Skip to main content

 

ปอเนาะศาลาลูกไก่นราฯ โชว์คัมภีร์อัลกุรอาน อายุ 200 - 680 ปี ของเก่าสมัยรัฐปาตานี อีกหลักฐานคู่ประวัติศาสตร์ชายแดนใต้? เผยตุรกีสนใจ ชี้เป็นหลักฐานโบราณคดีโลกอิสลาม พร้อมช่วยบูรณะเคลือบสารพิเศษ หนุนสร้างพิพิธภัณฑ์ หวั่นนักแสวงโชคฉก

 

 

คัมภีร์เก่าแก่ - คัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่เล่มหนึ่งเขียนด้วยลายมือ

 

 

 

 

งานมหกรรมวิชาการครั้งที่ 3 ของโรงเรียนสมานมิตรวิทยา หรือปอเนาะศาลาลูกไก่ ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2555 ไม่แตกต่างจากครั้งที่ผ่านมา แต่ที่พิเศษหน่อยก็ตรงที่มีของเก่าที่ไม่ธรรมดามาโชว์

ดังนั้น จุดสนใจของงานจึงไม่ได้อยู่ที่กิจกรรมบนเวทีกับนิทรรศการนักเรียน แต่อยู่ที่ห้องเล็กๆ ภายในอาคารบริหาร ซึ่งเป็นห้องที่อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมชนิดหนึ่ง เป็นห้องที่จัดแสดงคัมภีร์โบราณเขียนด้วยลายมือจำนวน 8 เล่ม อายุตั้งแต่ 200 ถึง 860 ปี บางเล่มมีสภาพเปื่อยยุ่ยบางส่วน

ทว่า เล่มที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมมากที่สุด แม้แต่พวกทหาร ก็คือเล่มที่ถูกใส่กรอบกระจกครอบไว้ และมีข้อความเขียนเป็นภาษามลายูอักษรยาวีแปะไว้ อธิบายว่า “....เป็นคัมภีร์อัลกุรอานที่ใช้ในการสาบานตน (ซุมเปาะ) ของข้าราชการในราชสำนักฟาฏอนีย์”

ข้อความอธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นคัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่ที่เขียนด้วยลายมือ (ศตวรรษที่ 8 ของฮิจเราะห์ศักราช) มีอายุประมาณ 680 ปี ปกเป็นหนังและผ้าไหม ส่วนกระดาษนำมาจากจีน มีการเขียนลวดลายมลายูรูปดอกชบา หรือ บูหงารายา เดิมนำมาจากวังของกษัตริย์ฟาฏอนีย์(ปาตานี)

“ผมได้คัมภีร์เก่าแก่เล่มนี้จากหมู่บ้านแห่งหนึ่งในตำบลกรือเซะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ผมทราบว่ามีเล่มนี้อยู่ที่ชาวบ้านคนหนึ่ง จึงติดต่อขอรับบริจาคจากเจ้าของเดิมและได้มาในที่สุด” นายลุตฟี หะยีสาแม ผู้จัดการโรงเรียนสมานมิตรวิทยา เล่าถึงการได้มาครอบครองคำภีร์อัลกุรอ่านเก่าแก่เล่มนี้

กุรอานเก่า

ใช้ซุมเปาะ? - คัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่อายุ 680 ปี ที่เชื่อว่าใช้ในการซุมเปาะของกษัตริย์ปาตานีในอดีต

 

 

 

ลุตฟี ระบุว่า มีการเล่าต่อๆ กันมาว่า เป็นคัมภีร์ที่ใช้ประกอบพิธีการสาบานตน เพื่อเข้ารับตำแหน่งของข้าราชการของรัฐปาตานีต่อหน้ากษัตริย์ในอดีต และเป็นเล่มเดียวกับที่ใช้มาตั้งแต่ซุลต่าน มูซัฟฟาร์ ชาห์ กษัตริย์คนแรกของรัฐปาตานี สำหรับคัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่ที่เป็นของดินแดนปัตตานีมีทั้งหมด 3 เล่ม ที่นำมาจัดแสดง

ส่วนเล่มอื่นที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน คือเล่มที่มาจากแคว้นฮาดอรอเมาท์ ประเทศเยเมน มีอายุเก่าแก่ที่สุดประมาณ 860 ปี และเป็นเล่มแรกที่ลุตฟี หะยีสะแม ได้ครอบครองมาด้วยความบังเอิญ ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่า ตนเองไม่ใช่นักสะสมของเก่า และไม่ใช่คนชอบเล่นของขลัง และการได้มาของคัมภีร์โบราณก็ยังแปลกมาด้วย

