Skip to main content

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

                        ด

 

มาถึงวันนี้ งาน “สมัชชาสุขภาพภาคใต้” กลายเป็นอีกงานใหญ่ประจำปีของกลุ่มกิจกรรมใน 14 จังหวัดภาคใต้ ที่รวมตัวกันในนาม “”เครือข่ายสุขภาพภาคใต้” ไปแล้ว

คราวนี้ “เครือข่ายสุขภาพภาคใต้” จัดงาน “สมัชชาสุขภาพภาคใต้” ระหว่างวันที่ 13–15 มกราคม 2555 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ใต้ จังหวัดตรัง

ที่ประชุมที่มีแกนนำเครือข่ายจากจังหวัดต่างๆ เดินทางเข้าร่วมกันอย่างคับคั่งหลายร้อยคน ร่วมกันพิจารณาและลงมติในหลากหลายประเด็น ซึ่ง  “โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้” ขอนำรายละเอียดในแต่ละมติมานำเสนอเรียงเป็นรายประเด็น ดังต่อไปนี้

 

……………………………………………………..

 

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4

ความปลอดภัยทางอาหาร: การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ

 

ตระหนัก ว่าน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมคุณภาพ เป็นภัยเงียบที่ส่งผลต่อสุขภาพ เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็ง  ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศไทย ความนิยมบริโภคอาหารทอดเพิ่มขึ้นทำให้ในแต่ละปีมีการใช้น้ำมันทอดอาหารมากถึง ๘ แสนตัน  และในการทอดอาหารมีการใช้น้ำมันทอดซ้ำทำให้น้ำมันเสื่อมสภาพไม่ปลอดภัยที่จะนำมาประกอบอาหาร

รับทราบ ว่านโยบาย กฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องยังไม่ครอบคลุม และผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบยังไม่มีการบูรณาการร่วมกันในการป้องกันแก้ไขปัญหาให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ในเรื่องผู้รับซื้อที่มีใบอนุญาตกำจัดของเสีย

ห่วงใย ว่าหากไม่มีการบริหารจัดการที่ดีในเรื่อง น้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อสุขภาวะของผู้บริโภคและผู้ประกอบการอาหารทอด ส่งผลให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลทั้งด้านทรัพยากรบุคคล เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

กังวล ต่อการนำน้ำมันทอดซ้ำที่เสื่อมสภาพมาใช้บริโภคซึ่งรวมถึงการนำไปฟอกสีให้ใส แล้วนำกลับมาจำหน่ายการนำไปทาเส้นก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความวิตกกังวลต่อความปลอดภัยอย่างยิ่ง

ชื่นชม การทำงานของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ร่วมผลักดัน การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพให้เป็นนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ   และเสนอแนะทางออกการจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพสู่การผลิตไบโอดีเซลพลังงานทดแทนตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง สร้างความสมานฉันท์ระหว่างผู้บริโภค ผู้ประกอบการและภาคีที่เกี่ยวข้อง สมประโยชน์ทุกฝ่ายให้เกิดขึ้นในสังคม

เห็นว่า ประเทศไทยโดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันทอดซ้ำมีหน้าที่สำคัญในการผลักดันดำเนินการจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ได้แก่ ภาควิชาการ ภาคีปฏิบัติการ ภาคีกำหนดนโยบาย ภาคีสนับสนุนการปฏิบัติการ และภาคีการสื่อสารสังคม   ต้องดำเนินงานสอดประสานอย่างมีเป้าหมายร่วมกันที่จะจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน

 

จึงมีมติดังต่อไปนี้

1.ให้สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องความปลอดภัยทางอาหาร: การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ และมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ

2.ให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการร่วมกันกำหนดนโยบาย กฎหมาย และให้การสนับสนุนการดำเนินงานขององค์ปกครองท้องถิ่น ทั้งความรู้วิชาการ เทคโนโลยี และเครื่องมือในการดำเนินงาน

ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่ผลิตและใช้น้ำมันเกี่ยวกับการทอดอาหาร ร่วมมือกันประกาศมาตรการ และดำเนินการประกันความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค มิให้ได้รับการบริโภคน้ำมันทอดซ้ำที่เสื่อมสภาพ

สนับสนุนให้ภาคประชาสังคมตระหนักรู้ ตรวจสอบปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น ผ่านการรณรงค์ให้การศึกษา และสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพจากองค์กรที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

จัดทำยุทธศาสตร์การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ทั้งนี้อาจพิจารณาจากร่างยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางอาหาร: การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ

จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน เรื่องความปลอดภัยทางอาหาร: การจัดการน้ำมันทอดซ้ำและกำหนดสอนในและนอกระบบโรงเรียน

กำหนดมาตรการและเฝ้าระวังการจัดการน้ำมันทอดซ้ำที่เสื่อมสภาพ มิให้กลับสู่วงจรอาหาร

3.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นแกนหลักในพื้นที่ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งการผลิต และใช้น้ำมันทอดอาหาร ร่วมมือกันประกาศมาตรการ และดำเนินการจัดการอย่างครบวงจร เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค โดยกำหนดเป็นนโยบายและแผน และ/หรือข้อบัญญัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

           4.ให้กระทรวงพลังงานกำหนดทิศทางการจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพเป็นพลังงานทดแทน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

5.ให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงพาณิชย์ สนับสนุนส่งเสริมการนำน้ำมันทอดซ้ำเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเชล อย่างจริงจังและต่อยอดการจำหน่าย เพื่อการพาณิชย์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย