Skip to main content

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

         ว

 

มาถึงวันนี้ งาน “สมัชชาสุขภาพภาคใต้” กลายเป็นอีกงานใหญ่ประจำปีของกลุ่มกิจกรรมใน 14 จังหวัดภาคใต้ ที่รวมตัวกันในนาม “”เครือข่ายสุขภาพภาคใต้” ไปแล้ว

คราวนี้ “เครือข่ายสุขภาพภาคใต้” จัดงาน “สมัชชาสุขภาพภาคใต้” ระหว่างวันที่ 13–15 มกราคม 2555 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ใต้ จังหวัดตรัง

ที่ประชุมที่มีแกนนำเครือข่ายจากจังหวัดต่างๆ เดินทางเข้าร่วมกันอย่างคับคั่งหลายร้อยคน ร่วมกันพิจารณาและลงมติในหลากหลายประเด็น ซึ่ง  “โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้” ขอนำรายละเอียดในแต่ละมติมานำเสนอเรียงเป็นรายประเด็น ดังต่อไปนี้

 

……………………………………………………..

 

รายงานผลการติดตามมติและข้อเสนอเพิ่มเติมเพื่อการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3

วาระ นโยบายสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะ

 

หลักการและเหตุผล

เป็นความจริงที่ว่าประชาชนในภาคใต้ส่วนใหญ่ จะไม่ได้ทราบถึงเรื่องราวของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเท่าใดนัก หากแต่มองไปที่การดำรงอยู่ในชีวิตประจำวันให้มีความสุขสงบปลอดภัย การมีฐานะทางเศรษฐกิจที่พอมีพอกิน การมีฐานะทางสังคมที่ได้รับการปฏิบัติจากทุกฝ่ายด้วยความเสมอภาค เท่าเทียมเฉกเช่นเดียวกับประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ ตลอดจนการมีอิสระในการปฏิบัติศาสนกิจ และสามารถดำเนินชีวิตประจำวันไปได้อย่างสอดคล้องกับหลักความเชื่อทางศาสนา และวิถีวัฒนธรรมเป็นสำคัญ

กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม โดยใช้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นกลไก ที่เอื้อให้เกิดกระบวนการทางสังคม อันจะนำไปสู่การ “กินดี” และ “อยู่ดี” ของประชาชน ต่างเกี่ยวพันกับการเมืองการปกครองอย่างไม่อาจแยกขาดออกจากกันได้ ในแง่ที่ต้องอาศัยอำนาจทางการเมือง เพื่อจะสามารถ “จัดการ” ให้เกิดสังคมที่ประชาชนต้องการ

ด้วยเหตุนี้ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 จึงได้พิจารณารายงานเรื่องนโยบายสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะ โดย...

รับทราบ ว่าวิธีการบริหารจัดการ การพัฒนาแบบรวมศูนย์ทั้งเชิงอำนาจและเชิงงบประมาณ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม ความไม่เป็นธรรมของสังคม ประชาชนไม่สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนา รวมทั้งการจัดสรรทรัพยากร ที่สอดคล้องกับปัญหาของพื้นที่ตนเอง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลของอำนาจ ระหว่างรัฐกับชุมชนท้องถิ่น

รับทราบ ว่าการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นถูกกำกับ ควบคุมโดยนโยบาย มาตรการ ข้อบังคับ และกลไกจากการบริหารราชการส่วนกลาง และการบริหารราชการส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะการจัดสรรและการบริหารงบประมาณท้องถิ่น เป็นข้อจำกัดทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถจัดการตนเองได้อย่างมีประสิทธิผล อีกทั้งแสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลของอำนาจ ระหว่างการบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาค กับท้องถิ่น

รับทราบ ว่าการดำเนินงานของหน่วยงานและองค์กรอิสระ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย รวมถึงองค์กรสนับสนุนงบประมาณบางองค์กร ไม่เอื้อต่อการสนับสนุนให้ชุมชนจัดการตนเองในพื้นที่ สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลของอำนาจ ระหว่างองค์กรสนับสนุนงบประมาณกับชุมชนท้องถิ่น

กังวล ว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสัญญาณความไม่เป็นธรรมและความรุนแรงในสังคม หากรัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับพื้นที่ ไม่สร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น จะทำให้ปัญหาทวีความรุนแรง จนไม่อาจควบคุม และอาจนำไปสู่ความแตกแยกทางสังคมจนยากที่จะเยียวยา

ตระหนัก ว่าการปฏิรูปประเทศไทย โดยหลักการให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองในพื้นที่ ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ หากไม่ปรับเปลี่ยนสมดุลอำนาจ สมดุลในการบริหารงบประมาณ ระหว่างการบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น องค์กรนโยบาย องค์กรสนับสนุนงบประมาณกับชุมชน

