Skip to main content

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

k

มาถึงวันนี้ งาน “สมัชชาสุขภาพภาคใต้” กลายเป็นอีกงานใหญ่ประจำปีของกลุ่มกิจกรรมใน 14 จังหวัดภาคใต้ ที่รวมตัวกันในนาม “”เครือข่ายสุขภาพภาคใต้” ไปแล้ว

คราวนี้ “เครือข่ายสุขภาพภาคใต้” จัดงาน “สมัชชาสุขภาพภาคใต้” ระหว่างวันที่ 13–15 มกราคม 2555 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ใต้ จังหวัดตรัง

ที่ประชุมที่มีแกนนำเครือข่ายจากจังหวัดต่างๆ เดินทางเข้าร่วมกันอย่างคับคั่งหลายร้อยคน ร่วมกันพิจารณาและลงมติในหลากหลายประเด็น ซึ่ง  “โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้” ขอนำรายละเอียดในแต่ละมติมานำเสนอเรียงเป็นรายประเด็น ดังต่อไปนี้

 

……………………………………………………..

 

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 4 ระเบียบวาระที่ 2.3 วันที่ 2 – 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555

การเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ

 

การเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงาน ในภาคอุตสาหกรรมและบริการ

ตระหนัก ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมและบริการ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียต่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงาน ส่งผลให้คนทำงานต้องบาดเจ็บ ทุพลภาพ หรือเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

ตระหนัก ว่าการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงาน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และเป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 และกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับ รวมทั้งตามอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ

รับทราบ ว่ารัฐบาลได้กำหนดให้นโยบายว่าด้วยแรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดีเป็น “วาระแห่งชาติ” ตั้งแต่ พ.ศ.2550

ตระหนัก ว่าการแก้ปัญหาจะต้องคำนึงถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (ทั้งภาครัฐ องค์กรนายจ้าง ผู้ประกอบการ องค์กรลูกจ้าง สหภาพแรงงาน และคนทำงาน) และการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในองค์กรต่างๆ

รับทราบ ว่าคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ต้องได้บริการรับการคุ้มครองด้านอาชีวอนามัย เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงาน แต่ส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาการเข้าถึงการบริการ เนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริการด้านการประเมินการสัมผัสสิ่งแวดล้อมในการทำงาน การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ และอาชีวเวชศาสตร์ที่ยังไม่ได้มาตรฐาน และไม่เพียงพอ

 

จึงมีมติดังนี้

1.ให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

เร่งรัดให้มีการดำเนินการตามมาตรา 3 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ที่ให้ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และกิจการอื่น ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่กำหนดจัดให้มีมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานในหน่วยงานของตนไม่ต่ำกว่ามาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานตามพระราชบัญญัตินี้

ร่วมกับเครือข่ายแรงงาน องค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง และภาคีเครือข่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันการศึกษาที่ผลิต/อบรมบุคลากรด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ร่วมกันพัฒนารูปแบบการทำงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อนำไปสู่ “วัฒนธรรมความปลอดภัย” ในการทำงาน

ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำแผนแม่บทความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2555–2559) มาจัดทำแนวทางและมาตรฐานด้านอาชีวอนามัย ในเรื่องต่อไปนี้

การควบคุมคุณภาพการบริการอาชีวอนามัย ทั้งของภาคเอกชนและภาครัฐ

แนวทางการตรวจและประเมินการสัมผัสสิ่งแวดล้อมในการทำงาน

แนวทางการตรวจสุขภาพคนงานตามปัจจัยเสี่ยง

แนวทางการตรวจ วินิจฉัย รักษา และฟื้นฟูสภาพผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจากการทำงาน

พัฒนาระบบสารสนเทศด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน

จัดสรรเงินกองทุนจากดอกผลของกองทุนเงินทดแทน สนับสนุนการจัดบริการด้านอาชีวอนามัย เพื่อให้สถานประกอบกิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง มีความสามารถที่เข้าถึงบริการอาชีวอนามัยให้กับคนทำงานได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 28 วรรค 2 แห่ง พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537

ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และศึกษาข้อมูลเตรียมความพร้อม เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการลงสัตยาบันต่ออนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่จำเป็นต่อบริการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ดังนี้

ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงานและอาชีวอนามัย ค.ศ.1981 (พ.ศ.2524)

ฉบับที่ 161 ว่าด้วยการบริการอาชีวอนามัย ค.ศ.1985 (พ.ศ.2528)

ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบงานส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานและอาชีวอนามัย ค.ศ. 2006 (พ.ศ.2549)

2.ให้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในฐานะองค์กรมหาชนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความเข้มแข็งแก่องค์กรแรงงาน และภาคประชาสังคม เพื่อเป็นกลไกส่งเสริม การเข้าถึงสิทธิเรื่องบริการอาชีวอนามัย มากยิ่งขึ้น

3.ให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคและกรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการในเรื่องต่อไปนี้

พัฒนารูปแบบการจัดบริการด้านอาชีวอนามัย และอาชีวเวชศาสตร์ ให้มีคุณภาพครอบคลุมและเข้าถึงได้ง่าย เป็นไปตามมาตรฐาน

สนับสนุนหรือร่วมมือกับมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาและองค์กรวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการผลิตเพิ่ม พัฒนานักอาชีวอนามัย นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ และพยาบาลอาชีวอนามัย ให้มีความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่การบริการด้านการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมการทำงานและสุขภาพ

          4.ให้มีคณะทำงานติดตามกำกับและประเมินผล มติสมัชชาในทุกระดับ