB) ฐานะเทียบเท่ากระทรวง แต่เป็นการปกครองส่วนภูมิภาคและการบริหารงานส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษ โดยมีรัฐมนตรีทบวงเป็นผู้ดูแลนโยบาย ส่วนในระดับข้าราชการประจำ มีปลัดทบวง รองปลัดทบวง และผู้อำนวยการเขต ทำหน้าที่ดูแลในแต่ละพื้นที่ในฐานะข้าราชการส่วนภูมิภาคแบบพิเศษ ควบคู่ไปกับองค์กรปกครองท้องถิ่นในทุกระดับสำหรับเป็นองค์กรประสานงานการบริหารและการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในลักษณะคล้ายกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อเป็นองค์กรหลักที่มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการและการแก้ปัญหานโยบายในการบริหารในจังหวัดภาคใต้ และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนที่รวมพลังภาคประชาสังคม ภาคท้องถิ่น และภาครัฐเข้าด้วยกัน

ผลการพิจารณา  

ขณะนี้มีการศึกษารูปแบบการปกครองพิเศษที่เหมาะกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 6 รูปแบบ ดังต่อไปนี้

ก.       ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)–คงท้องถิ่นเดิม

ข.       ทบวงการบริหารการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้

ค.       สามนคร–คงท้องถิ่นเดิม

ง.       สามนคร–เลิกท้องถิ่นเดิม

จ.       มหานคร–คงท้องถิ่นเดิม

ฉ.       มหานคร–เลิกท้องถิ่นเดิม

ที่ประชุมเห็นชอบให้เครือข่ายสมัชชาสุขภาพใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับสภาประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเพื่อตัดสินใจเลือกรูปแบบการปกครองพิเศษที่เหมาะกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

2.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

จัดให้มี “สมัชชาประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้” (Chamber of Southern Border Provinces-CSBP) หรือสภาประชาชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเป็นองค์กรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในลักษณะสภาที่ปรึกษาและกลั่นกรองนโยบาย โดยการคัดเลือกหรือเลือกตั้งจากกลุ่ม หรือตัวแทนภาคประชาชนที่หลากหลาย ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนาทุกศาสนา ผู้รู้ทางการศึกษาและวัฒนธรรม กลุ่มอาชีพสาขาต่างๆ รวมทั้งฝ่ายปกครองท้องถิ่น เป็นผู้ประสานนโยบายและแผนที่ผ่านกระบวนการจัดทำแผนชุมชน อำนวยความยุติธรรม รวมทั้งดูแลตรวจสอบบุคลากรและงบประมาณที่นำลงไปสู่จังหวัด อำเภอและหน่วยการปกครองท้องถิ่นในทุกระดับ

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ    ประสานกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทำการศึกษารูปแบบของ“สมัชชาประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้” (Chamber of Southern Border Provinces-CSBP) หรือสภาประชาชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และนำเสนอผลการศึกษาให้กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อนำไปดำเนินการต่อ

3.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2

ให้มีองค์กรปกครองท้องถิ่นในระดับตำบลและเทศบาลเหมือนรูปแบบเดิม ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนในท้องถิ่น มีอำนาจในการเก็บภาษีและบริหารงบประมาณการคลังส่วนท้องถิ่นเต็มที่ มีอำนาจในการออกข้อบัญญัติ รวมทั้งเพิ่มอำนาจในการจัดการท้องถิ่นในเรื่องทางศีลธรรม วัฒนธรรมและประเพณีให้มากขึ้น เช่น การกำหนดเขตปลอดอบายมุข ตำรวจศีลธรรม ประกาศห้ามเยาวชนออกนอกบ้านในยามวิกาลเว้นแต่มีผู้ปกครองอยู่ด้วย

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็ชอบให้สำนักงานปฏิรูปร่วมกับสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล และสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เร่งรัดให้รัฐบาลดำเนินการตามมติ สมัชชาปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2554 และมีมติในสมัชชาปฏิรูป พ.ศ.2554