ตระหนัก ว่าการจัดสมดุลเชิงอำนาจ เป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยลดอำนาจการบริหารจัดการของการบริหารราชการส่วนกลางลง ให้เหลือเพียงภารกิจหลักเท่าที่จำเป็น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการจัดกระบวนการบริหารงานพัฒนาเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วม ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง สิ่งที่สำคัญคือ การที่ประชาชนในชุมชนสามารถตัดสินใจ กำหนดทิศทางการพัฒนา บริหารจัดการชุมชนของตนเองร่วมกับหน่วยงาน และภาคีอื่นๆ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ จะได้รับทราบและตระหนักถึงความสำคัญของการสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง เพื่อความกินดีอยู่ดีของชุมชนท้องถิ่น และได้มีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้การสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะเป็นนโยบายสำคัญ โดยมอบให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ร่วมกับสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เป็นแกนประสานให้เกิดคณะกรรมการที่เป็นกลไกการดำเนินการ ประกอบด้วย ตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการชุมชนท้องถิ่น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน โดยให้มีผู้แทนชุมชน ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60

ทั้งนี้ คณะกรรมการมีหน้าที่พัฒนากลไกการจัดการตนเอง และพัฒนาศักยภาพชุมชนท้องถิ่น ให้จัดการตนเองในทุกระดับ แต่รูปธรรมของการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 วาระนโยบายสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองก็ยังไม่ปรากฏชัดออกมา

ดังนั้น เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดพัทลุง จังหวัดกระบี่ และจังหวัดระนอง จึงมีความเห็นร่วมกันว่า ควรมีการค้นหาพื้นที่รูปธรรมที่ชัดเจน ในการขับเคลื่อนมตินโยบายสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อนำเสนอรูปแบบการขับเคลื่อนมติ ผลที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ข้อเสนอแนะต่อมติและกระบวนการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในพื้นที่ภาคใต้ นำเสนอต่อเครือข่ายสมัชชาสุขภาพภาคใต้ และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติต่อไป

เป้าหมายของการศึกษา

เพื่อค้นหาพื้นที่ที่มีการดำเนินการสร้างกระบวนการทางสังคม ให้เกิดการจัดการตนเองของชุมชน ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ในพื้นที่ภาคใต้อย่างน้อย 4 พื้นที่

เพื่อนำเสนอรูปแบบการการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อมติและการดำเนินการตามมติ ต่อภาคีสมัชชาสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้

องค์กรผู้รับผิดชอบ

กระบวนการศึกษาของภาคประชาชนในการค้นหาคำตอบ เพื่อร่วมขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สู่รูปธรรมที่ชัดเจนในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการในลักษณะองค์กรภาคีเครือข่ายร่วม ทั้งในและนอกพื้นที่ ประกอบด้วย

เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดพัทลุง

เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดกระบี่

เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดระนอง

          โดยมีองค์กรสนับสนุนทางวิชาการคือ สถาบันการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เป็นผู้คอยให้ข้อเสนอแนะการยกร่างเอกสารทางวิชาการ และให้ข้อเสนอแนะต่อกระบวนการดำเนินงานในทุกขั้นตอน

 

รูปแบบ/วิธีการในการดำเนินการติดตามมติ

องค์กรเครือข่ายตระหนักดีว่า กระบวนการขับเคลื่อนพื้นที่จัดการตนเอง ที่สำคัญที่สุดมิใช่การดำเนินการของภาครัฐ หรือองค์กรเครือข่าย หากแต่เป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ทั้งที่เป็นคนลงมือปฏิบัติและรับผลการปฏิบัตินั้นเอง ดังนั้น ทุกเสียงสะท้อนจากแต่ละกลุ่มวัฒนธรรมและกลุ่มอาชีพต่างๆ ในพื้นที่ ต่างก็มีเหตุผลที่ต้องรับฟังและพิจารณา และมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการแสวงหาแนวทางการสร้างรูปธรรมพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสุขภาวะ

การเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็น ความรู้สึก และความต้องการ ตลอดจนความคับข้องใจ (Grievances) และความห่วงกังวล ต่อการจัดการพื้นที่ของตนเองในทุกมิติ จึงเป็นแนวทางการดำเนินงานของเครือข่าย ซึ่งจะเป็นในรูปแบบของเวทีสาธารณะตามพื้นที่ต่างๆ ในภาคใต้ การสนทนากลุ่มย่อยโดยแบ่งตามขนาดพื้นที่เป็นระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ผู้ร่วมเสวนาจะมาจากข้าราชการ พลเรือน ผู้นำศาสนา นักการเมืองระดับท้องถิ่น นักการศึกษา ครูในโรงเรียนรัฐ และโรงเรียนเอกชน แกนนำสตรี นักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งการสัมภาษณ์รายบุคคล โดยมีระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 ถึงเดือนธันวาคม 2554

ทั้งนี้ การรับฟังความคิดเห็นในช่วงที่ 1 นั้น เป็นการเปิดเวทีสาธารณะในพื้นที่จำนวน 4 เวที ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้นประมาณ 200 คน การเปิดพื้นที่ดังกล่าวนี้ มีส่วนสำคัญในแง่ของการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็น และความต้องการด้วยสันติวิธีในประเด็นพื้นที่ของตนเอง จะจัดการกันเองอย่างไร

ข้อมูลทั้งหมดจากการรับฟังความคิดเห็นได้ถูกนำมาประมวล โดยคณะทำงานวิชาการขององค์กรเครือข่าย เพื่อจัดทำร่างรายงานผลการศึกษา และจะนำร่างรายงานดังกล่าว ไปรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงและพัฒนาแนวความคิด รวมทั้งข้อเสนอให้สามารถขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

