16 February 2012
ระหว่างเวลา 09.30–16.00 น. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ห้องประชุมอัลอีหม่าม อัน–นาวาวีย์ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทางกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานปฏิรูป (สปร.) จัดเวทีสมัชชาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป ระดับพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ปี 2555 มีผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ พนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จาก 3 จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส เข้าร่วมประมาณ 300 คน
นายสมพร ใช้บางยาง ประธานคณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป ในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (สปร.) ชี้แจงว่า วัตถุประสงค์ในการจัดเวทีสมัชชาองค์กรปกครองท้องถิ่นครั้งนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับองค์กรปกครองท้องถิ่น 4 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พระราชบัญญัติข้าราชการส่วนท้องถิ่น ร่างพระราชบัญญัติรายได้ท้องถิ่น ร่างพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมกับเปิดให้เข้าชื่อ 1 หมื่นรายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายทั้ง 4 ฉบับต่อรัฐสภา ผลักดันให้ตราเป็นกฎหมายประกาศบังคับใช้ต่อไป
นางประณีต ถาวร คณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป ในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (สปร.) นำเสนอว่า ประเด็นสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือ การจัดตั้งสภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ (ส.ท.ช.) ดำเนินงานในรูปของคณะกรรมการ โดยมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานคณะกรรมการ มีฐานะเป็นส่วนราชการเทียบเท่ากระทรวง
นางประณีต นำเสนออีกว่า สภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ ประกอบด้วยคณะกรรมการ 4 ฝ่ายคือ รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้อง ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการปกครองท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจ
จากนั้นได้มีการแบ่งกลุ่มเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับองค์กรปกครองท้องถิ่นทั้ง 4 ฉบับ ที่ประชุมกลุ่มย่อยเสนอให้สภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ เป็นองค์กรอิสระ มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกจากภาคส่วนต่างๆ พร้อมกับเสนอให้ยุบองค์การบริหารส่วนจังหวัด เหลือเพียงเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
สำหรับประเด็นสำคัญของร่างพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระบุให้คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ทำหน้าที่กำหนดแนวทางและขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจและทรัพยากรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นฝ่ายเลขานุการ มีฐานะเป็นส่วนราชการเทียบเท่ากรม
คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานคณะกรรมการ ผู้แทนส่วนราชการ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ ประเภทละ 12 คน
ส่วนร่างพระราชบัญญัติรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดให้มีคณะกรรมการการคลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนเท่าๆ กัน เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายการพัฒนารายได้ และการบริหารการเงินการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีเป้าหมายที่ชัดเจน และมีมาตรการรองรับอย่างเป็นรูปธรรม
คณะกรรมการการคลัง มีหน้าที่จัดทำแผนพัฒนารายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำหนดมาตรการรองรับ จัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดสรรรายได้ และเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำหลักเกณฑ์ ขั้นตอน แนวปฏิบัติ และการตรวจสอบการก่อหนี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำระเบียบ ประกาศ หรือหลักเกณฑ์ต่างๆ ด้านการเงิน การคลัง และงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
สำหรับร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารข้าราชการท้องถิ่น กำหนดให้มีคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) มีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง 7 คน ผู้แทนจากผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น 8 คน ผู้แทนจากข้าราชการส่วนท้องถิ่น 8 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน
คณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ออกกฎ ระเบียบ และมาตรฐานเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น และกำหนดมาตรฐานกรอบอัตรากำลัง กำหนดมาตรการส่งเสริมฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น และตรวจสอบติดตามผลแต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่นหรือให้พ้นจากตำแหน่ง ให้ความเห็นชอบในการโอนย้ายข้าราชการส่วนท้องถิ่นระหว่างจังหวัดและรับโอนจากข้าราชการประเภทอื่นจัดทำทะเบียนประวัติ บัญชีเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และค่าตอบแทนต่างๆ พิจารณาการโอนย้ายข้าราชการส่วนท้องถิ่นระหว่างจังหวัด