4.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ในระดับพื้นที่ ควรมีองค์กรสภาผู้รู้ทางศาสนาหรือปราชญ์ชาวบ้านในระดับตำบล โดยการกำหนดนโยบายระดับท้องถิ่นจะต้องได้รับการรับรองจากสภาผู้รู้ทางศาสนา และประชาชน สมาชิกสภานี้ได้มาจากการเสนอชื่อและการเลือกสรรจากคณะกรรมการชุมชนผู้นำศาสนา องค์กรภาคประชาชนและสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น สภาผู้รู้ทางศาสนาเป็นที่ปรึกษาในกิจการศาสนาและศีลธรรมของสังคมขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น สมาชิกที่มาจากการคัดสรรนี้ควรเป็นกรรมการโดยตำแหน่งขององค์กรปกครองท้องถิ่นด้วยจำนวนหนึ่งในสามของสมาชิกสภาท้องถิ่นเพื่อให้มีอำนาจในการยับยั้งในกรณีที่มีผู้นำท้องถิ่นกระทำผิดในทางนโยบายและเกิดการทุจริตประพฤติมิชอบ

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล ร่วมกับมหาวิทยาลัยอิสลามยะลาและวิทยาลัยอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันการศึกษาทำการศึกษารูปแบบสภาผู้รู้ทางศาสนาหรือปราชญ์ชาวบ้านในระดับตำบล โดยการสนับสนุนงบประมาณจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเสนอผลการศึกษาไปยังรัฐบาลเพื่อกำหนดเป็นนโยบาย

5.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2

พัฒนาระบบกฎหมายอิสลามและกฎหมายตามประเพณี หรือระบบยุติธรรมทางเลือก ระบบยุติธรรมชุมชน โดยการประสานกับองค์กรสันติยุติธรรมสร้างความชอบธรรมในอำนาจการเมืองการปกครอง (Legitimate political authority) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจต่ออำนาจของกฎหมาย

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงยุติธรรมจัดทำแผนการพัฒนาระบบกฎหมายอิสลาม และกฎหมายตามประเพณี หรือระบบยุติธรรมทางเลือก ระบบยุติธรรมชุมชน และให้มีการพิจารณาโครงสร้างของระบบยุติธรรมโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน หน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง

มติข้อ ๑.๖

6. มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ส่วนการปกครองและการบริหารในระดับหมู่บ้านและชุมชน จะต้องปลอดภัยและมั่นคงด้วย โดยกระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบในการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้สามารถอำนวยการให้เกิดการใช้กฎหมายอิสลามที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดก

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กระทรวงยุติธรรมทบทวนขั้นตอนการเข้าถึงระบบยุติธรรมชุมชน เพื่อลดความยุ่งยากและความซ้ำซ้อน และให้กระทรวงยุติธรรมประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่และการเข้าถึงศูนย์อำนวยความเป็นธรรมภาคประชาชน

7.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ให้มีระบบการจัดการความมั่นคงของหมู่บ้านและชุมชนแบบบูรณาการ ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2551 ตามโครงสร้างใหม่ของกฎหมายฉบับนี้ ผู้ใหญ่บ้านมีอายุการดำรงตำแหน่งจนถึงเกษียณอายุ 60 ปี ควรมีการปรับปรุงการทำงานของคณะกรรมการหมู่บ้านให้มีความมั่นคง และมีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับฐานราก

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดทำแผนพัฒนาศักยภาพของชุมชน โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของสภาองค์กรชุมชน และคณะกรรมการหมู่บ้านให้มีศักยภาพในเรื่องกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น

8.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

เชื่อมโยงระบบย่อยที่ประกอบด้วยระบบผู้นำ ระบบการปกครองท้องถิ่น ระบบยุติธรรม ระบบการศึกษา ระบบราชการ ระบบการพัฒนาเศรษฐกิจ ระบบวัฒนธรรม ระบบการจัดการความขัดแย้งและความมั่นคงในชุมชน รวมทั้งระบบสวัสดิการสังคมบนฐานของชุมชน