ผลการติดตามมติ

          จากการลงพื้นที่ศึกษาและการเปิดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 วาระนโยบายสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะนั้น เครือข่ายได้ยึดหลักตามมติสมัชชาสุขภาพทั้ง 6 ข้อ คือ

1.ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้การสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะเป็นนโยบายสำคัญ โดยมอบให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนร่วมกับสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เป็นแกนประสานให้เกิดคณะกรรมการที่เป็นกลไกการดำเนินการ ประกอบด้วย ตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการชุมชนท้องถิ่น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน โดยให้มีผู้แทนชุมชน ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60

ทั้งนี้ คณะกรรมการมีหน้าที่พัฒนากลไกการจัดการตนเอง และพัฒนาศักยภาพชุมชนท้องถิ่นให้จัดการตนเองในทุกระดับ โดยพิจารณาแนวทางดำเนินการเบื้องต้น ดังนี้

พัฒนากลไกร่วมในชุมชนท้องถิ่นให้มีบทบาทสำคัญ ในกระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ในทุกระดับ ทั้งแผนชุมชน แผนท้องถิ่น แผนอำเภอ และแผนจังหวัด โดยให้กลไกดังกล่าว มีสัดส่วนผู้แทนภาคประชาชนกับภาคประชาสังคม รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 60

สร้างมาตรการเพื่อกำหนดให้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ในทุกระดับ มีแผนงานและโครงการที่ชุมชนในพื้นที่นั้น เป็นผู้รับผิดชอบโครงการร่วมกับท้องถิ่น และ/หรือราชการส่วนภูมิภาค โดยมีงบประมาณสนับสนุนจากท้องถิ่น และ/หรือราชการส่วนภูมิภาค ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของงบประมาณที่ดำเนินการด้านสุขภาวะแต่ละพื้นที่

สร้างกลไกเพื่อการพัฒนาศักยภาพการจัดการตนเองให้กับชุมชนท้องถิ่น

พัฒนากลไกให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญ ในกระบวนการติดตาม กำกับ และประเมินผลการดำเนินงาน ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ในทุกระดับ

สร้างข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานและองค์กรอิสระ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย รวมถึงองค์กรสนับสนุนงบประมาณ ให้มีนโยบายและจัดสรรงบประมาณ หรือเงินทุนให้ชุมชนท้องถิ่น บริหารจัดการ ตามภารกิจที่ชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดและตัดสินใจเอง

ร่วมกับสถาบันวิชาการ ศึกษาวิจัยรูปแบบการปกครอง โครงสร้างเชิงอำนาจ ลักษณะความสัมพันธ์ ที่เอื้อต่อการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และในพื้นที่ลักษณะพิเศษ โดยศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี เพื่อรายงานผลต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 และคณะรัฐมนตรีเพื่อผลักดันให้เกิดการทดลองปฏิบัติการในพื้นที่ต้นแบบ

2.ขอให้สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติพิจารณา กำหนดเรื่องพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะ เป็นหนึ่งในระเบียบวาระของสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อติดตามประเมินผลแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ทุกระดับภายในจังหวัด

3.ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นองค์กรหลักในการสนับสนุนงบประมาณ และประสานการดำเนินงานร่วมกับสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชนเครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด ใช้เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 66, 78 (3), 87 (1), 87 (4), 163 ดำเนินการออกแบบ และผลักดันให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดการตนเองตามรูปแบบที่เหมาะสม

4.ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) นำมตินี้ไปเป็นแนวทางในการจัดทำข้อเสนอที่ชัดเจน และผลักดันไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ผลการศึกษาที่พบคือทุกพื้นที่ในภาคใต้ ยังไม่สามารถขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพอย่างสมบูรณ์ โดยสามารถสรุปเป็นประเด็นสำคัญๆ ดังนี้

ประเด็นการจัดทำแผน

มีบางพื้นที่ที่สามารถขับเคลื่อนได้ตามมติข้อที่ 1.1 การพัฒนากลไกร่วมในชุมชนให้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ใน ซึ่งค้นพบแผนระดับชุมชนและแผนท้องถิ่นที่เป็นแผนรายประเด็น เช่น แผนรับมือภัยพิบัติ แผนบริหารกองทุนออมทรัพย์ แต่ยังไม่มีแผนในภาพรวม ส่วนแผนระดับอำเภอ และแผนระดับจังหวัดที่เกิดจากกลไกการมีส่วนร่วม ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินั้น ยังไม่พบพื้นที่ใดดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม

ประเด็นการสนับสนุนงบประมาณ

ข้อด้อยสำคัญอีกประการหนึ่งของการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 วาระนโยบายสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะคือ ข้อมติที่เกี่ยวข้องกับการเงินและงบประมาณ มีงบประมาณสนับสนุนจากท้องถิ่น และ/หรือราชการส่วนภูมิภาค ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของงบประมาณที่ดำเนินการด้านสุขภาวะแต่ละพื้นที่ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นองค์กรหลักในการสนับสนุนงบประมาณ และประสานการดำเนินงานร่วมกับสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชนเครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด ใช้เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 66, 79 (3), 87 (1), 87 (4), 163 ทั้ง 2 ข้อนี้ยังไม่มีพื้นที่ใดสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม

