Skip to main content

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

           ด

มาถึงวันนี้ งาน “สมัชชาสุขภาพภาคใต้” กลายเป็นอีกงานใหญ่ประจำปีของกลุ่มกิจกรรมใน 14 จังหวัดภาคใต้ ที่รวมตัวกันในนาม “”เครือข่ายสุขภาพภาคใต้” ไปแล้ว

คราวนี้ “เครือข่ายสุขภาพภาคใต้” จัดงาน “สมัชชาสุขภาพภาคใต้” ระหว่างวันที่ 13–15 มกราคม 2555 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ใต้ จังหวัดตรัง

ที่ประชุมที่มีแกนนำเครือข่ายจากจังหวัดต่างๆ เดินทางเข้าร่วมกันอย่างคับคั่งหลายร้อยคน ร่วมกันพิจารณาและลงมติในหลากหลายประเด็น ซึ่ง  “โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้” ขอนำรายละเอียดในแต่ละมติมานำเสนอเรียงเป็นรายประเด็น ดังต่อไปนี้

 

……………………………………………………..

มติสมัชชาสุขภาพภาคใต้ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2554

การจัดการภัยพิบัติพื้นที่ภาคใต้

 

สมัชชาสุขภาพภาคใต้ ได้พิจารณารายงานเรื่องการจัดการภัยพิบัติ ดังนี้

รับทราบ ว่าสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติของประเทศและจังหวัดทางภาคใต้ อันประกอบด้วย อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มเกิดบ่อยครั้ง และมีความรุนแรงมากขึ้น สร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตทรัพย์สิน เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม คิดเป็นมูลค่ามหาศาล

กังวล ว่าความแปรปรวนของมวลอากาศปัจจุบันของโลกที่มีอยู่เกือบตลอดเวลา และมีโอกาสกระทบต่อประเทศไทยได้ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน ส่งผลให้เกิดปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะปัญหาอุทกภัยที่เกิดวนเวียนอยู่ในภาคต่างๆ ปีละหลายๆครั้ง ซึ่งสถานการณ์ภัยพิบัติเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ส่งผลกระทบต่อประเทศทั้งด้าน เศรษฐกิจ และสังคม

ตระหนัก ว่าการจัดการภัยพิบัติเป็นงานที่เกินความสามารถที่หน่วยงานภาครัฐจะบริหารจัดการและให้ความช่วยเหลือเพียงฝ่ายเดียว ประกอบกับการดำเนินงานด้านแผนเตรียมความพร้อมของจังหวัดยังมีข้อจำกัดด้านการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นให้มีประสิทธิภาพได้ เช่น ระบบแจ้งเตือนภัยไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติที่เป็นระบบและขาดการบูรณาการ ก่อให้เกิดความซ้ำซ้อนด้านบทบาท ภารกิจ ขาดการกำหนดการบัญชาการเหตุการณ์ที่มีเอกภาพ ขาดความเข้าใจในการปฏิบัติงาน ตั้งแต่ในภาวะปกติจนถึงขั้นสถานการณ์ฉุกเฉิน และขาดการฝึกซ้อมร่วมเสมือนจริง ทำให้การบริหารจัดการในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ

ห่วงใย ว่าสังคมชุมชนยังขาดความรู้ ความเข้าใจ เข้าไม่ถึงความซับซ้อนของปัญหาและความหลากหลายของภัยพิบัติ จนไม่อาจนำมาสู่การกำหนดมาตรการป้องกันและรับมือภัยพิบัติอันเป็นสาธารณภัยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

กังวล ว่ารัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในการจัดการด้านการป้องกันต่อพื้นที่เสี่ยงภัย  และการเผชิญปัญหา  ตลอดจนระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันสาธารณภัย มาตรการด้านผังเมืองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินมิได้นำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ ขณะที่ภาครัฐยังขาดการให้ความสำคัญกับนโยบายเชิงบูรณาการระดับพื้นที่ และระดับชุมชนที่มีประสิทธิภาพ

ตระหนัก ว่ามีความจำเป็นและให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมในการจัดการภัยพิบัติครอบคลุมทุกระดับ ให้สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพเพื่อลดความสูญเสีย โดยการปรับปรุงกลไกและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการภัยพิบัติ ให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ จะเป็นการสนับสนุนให้สามารถติดตามการเกิดภัยพิบัติได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระยะการติดตามสังเกตการณ์ การเตือนภัย การสั่งการในระยะเกิดภัย การให้ความช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ รวมทั้งการฟื้นฟูภายหลังการเกิดภัย โดยให้มีการกำหนดกลไกการสั่งการอย่างชัดเจนและเป็นระบบ ทำให้สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันเวลา รวมทั้งการส่งเสริมบทบาทของอาสาสมัครให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จึงมีมติดังต่อไปนี้

 

ข้อเสนอระดับชาติ

1.ให้รัฐบาลมอบหมายภารกิจไปยังสถาบันการศึกษาในพื้นที่ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐ ทำการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสาเหตุแห่งภัยพิบัติ อันเนื่องมาจากนโยบาย แผน และโครงการ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในพื้นที่ เพื่อเสนอแนวทางป้องกันภัยพิบัติต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้กระบวนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เพื่อทบทวน ปรับปรุง ชะลอ หรือยุติ นโยบาย แผน และโครงการที่อาจจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเป็นสาเหตุแห่งภัยพิบัติ