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สภาพัฒนาการเมือง พัฒนาศักยภาพของสภาองค์กรชุมชนระดับตำบลเพื่อให้เป็นกลไกหลักในการเชื่อมโยงระบบย่อยที่ประกอบด้วยระบบผู้นำ ระบบการปกครองท้องถิ่น ระบบยุติธรรม ระบบการศึกษา ระบบราชการ ระบบการพัฒนาเศรษฐกิจ ระบบวัฒนธรรม ระบบการจัดการความขัดแย้งและความมั่นคงในชุมชน รวมทั้งระบบสวัสดิการสังคมบนฐานของชุมชน

 

ข้อเสนอนโยบายด้านการปฏิรูประบบความยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้

1.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

จัดตั้ง “คณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์” เป็นองค์กรที่มีลักษณะสำคัญคือ

เป็น “องค์กรอิสระ” ที่มีความอิสระอย่างแท้จริง ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

เป็นองค์กรที่ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมและมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ

เป็นองค์กรที่ประชาชนสามารถไว้วางใจ เข้าถึงได้ง่าย และใช้ภาษาถิ่นได้

เป็นองค์กรที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับองค์กรทางศาสนาในชุมชน เช่น วัด มัสยิด และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เป็นต้น

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบควรประชาสัมพันธ์ผ่านคลื่นกระแสหลักและรองในพื้นที่ ให้ประชาชนได้รับทราบและใช้ช่องทางนี้ในการร้องเรียนเมื่อได้รับความไม่เป็นธรรม

ให้คณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์เพิ่มบทบาทการทำงานเชิงรุกและให้ศอ.บต.ร่วมกับกระทรวงยุติธรรมทบทวนโครงสร้างรวมถึงบทบาทภารกิจของศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ภาคประชาชน ทุกตำบล อำเภอ จังหวัด เพื่อบูรณาการกระบวนการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของทั้งสองหน่วยงาน

2.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

จัดตั้ง  “ศาลแผนกคดีครอบครัวและมรดกมุสลิม เป็นแผนกหนึ่งในศาลยุติธรรม โดยมีลักษณะสำคัญ คือ

มีความเป็นอิสระในการดำเนินการต่างๆ ทางคดีตามที่กฎหมายอิสลามบัญญัติอย่างสมบูรณ์

กำหนดให้ “ศาลแผนกคดีครอบครัวและมรดกมุสลิม” มี 2 ชั้น คือ ศาลชั้นต้นกับศาลชั้นฎีกา

ให้ดาโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้มีอำนาจแต่ฝ่ายเดียวในการชี้ขาดตัดสินคดี ในศาลแผนกคดีครอบครัวและมรดกมุสลิม

ปรับปรุงแก้ไข “หลักกฎหมายอิสลาม” ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยจัดทำ (ร่างกฎหมายใหม่) เป็น “หลักกฎหมายสารบัญญัติอิสลาม” และ “หลักกฎหมายวิธีสบัญญัติอิสลาม” และควรกำหนดกรอบแนวทางคือ

ให้เป็นหลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยเรื่องครอบครัวและมรดก และบทบัญญัติลักษณะอื่นที่เกี่ยวข้องด้วยเท่าที่จะทำให้มุสลิมดำเนินการในทางศาลได้โดยมิต้องฝ่าฝืนหลักกฎหมายอิสลาม

ให้ยึดถือหลักศาสนบัญญัติตามแนวทาง (มัซฮับ) ชาฟิอี เป็นสำคัญในการจัดทำหลักกฎหมาย “หลักกฎหมายสารบัญญัติอิสลาม” และ“หลักกฎหมายวิธีสบัญญัติอิสลาม”

ให้คดีที่โจทก์และจำเลยเป็นมุสลิม และคดีที่จำเลยฝ่ายเดียวเป็นมุสลิมอยู่ภายใต้อำนาจของ ศาลแผนกคดีครอบครัวและมรดกมุสลิมด้วย