ประเด็นการมีส่วนร่วม

มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 วาระนโยบายสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะ ระบุถึงกระบวนการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายต่างๆ ในท้องถิ่น เพื่อกำหนดแผนงานและร่วมดำเนินการให้ชุมชนท้องถิ่นของตนเอง สามารถจัดการกันเองได้ แต่จากการศึกษาพบว่า สัดส่วนการมีส่วนร่วมในหลายพื้นที่ยังไม่เป็นไปตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะการจัดทำแผนในระดับจังหวัด แต่แผนระดับชุมชนนั้น เกิดการมีส่วนร่วมตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติแล้ว ในหลายพื้นที่ 

          จากทั้ง 3 ประเด็นข้างต้นจะเห็นว่า ประเด็นการมีส่วนร่วมเป็นประเด็นที่มีการขับเคลื่อนได้มากที่สุด ทั้งนี้อาจมาจากหลายสาเหตุ ทั้งการตระหนักถึงมติสมัชชาสุขภาพของชุมชน หรือภาวะการเปลี่ยนแปลงของการเมือง เศรษฐกิจ หรือสภาพแวดล้อม ที่ส่งผลให้คนในชุมชนตระหนักถึงการมีส่วนร่วม เพื่อปกป้องตนเอง และชุมชนเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เห็นรูปธรรมการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติบ้าง ในประเด็นการมีส่วนร่วม จึงขอนำเสนอตัวอย่างพื้นที่ในระดับหมู่บ้านและตำบล ที่สามารถสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม ในการจัดทำแผนพัฒนาชุมชน หรือแผนปฏิบัติการบางประเด็นของชุมชน ที่ส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข็มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และผลักดันให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลง ที่จะให้ประชาชนในพื้นที่มีอำนาจมากขึ้น ในการดูแลกิจการของท้องถิ่นตนเอง ใน “บ้าน” ที่คนส่วนใหญ่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ อันจะนำมาซึ่งความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการตนเอง จำนวน 3 พื้นที่ คือ

1.การจัดการตนเองชุมชนบ้านนาเหนือ ด้วยวัฒนธรรมชุมชน จากหมู่บ้าน “นายลืม” สู่หมู่บ้านจัดการตนเอง

2.การจัดการฐานทรัพยากรอันสมบูรณ์ของตำบลดินอุดม ให้คงอยู่อย่างอุดมสืบไป

3.การจัดการรับมือภัยพิบัติโดยชุมชนบ้านหาดทรายดำ

4.กระบวนการขับเคลื่อนทางสังคมสู่การปกครองตนเอง ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยของปัตตานีมหานคร

 

ผลการติดตามมติและข้อเสนอแนะและแนวทางการขับเคลื่อน

มติข้อ 1

มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่

          1. ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้การสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะเป็นนโยบายสำคัญ โดยมอบให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนร่วมกับสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เป็นแกนประสานให้เกิดคณะกรรมการที่เป็นกลไกการดำเนินการ ประกอบด้วย ตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการชุมชนท้องถิ่น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน โดยให้มีผู้แทนชุมชนในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ทั้งนี้ คณะกรรมการมีหน้าที่พัฒนากลไกการจัดการตนเอง และพัฒนาศักยภาพชุมชนท้องถิ่นให้จัดการตนเองในทุกระดับ

ผลการติดตามมติ

          ปัจจุบันยังไม่เกิดคณะกรรมการที่เป็นกลไกกลาง ในการดำเนินการพัฒนาให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองได้ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่มีการเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แต่องค์กรที่ร่วมรับผิดชอบคือ สภาองค์กรชุมชนได้จัดสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยของเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2554 และมีมติเกี่ยวกับการจัดการตนเอง ดังนี้

          1.เรื่องที่เครือข่ายองค์กรชุมชนจะขับเคลื่อนทันทีเพื่อการจัดการตนเอง

ด้านการคืนอำนาจการจัดการตนเองให้ชุมชนท้องถิ่น

ให้เครือข่ายองค์กรชุมชนระดับตำบล มีส่วนกำหนดแผนพัฒนาในระดับชุมชนตำบล ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่น

พัฒนากลไกร่วม ได้แก่ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ท้องถิ่น ท้องที่ นักวิชาการ โดยองค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก เพื่อหนุนเสริมชุมชนท้องถิ่นให้สามารถจัดการตนเองได้ นำไปสู่การจัดความสัมพันธ์ใหม่อย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียม

สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนฐานล่างโดยจัดให้มีเวทีสมัชชาระดับตำบล โดยสภาองค์กรชุมชน รวมถึงเครือข่ายองค์กรชุมชน เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน เพื่อกำหนดแผนพัฒนาการปฏิรูปสู่การจัดการตนเองที่สอดคล้องตามบริบทพื้นที่

สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างโดยใช้กระบวนการวิเคราะห์ (พื้นที่ ศักยภาพ ภัยคุกคาม) เพื่อนำมาจัดทาแผนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ทั้งระยะสั้น กลาง ยาว

กำหนดประเด็นร่วมในการขับเคลื่อนการปฏิรูปโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง

จัดกลไกความร่วมมือเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูป โดยมีสัดส่วนของเครือข่ายองค์กรชุมชนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60