คำอธิบายของคัมภีร์เล่มนี้ ระบุว่า นักปราชญ์ชาวอาหรับที่มาเผยแพร่ศาสนาและค้าขายเป็นผู้นำมาในดินแดนมลายู จากนั้นได้ตกไปอยู่ในมือของนักปราชญ์ชาวอาเจะห์ จากนั้นถูกย้ายไปยังมาเลเซียและมาที่ดินแดนปัตตานีในที่สุด

ลุตฟี อธิบายว่า คัมภีร์อัลกุรอานเล่มที่เก่าแก่ที่สุดเล่มนี้ เขียนโดยช่างชาวอาหรับเยเมน ตนได้มาจาก Tang Sri Abu Syahid เศรษฐีชาวมาเลเซีย ที่เกาะบัสเราะห์ เมืองกวนตัน รัฐปาหัง ขณะเดินทางไปขอรับบริจาคเงินสร้างอาคารเรียนเมื่อหลายปีก่อน โดยเจ้าของฝันว่า ให้มอบคัมภีร์เล่มนี้ให้โต๊ะครูปอเนาะศาลาลูกไก่ เพื่อประเมินคุณค่าและเป็นประโยชน์กับปอเนาะ

“ก่อนที่เศรษฐีคนนั้นจะเรียกผมไปพบ เขาเล่าว่า ฝันเห็นชายคนหนึ่งมาบอกให้มอบของมีค่าให้ผู้มาเยือนจากดินแดนปัตตานี ซึ่งหมายถึงผมแล้วจะประสบความสำเร็จทางการงาน”

“เมื่อได้มาแล้ว สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ กษัตย์ของประเทศบรูไนดารุสลาม ได้เรียกผมให้เข้าเฝ้า เนื่องจากทราบว่า ผมได้ครอบครองคัมภีร์อัลกุรอานเล่มนั้น พระองค์ต้องการให้ผมมอบคัมภีร์อัลกุรอานเล่มนั้นแต่ผมปฏิเสธ เพราะต้องการให้เป็นสมบัติของชาวปัตตานีสืบไป”

 

ลุตฟี หะยีสาแม

นายลุตฟี หะยีสาแม ผู้จัดการโรงเรียนสมานมิตรวิทยา

 

“จากนั้นผมได้ติดต่อเจรจาขอคัมภีร์อัลกุรอานโบราณอีกหลายเล่มจากเจ้าของในเมืองบันดาอาเจะห์ และสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย และจากเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ตามที่ผมทราบมาว่ามีคัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่อยู่ ซึ่งเจ้าของก็ยอมมอบให้ แต่ต้องแลกด้วยการบริจาคเงินจำนวนไม่มากเกินไปเป็นการตอบแทน ซึ่งผมเองก็ไม่คาดฝันว่าจะได้ ถือเป็นความเป็นสิริมงคลที่อัลลอฮฺมอบให้”

หลังจากข่าวการได้คัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่เผยแพร่ไปหลายเดือน ปรากฏว่ามีนักโบราณคดีจากประเทศตุรกีเดินทางมาขอชม และให้นำรวบรวมเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์แห่งโลกมุสลิมในพิพิธภัณฑ์ที่ประเทศตุรกี

ทว่า ลุตฟีปฏิเสธ นักโบราณคดีตุรกีจึงขอเพียงนำไปบูรณะโดยเคลือบสารพิเศษป้องกันความเสียหาย แล้วจะส่งคืนให้ชาวปัตตานีต่อไป เพื่อป้องกันมิให้เสื่อมโทรมลงไปมากกว่านี้

อีกทั้งยังเสนอจะสร้างพิพิธภัณฑ์คัมภีร์โบราณไว้ที่โรงเรียนแห่งนี้ด้วย รวมทั้งจะพิสูจน์อายุที่แท้จริง เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

“อัลกุรอานเป็นสมบัติร่วมของชาวมุสลิมทั่วโลก ทางตุรกีจึงเสนอมาช่วยบูรณะซ่อมแซม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะผมก็ไม่รู้ว่าจะดูแลรักษาอย่างไร”