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้ให้รัฐบาลเร่งรัดการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งแผนกศาลครอบครัวและมรดกอิสลามเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาโดยเร็วที่สุด และให้สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ เครือข่ายสุขภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ทำหนังสือทวงถามไปที่รัฐสภา

3.มติสมัชชาสุขภาพชาติ ครั้งที่ 1

ให้มีบทบัญญัติเรื่องทนายความ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ช่วยดาโต๊ะยุติธรรม และการประนีประนอมไกล่เกลี่ย บรรจุอยู่ในหลักกฎหมายวิธีสบัญญัติด้วย

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงยุติธรรมเร่งรัดการจัดตั้งแผนกศาลครอบครัวและมรดกอิสลามอย่างเร่งด่วนเพื่อรองรับหลักกฎหมายอิสลามที่เกี่ยวกับวิธีสบัญญัติ

4.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ให้มีการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางกฎหมายอิสลาม ในระดับปริญญาโท และ ปริญญาเอก มากขึ้น

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จัดทำหลักสูตรร่วมเพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรทางกฎหมายอิสลาม ในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก โดยมีเป้าหมายผลิตไม่ต่ำกว่า 50 คนต่อปี

ให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ผลักดันให้สถาบันการศึกษาของรัฐที่มีคณะนิติศาสตร์ ปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรควบคู่ระหว่างนิติศาสตร์ทั่วไป และนิติศาสตร์อิสลาม รวมทั้ง ให้ผลักดันการรับรอง วิชาชีพนิติศาสตร์อิสลาม

5.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ให้มีการจัดตั้งศูนย์นิติวิทยาศาสตร์อย่างน้อย 1 ศูนย์ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือพื้นที่ใกล้เคียง

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงยุติธรรมพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในพื้นที่ชายแดนใต้ และให้ความรู้เพื่อสร้างความมั่นใจในเรื่องของนิติวิทยาศาสตร์แก่ประชาชนทั่วไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และให้มีการตั้งศูนย์นิติวิทยาศาสตร์ ที่เป็นเอกเทศ หรือภายในหน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยงานความมั่นคง

 

ข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษา

1.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ปรับโครงสร้างการบริหารการศึกษาในพื้นที่ โดยให้มีหน่วยงานระดับอำเภอและระดับจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ดูแลและการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา และให้บุคคลในพื้นที่ที่เข้าใจศาสนาอิสลามและมีความรู้เกี่ยวกับการจัดการศึกษาในพื้นที่เป็นอย่างดีเป็นหัวหน้าหน่วยงาน

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้ให้สำนักงานคณะกรรมการศึกษาเอกชน สรรหาผู้บริหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่มีความเข้าใจในมิติพหุวัฒนธรรม และมีความเข้าใจในระบบการศึกษาตามวิถีมุสลิม

2.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ให้พิจารณาเพิ่มเงินอุดหนุนแก่โรงเรียนตาดีกาและสถาบันศึกษาปอเนาะ ที่ขึ้นทะเบียนโดยคำนวณเงินอุดหนุนเป็นรายหัว

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการจัดทำแผนการพัฒนาโรงเรียนตาดีกาและสถาบันศึกษาปอเนาะ ทั้งนี้ควรเป็นแผนพัฒนาที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และความต้องการของประชาชนในพื้นที่

3.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3

จัดตั้งกองทุนกู้ยืมที่ปราศจากดอกเบี้ยสำหรับโรงเรียนตาดีกา และสถาบันศึกษาปอเนาะ และจัดให้มีกองทุนเพื่อการศึกษาที่ปราศจากดอกเบี้ยในระดับบัณฑิตศึกษา

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการคลัง จัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาสำหรับโรงเรียนตาดีกา  สถาบันศึกษาปอเนาะ และระดับบัณฑิตศึกษา

4.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ให้โรงเรียนทุกโรงเรียนจัดตารางการเรียนการสอนที่เอื้อให้เด็กได้ปฏิบัติศาสนกิจของตนเองอย่างเป็นรูปธรรม