ให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดหลักสูตรหรือรูปแบบการศึกษา ที่สอดคล้องตามบริบทในพื้นที่

ปัญหาอุปสรรคของการขับเคลื่อนตามมติ

          แม้ว่าประเด็นการสนับสนุนพื้นที่การจัดการตนเองจะเป็นประเด็นหลักในการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 แต่เมื่อมีมติออกมาการขับเคลื่อนกลับทำได้ล่าช้า อันอาจเนื่องมาจาก

หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องพยายามหยิบยกเรื่องดังกล่าว เป็นประเด็นของตนเองโดยขาดการบูรณาการ เช่น มีการจัดสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยและมีมติเกี่ยวกับการจัดการตนเอง มีการจัดสมัชชาสภาองค์กรชุมชน ซึ่งก็มีเรื่องการจัดการตนเองเป็นวาระหลัก

สถานการณ์ทางการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลง มีความแตกแตก ทำให้รัฐบาลซึ่งเป็นองค์กรหลักที่จะต้องนำนโยบายไปขับเคลื่อน ไม่ได้ให้ความสนใจต่อมติสมัชชาเท่าที่ควร

ปัญหาอุทกภัยในหลายจังหวัด ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งคณะกรรมการได้

ผลการพิจารณา

ให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สภาพัฒนาการเมือง และสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศ ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลไกการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 วาระนโยบายสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสุขภาวะ โดยมีหน้าที่พัฒนากลไกการจัดการตนเอ งและพัฒนาศักยภาพชุมชนท้องถิ่นให้จัดการตนเองได้ในทุกระดับ

ให้ที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ ตั้งคณะกรรมการพัฒนากลไกและพัฒนาศักยภาพของสภาองค์กรชุมชนตำบล เพื่อให้สภาองค์กรชุมชนระดับตำบลเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 วาระนโยบายสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสุขภาวะ

 

มติข้อ 1.1

มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3

พัฒนากลไกร่วมในชุมชนท้องถิ่น ให้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ในทุกระดับ ทั้งแผนชุมชน แผนท้องถิ่น แผนอำเภอ และแผนจังหวัด โดยให้กลไกดังกล่าว มีสัดส่วนผู้แทนภาคประชาชน และภาคประชาสังคมรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 60

ผลการติดตามมติ

          ในพื้นที่ภาคใต้ยังไม่มีพื้นที่ใดสามารถพัฒนากลไกร่วม เพื่อการจัดทำแผนที่มีสัดส่วนตามมติสมัชชา ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น อำเภอ หรือจังหวัด แต่อาจมีบางพื้นที่ที่มีการจัดทำแผนพัฒนาเชิงประเด็น เช่น แผนสวัสดิการ แผนการรับมือภัยพิบัติ ที่มีการจัดทำแผนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และท้องถิ่น เช่น แผนการจัดการภัยพิบัติบ้านหาดทรายดำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง เป็นต้น

ปัญหาอุปสรรคของการขับเคลื่อนตามมติ           

          จากการติดตามมติพบว่าอุปสรรคที่สำคัญของการพัฒนากลไกร่วมคือ ขาดเจ้าภาพ หรือผู้ก่อการให้เกิดกลไกร่วม และการตีความหมายของผู้แทนภาคประชาชน ที่อาจมีการตีความหมายที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละจังหวัด หรือแต่ละพื้นที่ 

ข้อเสนอเพื่อการพิจารณา

ให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ศึกษา ทบทวน ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด โดยให้ลดข้อติดขัด ที่อุปสรรคที่จะมีผลต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด

จัดทำแนวทางการทำแผนปฏิบัติการ หรือแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม และกำหนดมาตรการในการจัดทำแผนของท้องถิ่นในทุกระดับ จะต้องมีตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการจัดทำแผนในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด

ให้เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด และที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด ร่วมกันประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัด ผลักดันให้มีการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมโดยมีสัดส่วนภาคประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60

 

มติข้อ 1.2

มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3

1.2 สร้างมาตรการเพื่อกำหนดให้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ในทุกระดับ มีแผนงานและโครงการที่ชุมชนในพื้นที่นั้นเป็นผู้รับผิดชอบโครงการร่วมกับท้องถิ่นและ/หรือราชการส่วนภูมิภาค โดยมีงบประมาณสนับสนุนจากท้องถิ่นและ/หรือราชการส่วนภูมิภาค ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของงบประมาณที่ดำเนินการด้านสุขภาวะแต่ละพื้นที่

ผลการติดตามมติ

          เมื่อไม่สามารถจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาข้อเสนอหรือวางแนวทางในการพัฒนากลไกการพัฒนาพื้นที่จัดการตนเองในระดับประเทศตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ วาระนโยบายสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเอง ข้อ ๑ ได้ ทำให้กลไกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้  ดังนั้น จึงยังไม่พบว่าพื้นที่ใดมีการสร้างมาตรการมาตรการเพื่อกำหนดให้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ หรือมีแผนและโครงการที่ชุมชนในพื้นที่นั้นเป็นผู้รับผิดชอบโครงการร่วมกับท้องถิ่นและ/หรือราชการส่วนภูมิภาค โดยมีงบประมาณสนับสนุนจากท้องถิ่นและ/หรือราชการส่วนภูมิภาค ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของงบประมาณที่ดำเนินการด้านสุขภาวะแต่ละพื้นที่