3.ให้รัฐบาลทบทวนโครงสร้างการจัดการภัยพิบัติ โดยให้ศูนย์อำนวยการที่มีลักษณะเป็นหน่วยงานอิสระกลางของประเทศ ทำงานเป็นเอกภาพขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานที่ประสานความร่วมมือระหว่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และสำนักงานการแพทย์แห่งชาติ รวมทั้งให้มีศูนย์อำนวยการในระดับภาค ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ

4.ให้รัฐบาลสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนจัดการภัยพิบัติชุมชน โดยเป็นไปตามหลักการดังต่อไปนี้

เป็นกองทุนระดับตำบลที่บริหารจัดการโดยคณะกรรมการกองทุนที่ได้รับการสรรหามาจากตัวแทนชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

คณะกรรมการกองทุนจัดการภัยพิบัติชุมชนมีบทบาทหน้าที่ในการทำแผนการจัดการภัยพิบัติของชุมชนและผลักดันให้เกิดการดำเนินการตามแผน รวมถึงการเชื่อมประสานกับหน่วยงานทีเกี่ยวข้องตามแผนต่อไปนี้

– แผนเฝ้าระวัง–ป้องกัน

– แผนลดความสูญเสียและแผนการช่วยเหลือขณะเกิดเหตุ

– แผนการฟื้นฟู เยียวยา หลังภัยพิบัติ

สัดส่วนที่มาของงบประมาณ ร้อยละ 50 มาจากการสนับสนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอีกร้อยละ 50 มาจากการระดมทุนของชุมชน

    5.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด จัดตั้งสมาพันธ์เครือข่ายอาสาสมัครเพื่อการจัดการภัยพิบัติ ที่มีองค์ประกอบมาจากกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ อาทิเช่น อสม. อพม. อปพร. ชรบ. กาชาดจังหวัด ทั้งนี้ เพื่อบูรณาการภารกิจอาสาสมัครในการจัดการภัยพิบัติ โดยให้สำนักงานจังหวัดเป็นผู้ประสานงานหลัก

6.ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกแบบระบบการสื่อสารเพื่อเตือนภัย และการสื่อสารเพื่อการช่วยเหลือในระหว่างเกิดเหตุภัยพิบัติทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่

 

ข้อเสนอระดับพื้นที่

1.ให้ศูนย์อำนวยการการจัดการภัยพิบัติระดับจังหวัดทบทวน ปรับปรุงแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยให้ความสำคัญกับการจัดการภัยพิบัติที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน

2.สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง จัดทำกรอบแผนการจัดการภัยพิบัติของชุมชนท้องถิ่นระยะ 3 ปี แบบมีส่วนร่วมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนาระบบการเตรียมความพร้อม ประกอบด้วยการประเมินความเสี่ยง การวางแผนระยะสั้น ระยะยาว การซ้อมแผน การจัดหาและพัฒนาระบบเตือนภัย การสื่อสาร การสร้างเครือข่ายข้อมูลข่าวสาร เพื่อการเฝ้าระวัง การจัดเตรียมทรัพยากร จัดให้ความรู้และฝึกอบรมทักษะการจัดการภัยพิบัติเบื้องต้นแก่ประชาชน การจัดเตรียมทีมกู้ชีพกู้ภัย จัดให้มีอาสาสมัครแจ้งเตือนภัยและการช่วยเหลือเบื้องต้น จัดให้มีกองทุนจัดการภัยพิบัติ

ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับประชาชน ชุมชน จัดทำ ข้อบังคับ มาตรการหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น ในการกำหนดผังเมืองของชุมชน การย้ายที่อยู่อาศัย ควบคุมสิ่งก่อสร้างที่ขวางทางน้ำ การบุกรุกพื้นที่ แหล่งพักน้ำ ป่าต้นน้ำ เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถแจ้งเตือนภัยหรือประกาศพื้นที่เสี่ยงภัยได้ด้วยตนเองและให้นำกฎหมายส่วนที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้อย่างจริงจังในพื้นที่

ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำกฎหมายส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันภัยพิบัติมาบังคับใช้อย่างจริงจังในพื้นที่ เพื่อป้องกันวาตภัย อุทกภัย และดินโคลนถล่ม

ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดสนับสนุนให้มีการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพระดับพื้นที่ และสรุปบทเรียนการจัดการภัยพิบัติเพื่อปรับปรุง แก้ไข และนำเสนอต่อองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับสถาบันการศึกษาในชุมชนท้องถิ่น จัดทำหลักสูตรท้องถิ่นในเรื่องการจัดการภัยพิบัติ และจัดให้มีการเรียนการสอนในสถานศึกษาทุกระดับทั้งในระบบและนอกระบบ

ให้สำนักงานจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ปกครองจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด มูลนิธิ และภาคเอกชน จัดการระดมทุนจากภาคส่วนต่างๆเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนจัดการภัยพิบัติระดับจังหวัด เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดการภัยพิบัติของชุมชน สร้างแกนนำเครือข่าย ชุมชนท้องถิ่น ในการเฝ้าระวังป้องกันและรับมือภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

ให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาตินำมติสมัชชาสุขภาพภาคใต้เสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเพื่อผลักดันไปสู่การปฏิบัติ