ผลการติดตามมติ

โรงเรียนมีการดำเนินการตามมติ

5.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

เปิดโอกาสให้โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่สามารถกำหนดวันศุกร์และวันเสาร์ หรือวันสำคัญทางศาสนาอื่นๆ เป็นวันหยุดเรียนประจำสัปดาห์ของโรงเรียน ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของท้องถิ่น และเป็นจุดเริ่มต้นของการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้วันสำคัญทางศาสนาของทุกศาสนา เป็นวันหยุดราชการทั่วประเทศ

6.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ให้บรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับสันติศึกษา วิถีชีวิตท้องถิ่นและศาสนาเปรียบเทียบในหลักสูตรแกนกลาง

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบรัฐควรมีนโยบายนโยบายสนับสนุนทุนการศึกษาในระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตด้านสันติศึกษา แก่บุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อย่างชัดเจน

7.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

สนับสนุนให้มีโรงเรียนพิเศษหรือห้องเรียนพิเศษในโรงเรียน เพื่อจัดการศึกษาให้แก่เด็กพิเศษในพื้นท่า

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำแผนและยุทธศาสตร์การจัดการการศึกษาให้แก่เด็กพิเศษในพื้นที่ทั่วประเทศ

 

ข้อเสนอนโยบายด้านเศรษฐกิจ

1.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ให้มีการจัดตั้งสภาเศรษฐกิจชายแดนใต้ เพื่อเสนอแนะแนวนโยบายทางด้านเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบ ให้มีคณะกรรมการของสภาพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนใต้ ซึ่งองค์ประกอบ หน่วยงานรัฐ คือ พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรม พัฒนาชุมชน สาธารณสุขจังหวัด กรมการค้าระหว่างประเทศ อบจ.เทศบาล อบต. คณะกรรมการอิสลาม หอการค้า ตัวแทนสมัชชาสุขภาพแต่ละจังหวัด สภาองค์กรชุมชน ประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์โดยใช้กลไกสมัชชาจังหวัดในการคัดเลือกเข้าเป็นคณะกรรมการฯ เพื่อทำหน้าที่ในการจัดทำข้อเสนอพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและกำกับติดตามประเมินผลเพื่อพัฒนาในการพัฒนาเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) จัดตั้งศูนย์ข้อมูลการค้าชายแดนเพื่อเตรียมพร้อมรองรับ AEC Asian Economic Community

ให้รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมพัฒนระบบโลจิสติกส์ การขนส่งทางบกและทางทะเล เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดตั้งศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเพื่อรองรับอาเซียนในทุกจังหวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดยกระดับและพัฒนากลไกการตลาดภาคประชาชนเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนทั้งระดับพื้นที่ ระหว่างประเทศและนานาชาติ

2.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ให้บัญญัติกฎหมายให้มีองค์กรหรือสถาบันจัดการทรัพยากรที่เป็นอิสระ ที่มีส่วร่วมจากหลายฝ่ายทั้งในระดับประเทศและในระดับท้องถิ่น ตัวแทนองค์กรประมงพื้นบ้าน ตัวแทนองค์กรประมงพาณิชย์ เพื่อทำหน้าที่ควบคุมให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ออกนโยบายแลละมาตรการในการจัดการทรัพยากรในทะเล

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งคณะทำงานด้านการจัดการทรัพยากรชายฝั่งและทะเล โดยมีองค์ประกอบของคณะทำงานมาจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและตัวแทน กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ ทำหน้าที่ในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย นำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

3.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ให้ออกกฎ ระเบียบคุ้มครองผู้บริโภคอาหารฮาลาล และจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์อาหารฮาลาลในพื้นที่เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและมาตรฐานของอาหารฮาลาลในประเทศไทย และต้องบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคมุสลิมในประเทศไทยให้ได้รับการคุ้มครองบริโภคอาหารฮาลาลตามหลักการของอิสลาม โดยหากมีการปลอมแปลงและปนเปื้อนในอาหาร ฮาลาลจะต้องมีการรับผิดชอบโดยผู้ประกอบการในทางกฎหมาย

