โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังภาคใต้ (DSJ)
เปิดผลทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ สภาพัฒน์ แบ่ง 3 กลุ่มจังหวัด "สงขลา-สตูล" เน้นอุตสาหกรรมหนัก-ปิโตรเคมี ชายฝั่งอันดามันพื้นที่ท่องเที่ยว ยกเว้นสร้างท่าเรือยุทธศาสตร์
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้รายงานการศึกษา เรื่อง การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ แล้วเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2554 ซึ่งเกิดจากการสังเคราะห์ผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ที่บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด เป็นที่ปรึกษา และโครงการศึกษาเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษา
รายงานการศึกษาดังกล่าว ระบุทิศทางและแนวทางการพัฒนา 3 กรณี กรณีแรก การพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ โดยกำหนดให้ฝั่งอ่าวไทย สนับสนุนให้พัฒนาแบบผสมผสานทั้งด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและการท่องเที่ยว ส่วนฝั่งทะเลอันดามัน เป็นแนวพื้นที่การท่องเที่ยว/ผักผ่อน โดยไม่มีอุตสาหกรรมหนักและท่าเรือขนาดใหญ่ ยกเว้นสำหรับท่าเรือยุทธศาสตร์ที่จะสนับสนุนการเชื่อมโยงสองฝั่งทะเล
นอกจากนี้ยังกำหนดให้สร้างศูนย์กลางอุตสาหกรรมในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน การพัฒนาสะพานเศรษฐกิจระหว่างสตูลและสงขลา จะส่งผลให้เกิดศูนย์กลางความเจริญ ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
กรณีที่ 2 การพัฒนาตามความเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อย ระบุว่า ผู้เข้าประชุมไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก การสร้างสะพานเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรม แต่ต้องการให้การเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นหลัก พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาคนโดยให้ความสำคัญกับการศึกษาและการสาธารณสุข
กรณีที่ 3 การพัฒนาแบบบูรณาการ มีทิศทางและแนวทางที่น่าสนใจ คือ กำหนดให้พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดนใต้ เป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก เช่น อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล อุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราและแปรรูปการเกษตร นอกจากนี้ยังมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
รายงานการศึกษาดังกล่าว ระบุว่า ผลการระดมความคิดเห็นของประชาชนและภาคีการพัฒนา มาจากการประชุมกลุ่มย่อยช่วงวันที่ 19 – 22 กรกฎาคม 2554 มีผู้เข้าร่วมประมาณ 500 คน ครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ และช่วงวันที่ 21-22 สิงหาคม 2554 ในจังหวัดพัทลุงและนครศรีธรรมราช ประมาณ 140 คน และจากการสอบถามความคิดเห็นกลุ่มเป้าหมาย 6,000 คน เน้นพื้นที่แนวจังหวัดสตูล – สงขลา และพื้นที่ต่อเนื่อง ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2554