ปัญหาอุปสรรคของการขับเคลื่อนตามมติ          

          ปัญหาสำคัญต่อการขับเคลื่อนมติข้อนี้ คือ หนึ่งกลไกการมีส่วนร่วมที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และ     ข้อกฎหมายหลาย ๆฉบับที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณโดยเฉพาะกับงบประมาณของส่วนท้องถิ่น                  ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงหากจะให้การดำเนินการเป็นไปตามมติสมัชชาข้างต้น

ข้อเสนอเพื่อการพิจารณา

๑.       ให้รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณประจำปีของแต่ละ

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้มีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของงบประมาณรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นงบเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นโดยให้ชุมชนบริหารจัดการเอง  รับรองให้รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณประจำปีของแต่ละหน่วยงานที่เป็นราชการส่วนภูมิภาค โดยให้มีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของงบประมาณ เป็นงบประมาณเพื่อการพัฒนาชุมชน โดยให้ชุมชนบริหารจัดการเอง รับรอง

 

มติข้อ 1.3

มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3

สร้างกลไกเพื่อการพัฒนาศักยภาพการจัดการตนเองให้กับชุมชนท้องถิ่น

ผลการติดตามมติ

ยังไม่มีการพัฒนากลไกพัฒนาศักยภาพที่ชัดเจน มีเพียงบางหน่วยงานที่เริ่มขับเคลื่อนงานสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักถึงการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น

เมื่อวันที่ 21–24 สิงหาคม 2554 เครือข่ายแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเองฯ ร่วมกับภาคีพัฒนาทั้งภาครัฐ และเอกชน 12 หน่วยงาน อาทิ สำนักงานปฏิรูป สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สภาพัฒนาการเมือง ฯลฯ จัดเวทีพัฒนาศักยภาพแกนนำขับเคลื่อนแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระดับตำบล เพื่อการเปลี่ยนแปลงชุมชนท้องถิ่นสู่การจัดการตนเองภาคอีสาน มีตัวแทนองค์กรชุมชนระดับตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่ และตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมงานกว่า 200 คน โดยการพัฒนาศักยภาพแกนนำเพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาสังคมฯ ดังกล่าว เป็นกระบวนการก่อให้เกิดการยกระดับการจัดทำแผนชีวิตชุมชน สู่การขับเคลื่อนแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระดับตำบล โดยองค์กรชุมชนเป็นกลไกหลักสำคัญ อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการร่วมกันยกระดับการพัฒนาที่ใช้พื้นที่ตำบล จังหวัด เป็นตัวตั้ง เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้

เครือข่ายแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง เครือข่ายองค์กรประชาชนจังหวัดพิษณุโลก สภาองค์กรชุมชนจังหวัดพิษณุโลก มูลนิธิคนเพียงไพร เครือข่ายการเมืองภาคประชาชน สภาพัฒนาการเมือง และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานปฏิบัติการภาคเหนือ ได้จัดเวทีคนพิษณุโลกปฏิรูปสังคมสู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ณ โรงแรมลาพาโลมา อ.เมือง จ.พิษณุโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทำความเข้าใจแผนยุทธศาสตร์จังหวัดเทียบเคียงกับแผนพัฒนาภาคประชาชนจังหวัดพิษณุโลก และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่ทำให้ขบวนองค์กรชุมชนขยายผลการดำเนินงานได้อย่างกว้างขวาง รวมถึงเกิดการปฏิรูปตนเองของขบวนองค์กรชุมชน เพื่อให้ขบวนองค์กรชุมชนติดตามนโยบายแผนงานที่ส่งผลกระทบกับชุมชนท้องถิ่น 

ปัญหาอุปสรรคของการขับเคลื่อนมติ

การพัฒนาศักยภาพยังเป็นการพัฒนาในเชิงปัจเจก และพัฒนาแยกส่วนออกจากกันตามประเด็นที่ชุมชนท้องถิ่นต้องการจัดการ เช่น การพัฒนาศักยภาพเพื่อการจัดการกองทุนสวัสดิการ หรือการพัฒนาศักยภาพเพื่อการจัดการภัยพิบัติ เป็นต้น แต่ยังขาดการให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพในภาพรวม หรือการพัฒนาศักยภาพที่มุ่งเน้นการเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางแผน การจัดการกับแผนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัด

ผลการพิจารณา

ให้สภาพัฒนาการเมือง จัดทำหลักสูตรพัฒนาศักยภาพชุมชนท้องถิ่นด้านการจัดการตนเอง และจัดทำแผนพัฒนาศักยภาพชุมชนด้านการจัดการตนเอง ทั้งที่เป็นแผนระยะสั้นและระยะยาว เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ

 

มติข้อ 1.4

มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3

พัฒนากลไกให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญ ในกระบวนการติดตาม กำกับ และประเมินผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ในทุกระดับ