ผลการพิจารณา

เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จัดตั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคอาหารฮาลาล เป็นอนุกรรมการที่ทำหน้าที่ในการร่างกฎระเบียบว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคอาหารฮาลาลและดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับอาหารฮาลาล

4.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

บัญญัติกฎหมายให้สหกรณ์อิสลาม เป็นประเภทหนึ่งของรูปแบบสหกรณ์ และให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้หลายประเภทมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนในพื้นที่

ผลการพิจาณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มีหนังสือเร่งรัดการดำเนินการตามมติ

5.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ให้รัฐจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บผลิตผลทางการเกษตรและประมง เช่น ยุ้งฉาง ห้องเย็น และอื่นๆ ที่จำเป็น

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้ตลาดกลางสินค้าเกษตรรับผิดชอบในการจัดเก็บผลิตผลทางการเกษตรและประมง

 

ข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการปฏิรูปสังคม ประเพณี วัฒนธรรม

1.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดระเบียบสังคมให้สอดคล้องตามหลักการศาสนา โดยกำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดยาเสพติดและแหล่งอบายมุข

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้รัฐบาลกำหนดให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรกของประเทศในการแก้ปัญหายาเสพติด และปัญหาอบายมุข และให้มีมาตรการการแก้ปัญหาอย่างจริงจังและเร่งด่วน ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับองค์กรทางศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกมาตรการและข้อบังคับตามหลักศาสนาอิสลาม เพื่อแก้ปัญหายาเสพติด และการจัดระเบียบแหล่งอบายมุข และสนับสนุนให้มีศูนย์บำบัดของผู้ที่ติดยาเสพติดตามวิถีของมุสลิม

2.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

กำหนดให้วันรายออีดิลฟิตรี (วันตรุษละศีลอด ตรงกับวันที่ 1 เดือนเชาวาลตามปฏิทินอิสลาม) วันรายออีดิลออัฏฮา (วันตรุษเชือดสัตว์พลีเนื่องในพิธีฮัจย์ ซึ่งตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะฮ์ตามปฏิทินอิสลาม) และวันขึ้นปีใหม่ของอิสลาม เป็นวันหยุดราชการในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ผลการพิจารณา

เห็นชอบให้มีมติของคณะรัฐมนตรีกำหนดให้วันรายออีดิลฟิตรี (วันตรุษละศีลอด ตรงกับวันที่ 1 เดือนเชาวาลตามปฏิทินอิสลาม) วันรายออีดิลออัฏฮา (วันตรุษเชือดสัตว์พลีเนื่องในพิธีฮัจย์ ซึ่งตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะฮ์ตามปฏิทินอิสลาม) และวันขึ้นปีใหม่ของอิสลามเป็นวันหยุดราชการทั่วประเทศ

3.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ให้วันศุกร์หรือวันใดวันหนึ่งในหนึ่งสัปดาห์ เป็นวันที่งดเว้นจากการซื้อขายสุรา  และให้สถานบันเทิงหยุดบริการ ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ให้เป็นไปโดยความสมัครใจ และสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัด กำหนดมาตรการบังคับทางกฎหมายและสังคม ไปยังผู้ประกอบการให้งดเว้นการจำหน่ายสุรา  และหยุดบริการสถานบันเทิงในวันสำคัญทางศาสนาทุกศาสนา

4.มติสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 1

ให้กระทรวงหรือหน่วยงานต้นสังกัดอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ให้มุสลิมได้รับการยกเว้นในการเข้าร่วมพิธีกรรม หรือกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอื่น ตามความเหมาะสมของบริบทในพื้นที่นั้นๆ

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดเรื่องการยกเว้นในการเข้าร่วมพิธีกรรม หรือกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอื่น ตามความเหมาะสมของบริบทในพื้นที่นั้นๆ