ทว่า สิ่งที่ลุตฟี ห่วงและกังวลมากที่สุด คือ กลัวว่าคัมภีร์โบราณกับน้ำหอมเก่าแก่ จะตกไปอยู่ในมือนักแสวงโชค จึงต้องการให้มีพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพราะของพวกนี้ย่อมเป็นที่ต้องการของนักแสวงโชคจากของเก่า จึงเปิดให้ชมเพียงปีละครั้งเท่านั้น

ขณะที่เจ้าตัวยืนยันว่า อย่างอารมณ์ดีว่า “ผมไม่เล่นของแบบนั้นอยู่แล้ว”

ตอนนี้ เชื่อว่าทั่ว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีคัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่ที่เขียนด้วยมืออยู่อีกหลายเล่ม

แต่ที่ลุตฟี สำรวจพบแหล่งที่อยู่แล้ว มี 5 เล่ม คาดว่าภายในหนึ่งเดือนจะทราบผลว่าเจ้าของจะบริจาคให้ได้หรือไม่ เพราะห้ามซื้อขาย และคาดว่าน่าจะยังมีอีก แต่ยังกระจัดกระจายอยู่ตามบ้านเรือนของชาวบ้าน

ลุตฟี เล่าว่า เจ้าของบางคนเก็บรักษาไว้อย่างไม่เป็นระเบียบ แค่ห่อผ้าแล้วสอดไว้ในตู้เท่านั้น ซึ่งน่าเสียดายว่า อาจทำให้เสียหายได้ และน่าเป็นห่วงว่า หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยังหลงเหลืออยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะสูญหายไปด้วย

“จากการติดตามของผม พบว่า ถ้าเทียบอายุของคัมภีร์อัลกุรอานโบราณที่มีอยู่ในประเทศมุสลิมแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ยังไม่มีเล่มไหนที่มีอายุเก่าแก่กว่าของปัตตานี ยกเว้นที่อาเจะห์ จึงทำให้หลายประเทศในแถบนี้อยากได้คัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของตน เพราะพวกเขารู้สึกว่า เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไม่สมบูรณ์หากไม่มีคัมภีร์อัลกุรอานเก่าเก็บไว้”

ลุตฟี บอกว่า ที่อาเจะห์มีคัมภีร์อัลกุรอานโบราณหลายเล่ม พอๆ กับของดินแดนปัตตานี แต่ใช้วัสดุที่แตกต่างกัน ที่นั่นมีการเก็บรวบรวมไว้อย่างดี เพราะมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งรวบรวมวัตถุโบราณในท้องถิ่นไว้ แต่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่มี แต่หากกรมศิลปากรของไทยจะเอาไปก็คงไม่ยอมเช่นกัน

“ตั้งแต่ผมได้ครอบครองคัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่หลายเล่ม ยังไม่เคยถูกเจ้าหน้าที่สงสัยว่า ครอบครองเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ที่ใช้ในการปลุกระดมหรือไม่ ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหา เพราะเป็นคัมภีร์อัลกุรอาน แต่ถ้าเป็นคัมภีร์อื่นก็ไม่แน่...”

 

กุรอ่านเก่า

หาดูยาก - ประชาชนเข้าชมคัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่ที่เจ้าของเปิดให้ชมเพียงปีละครั้ง

 

 

ขึ้นชื่อว่าของเก่าแก่ใครๆ ก็สนใจอยู่แล้ว ยิ่งเป็นคัมภีร์ที่ถือเป็นธรรมนูญชีวิตของชาวมุสลิมด้วยแล้ว ก็ยิ่งมีคนสนใจอยากมาดูชมอยู่แล้ว เพราะมีหลายคนที่รู้ข่าว ถึงขนาดเช่าเหมารถมาไกลเพื่อมาชมคัมภีร์โบราณโดยเฉพาะ

อย่างนางสือเมาะ บาฮา ถึงกับอุตสาห์ขับรถจักรยานยนต์มาจากอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ที่อยู่ไกลออกไปเกือบร้อยกิโลเมตร เพื่อมาชมคัมภีร์อัลกุรอานโบราณครั้งนี้ หลังจากทราบข่าวจากรายการวิทยุ

สือเมาะ คิดว่า คงจะดีไม่น้อย ถ้าจะมีพิพิธภัณฑ์อนุรักษ์คัมภีร์สำคัญระดับโลกไว้ในดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แห่งนี้ไว้ให้ชื่นชม และภาคภูมิใจ