ผลการติดตามมติ

ปัจจุบันยังไม่มีการพัฒนากลไกการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ที่เป็นไปตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 วาระนโยบายสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเอง จึงยังไม่มีแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาให้ติดตาม หากแต่มีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดที่เกิดจากกลไกคณะกรรมการจังหวัดบูรณาการ ซึ่งต้องจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด ตามที่สำนักงานพัฒนาระบบราชการ (กพร.) กำหนด แม้ว่าแผนดังกล่าวจะไม่ได้มาจากกระบวนการมีส่วนร่วมตามเจตนารมณ์ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติก็ตาม แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ เพราะถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่ส่งผลต่อการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น

ปัญหาอุปสรรคในการขับเคลื่อนมติ

          กลไกการติดตามของภาคประชาชนยังไม่มีความเข้มแข็งพอ และไม่เป็นที่ยอมรับของหน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่น รวมถึงยังไม่มีข้อกฎหมายที่ชัดเจนในการให้อำนาจชุมชนท้องถิ่นตรวจสอบ กำกับ ติดตามการดำเนินงานของภาครัฐตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา

ผลการพิจารณา

ให้เครือข่ายคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพระดับจังหวัด เป็นกลไกในการจัดตั้งคณะทำงานเป็นแกนหลักในการประสานงานไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการจัดตั้งคณะทำงานติดตาม กำกับ และประเมินผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ในทุกระดับ

ให้คณะทำงานติดตาม กำกับ และประเมินผล รายงานผลการดำเนินการในที่ประชุมจังหวัดทุกเดือน และให้มีการรายงานผ่านสื่อสารมวลชนในพื้นที่ทุกเดือน

 

มติข้อ ๑.๕

มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3

สร้างข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานและองค์กรอิสระ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย รวมถึงองค์กรสนับสนุนงบประมาณให้มีนโยบายและจัดสรรงบประมาณ หรือเงินทุนให้ชุมชนท้องถิ่น บริหารจัดการ ตามภารกิจที่ชุมชนท้องถิ่น เป็นผู้กำหนดและตัดสินใจเอง

ผลการติดตามมติ

ไม่มีพื้นที่ใดหรือชุมชนท้องถิ่นใด ที่สามารถสร้างข้อตกลงร่วมระหว่างหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย หรือข้อตกลงร่วมเกี่ยวกับแนวทางการจัดสรรงบประมาณของท้องถิ่น แล้วสามารถให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการเองได้

ปัญหาอุปสรรคในการขับเคลื่อนมติ

          ไม่มีข้อกฎหมายหรือกลไกเชิงอำนาจ ที่เปิดโอกาส หรือเอื้ออำนวย ให้มีการสร้างข้อตกลงร่วม เพื่อการบริหารงบประมาณของท้องถิ่น

ผลการพิจารณา

ให้สภาองค์กรชุมชนระดับตำบล ประสานให้มีการจัดตั้งคณะทำงานบูรณาการงบประมาณในตำบล โดยมีส่วนร่วมจากภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานอิสระ มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณ และการกำหนดนโยบายสาธารณะ รวมถึงประสานกับองค์กรสนับสนุนงบประมาณ เช่น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สภาพัฒนาการเมือง สำนักงานปฏิรูป เป็นต้น จัดสรรงบประมาณรายปี หรือเงินทุนให้ชุมชนท้องถิ่น บริหารจัดการ ตามภารกิจที่ชุมชนท้องถิ่น เป็นผู้กำหนดและตัดสินใจเอง โดยให้ชุมชนตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหาร และดำเนินการได้เอง ทั้งนี้ให้รายงานผลต่อแหล่งทุนทราบทุกสิ้นปี

 

มติข้อ  ๑.๖

มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3

ร่วมกับสถาบันวิชาการศึกษาวิจัยรูปแบบการปกครอง โครงสร้างเชิงอำนาจ ลักษณะความสัมพันธ์ ที่เอื้อต่อการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และในพื้นที่ลักษณะพิเศษ โดยศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี เพื่อรายงานผลต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 และคณะรัฐมนตรี เพื่อผลักดันให้เกิดการทดลองปฏิบัติการในพื้นที่ต้นแบบ

ผลการติดตามมติ

เริ่มมีสถาบันอุดมศึกษาหลายสถาบันที่ให้ความสนใจเรื่องการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น แต่ยังไม่มีการดำเนินการวิจัยอย่างจริงจัง เกี่ยวกับรูปแบบการปกครอง โครงสร้างเชิงอำนาจ ลักษณะความสัมพันธ์ ที่เอื้อต่อการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และในพื้นที่ลักษณะพิเศษ

ปัญหาอุปสรรคในการขับเคลื่อนมติ

ไม่มีงบประมาณสนับสนุนเพื่อการวิจัย และสถาบันอุดมศึกษาไม่ได้กำหนดประเด็นการศึกษารูปแบบการปกครอง โครงสร้างเชิงอำนาจ หรือการจัดการชุมชนท้องถิ่น เป็นประเด็นหลักในการศึกษาวิจัย

ข้อเสนอเพื่อการพิจารณา

1.เสนอให้เครือข่ายสมัชชาสุขภาพแต่ละจังหวัด ร่วมกับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นศึกษาแผนวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง โดยมีแหล่งสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เน้นพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อขอให้สถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่น ร่วมกับเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ ศึกษาวิจัยเรื่องรูปแบบการปกครอง โครงสร้างเชิงอำนาจ หรือการจัดการชุมชนท้องถิ่น เป็นนโยบายหลักของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดยมีการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