5.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสริมสร้างสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง โดยจัดให้มีหลักสูตรเพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิตคู่ และเข้าใจถึงสิทธิของสามีภรรยา การอบรมเลี้ยงดูบุตรตามหลักการศาสนา กองทุนครอบครัว รวมถึงการตรวจสุขภาพและการดูแลสุขภาพของครอบครัว

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เร่งรัดแผนงานและโครงการเสริมสร้างสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยให้ประสานความร่วมมือกับองค์กรทางศาสนาที่มีอยู่ในพื้นที่

6.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ให้กรมประชาสัมพันธ์ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม จัดให้มีรายการโทรทัศน์ วิทยุ สำหรับการเสริมสร้างสถาบันครอบครัวเป็นการเฉพาะ

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นเจ้าภาพในการประสานงานและขับเคลื่อนนโยบายเสริมสร้างสถาบันครอบครัวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้กรมประชาสัมพันธ์ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมและสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคมแห่งชาติ จัดทำผังรายการที่เสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว

7.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ให้รัฐออกกฎหมายอนุญาตให้มีกองทุนประกันภัยที่สอดคล้องกับหลักการศาสนา และจัดให้มีกองทุนซะกาต (กองทุนที่เป็นเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นที่ศาสนาอิสลามกำหนดให้มุสลิมร่วมจ่ายในอัตราที่กำหนดเมื่อครบรอบปี) เป็นสวัสดิการสังคมโดยมีกฎหมายรองรับ

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้สภาประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการร่างพระราชบัญญัติซะกาต โดยกระบวนการดังกล่าว จะต้องมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่างและประชาพิจารณ์

8.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ให้กระทรวงวัฒนธรรมจัดให้มีสถาบันพัฒนาผู้นำศาสนาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพหลัก ในการจัดทำหลักสูตร ทั้งนี้เพื่อการบูรณการเนื้อหาและวิธีการในกระบวนการพัฒนาผู้นำ

9.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ให้มีศูนย์วัฒนธรรมและภาษามลายูปัตตานี ซึ่งครอบคลุมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีหน้าที่ ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการใช้ภาษามลายูปัตตานี ตลอดจนมีการตรวจสอบการใช้ภาษามลายูปัตตานีให้มีความถูกต้อง

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการให้มีศูนย์วัฒนธรรมและภาษามลายูท้องถิ่น ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการใช้ภาษามลายูท้องถิ่น

10.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ให้มีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสื่อมวลชนในท้องถิ่น โดยเน้นเรื่องเนื้อหาการใช้ภาษามลายูปัตตานี และการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น รวมทั้งการใช้สื่อมวลชนเพื่อให้มีการสื่อสารความจริงที่น่าเชื่อถือ

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคมแห่งชาติ  เพื่อความเป็นเอกภาพและบูรณาการของเนื้อหาและกระบวนการพัฒนาแผนแม่บทสื่อมวลชนท้องถิ่น

 

ข้อเสนอนโยบายด้านสุขภาพ การแพทย์ สาธารณสุขสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย

1.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ให้รัฐมีการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพของทุกศาสนาที่สอดคล้องกับพหุวัฒนธรรมของประชาชนอย่างเป็นองค์รวม  ทั้งในด้านการส่งเสริมสุขภาพ  การป้องกันควบคุมโรค  การรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสภาพ  รวมทั้งการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข กำหนดนโยบายและแนวทางการจัดบริการสุขภาพของสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีการบริการในมิติของหัวใจความเป็นมนุษย์ด้านจิตวิญญาณ ตามมาตรฐานวิชาชีพเป็นตัวกำกับโดยเน้นผู้ป่วยหรือผู้รับบริการเป็นศูนย์กลางให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบพหุวัฒนธรรม  (spiritual safety suffiency standard sustainable health care) และมีการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับชุมชน ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรับกระบวนการพัฒนาสุขภาพด้วยการใช้หลักการศาสนานำการพัฒนาสาธารณสุข

ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/อำเภอ/หน่วยบริการทุกระดับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์สุขภาพจิตที่15และเครือข่ายภาคประชาชนด้านการเยียวยา เน้นการบริการในมิติด้านจิตใจเป็นหลักสำคัญ และให้ ศอ.บต ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมสนับสนุนให้ภาครัฐและท้องถิ่นที่นับถือศาสนาพุทธในพื้นที่ ไปปฏิบัติธรรมที่ประเทศอินเดีย หรือประเทศอื่นๆ โดยจัดสรรโควต้าปกติและโควต้าพิเศษสำหรับข้าราชการก่อนเกษียณอายุ

2.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่1

ให้รัฐมีการจัดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐานและสอดคล้องกับบริบทของชุมชน ศาสนา วัฒนธรรมและวิถีชีวิต โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้รพ.สต.ทุกแห่ง จัดบริการสุขภาพที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ผ่านคณะกรรมการบริหารและพัฒนาที่มาจากภาคประชาชน ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สป.สช.)  สนับสนุนงบประมาณการสร้างเสริมสุขภาพแก่กองทุนสุขภาพตำบลผ่านองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมกับ คป.สข

ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ เช่น  สนามเด็กเล่น  ลานกีฬาออกกำลังกาย และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่จังหวัด 5 ชายแดนภาคใต้ มีบทบาทการพัฒนาบุคลากรด้านการพัฒนานโยบายสาธารณะโดยใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพ และให้มีแผนงาน/โครงการรองรับบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ด้วย

3.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ให้กระทรวงสาธารณสุขมีการพัฒนาระบบบริหารงานสาธารณสุข เช่น การกำหนดนโยบายและการวางแผน ระบบบริหารทรัพยากรบุคคล และระบบการสนับสนุนอื่นๆ เช่น ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบข้อมูลสารสนเทศ ที่สอดคล้องกับบริบทที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร่วมกับโรงพยาบาล กำหนดหลักสูตรสอนเสริมแบบติวเข้มและเสริมทักษะหน้างาน ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดด้านการบริหารจัดการกำลังคนให้เป็นบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารทรัพยากรบุคคลระดับจังหวัด ให้กระทรวงสาธารณสุขกำหนดแนวทางกระบวนการคัดสรรและการบรรจุบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพที่ชัดเจนโดยปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง และให้กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญเร่งรัดและกำกับติดตามมาตรการความปลอดภัย

4.มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1

ให้รัฐสร้างหลักประกัน สร้างกลไกความคุ้มครองให้เกิดสุขภาวะ เพื่อให้การบริการพื้นฐานด้านสุขภาพที่ต้องอาศัยโครงสร้างและกลไกของรัฐ เช่นการเฝ้าระวัง การควบคุมโรค การตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินทางสุขภาพ  การนิเทศติดตามประเมินผลการวิจัยและพัฒนา   ยังคงดำเนินการได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์สอดคล้องกับบริบททางสังคมและมีกระบวนการ พัฒนาศักยภาพ  สร้างการมีส่วนร่วมให้พื้นที่สามารถร่วมดำเนินการได้ในระยะยาว

ผลการพิจารณา

ที่ประชุมเห็นชอบให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญและติดตามกำกับการจัดการสุขภาวะของชุมชนเนื่องจากเป็นการกระจายอำนาจที่แท้จริง ให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA, EIA) ตามที่กฎหมายกำหนด จากหน่วยงานภายนอกที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนอย่างกว้างขวาง และชุมชนมีส่วนร่วม

ให้ท้องถิ่นจังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบผลการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับชุมชนท้องถิ่น ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีส่วนร่วมและมีบทบาทในการสนับสนุนควบคุมดูแลองค์การบริหารส่วนตำบล/องค์กรปกครองท้องถิ่น ในการจัดระบบ EMS ระดับพื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้เกิดความเตรียมพร้อมในระดับพื้นที่ยามฉุกเฉิน และให้มีกฎหมายหรือข้อบังคับ กำกับระยะเวลาการใช้จ่ายงบประมาณระดับท้องถิ่น/พื้นที่ ซึ่งส่งผลต่อปัญหาสุขภาพโดยเร่งด่วนของประชาชน