2.ให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ประสานเครือข่ายสมัชชาสุขภาพรวบรวมองค์ความรู้ในเรื่องรูปแบบการปกครอง โครงสร้างอำนาจ หรือการจัดการชุมชนท้องถิ่น ให้มีการประชุมวิชาการแห่งชาติเพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

 

มติข้อ 2

มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2

ขอให้สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติพิจารณา กำหนดเรื่องพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะเป็นหนึ่งในระเบียบวาระของสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อติดตามประเมินผลแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ทุกระดับภายในจังหวัด

ผลการติดตามมติ

การดำเนินการเรื่องพื้นที่จัดการตนเองยังเป็นการดำเนินการในภาพรวม เช่น การจัดการตนเองของจังหวัดในเรื่องเชียงใหม่มหานคร หรือการจัดการตนเองของปัตตานี เรื่องปัตตานีมหานคร และเป็นการจัดการตนเองในรายประเด็น เช่น ประเด็นภัยพิบัติ แต่รูปธรรมที่ชัดเจนเกี่ยวกับการนำเรื่องการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น มาขับเคลื่อนในลักษณะสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่นั้น ในพื้นที่ภาคใต้ยังไม่มีจังหวัดใดดำเนินการตามมติข้างต้น

ปัญหาอุปสรรคในการขับเคลื่อนมติ

ยังไม่มีการสนับสนุนที่ชัดเจนให้เกิดการขับเคลื่อนสมัชชาเฉพาะพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถนำเรื่องการจัดการตนเองไปขับเคลื่อนได้

ผลการพิจารณา

ให้เครือข่ายสมัชชาสุขภาพระดับภาค ผลักดันให้มีการจัดสมัชชาสุขภาพระดับจังหวัด และกำหนดเรื่องพื้นที่จัดการตนเองเป็นประเด็นหลัก และเป็นประเด็นร่วมกับปัญหาอื่นๆ ในพื้นที่

 

มติข้อ 3

มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3

ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นองค์กรหลักในการสนับสนุนงบประมาณ และประสานการดำเนินงานร่วมกับ สภาองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชนเครือข่าย ภาคประชาสังคม เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด ใช้เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 66, 78 (3), 87 (1), 87 (4), 163 ดำเนินการออกแบบและผลักดันให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดการตนเองตามรูปแบบที่เหมาะสม

ผลการติดตามมติ

          ยังไม่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัดใด ที่ดำเนินการเป็นองค์กรหลักในการสนับสนุนงบประมาณ และประสานการดำเนินงานร่วมกับสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชน เครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด ใช้เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 66, 78 (3), 87 (1), 87 (4), 163 ดำเนินการออกแบบ และผลักดันให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดการตนเองตามรูปแบบที่เหมาะสม

ปัญหาอุปสรรคในการขับเคลื่อนมติ

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยังขาดความตระหนัก

ผลการพิจารณา

ให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กำหนดเกณฑ์มาตรฐานในการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการผลักดันให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดทุกแห่งเป็นองค์กรหลัก ในการสนับสนุนงบประมาณ และประสานการดำเนินงานร่วมกับสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชนเครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด ใช้เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา  66, 78 (3), 87 (1), 87 (4), 163 ดำเนินการออกแบบ และผลักดันให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดการตนเองตามรูปแบบที่เหมาะสม

ข้อเสนอใหม่เพื่อการสนับสนุนนโยบายพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะ

ให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลดำเนินการ ดังต่อไปนี้

กำหนดความสัมพันธ์เชิงอำนาจ บทบาท และหน้าที่ระหว่างการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ตลอดจนพิจารณาดูในทางปฏิบัติว่า มีกิจกรรมใดบ้างที่ท้องถิ่นเห็นสมควรที่จะดำเนินการเอง และบริหารงานได้มีประสิทธิภาพกว่าหน่วยงานส่วนภูมิภาค

ทบทวนระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน แก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับว่า มีการติดขัดหรือทับซ้อนกันอย่างไร เพื่อหาทางแก้ไขระเบียบต่างๆ ให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินงาน ตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทำการศึกษาและเลือกจังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดภูเก็ต เป็นกรณีศึกษารูปแบบการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงจากประชาชน และนำผลการศึกษาเสนอต่อรัฐบาล เพื่อพิจารณาผลักดันรูปแบบการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดต่อไป

ทำการศึกษารูปแบบการมีสภาประชาชน เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในท้องถิ่น ที่สามารถมีส่วนร่วมในการบริหารได้โดยตรง ซึ่งอาจจะเป็นองค์กรอีกชั้นหนึ่งคู่ขนานไปกับสภาท้องถิ่น ที่มีอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับต่างๆ

ให้ผลักดันมติสมัชชาปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2554 และมติสมัชชาปฏิรูป พ.ศ.2554 ที่เกี่ยวข้องกับวาระนโยบายสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะ

ข้อเสนอต่อกระบวนการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพ

ให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับติดตามการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ทั้งในระดับภาคและระดับจังหวัด โดยสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงาน เพื่อกำกับติดตามและการรายงานผลการดำเนินการตามมติ