ครูใต้ประชุมกดดันรัฐขอเยียวยา 7.5 ล้าน ยันทำงานเพื่อบ้านเมือง ต้องช่วยให้เท่าเทียม หลักเกณฑ์เยียวยายังไม่เข้าครม. นัดถกอีกรอบสัปดาห์หน้า
บุญสม ทองศรีพลาย
เมื่อเวลา10.00 น. วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ห้องประชุมโรงแรมปาร์ควิว อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ตัวแทนครูจากเขตพื้นที่การศึกษา 10 เขตใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และจาก 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาร่วมประชุมพิจารณาร่างหลักเกณฑ์เยียวยาสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายบุญสม ทองศรีพลาย ประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธาน
ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า จะเสนอหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยากรณีเสียชีวิตรายละ 7.5 ล้านบาท ต่อคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
ที่ประชุมมีการแจ้งให้ทราบถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่เพิ่มค่าเสี่ยงภัยจากเดิม 2,500 บาทเป็น 3,500 บาท รวมทั้งให้สิทธินี้แก่ลูกจ้างชั่วคราวด้วย
นายบุญสม กล่าวว่า การเสนอร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม แม้ครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่ได้เสียชีวิตจากการชุมนุมทางการเมือง แต่ก็ทำงานเพื่อบ้านเมือง เพื่อความมั่นคงของชาติ จึงควรได้รับการพิจารณาช่วยเหลือเช่นเดียวกับกรณีตากใบและมัสยิดไอร์ปาแย เป็นต้น
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 ร่างยุทธศาสตร์การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีกรอบการให้เงินเยียวยารายละไม่เกิน 7.5 ล้านบาท ยังไม่ถูกนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เนื่องจากหลักเกณฑ์การช่วยเหลือบางส่วนยังมีข้อบกพร่องอยู่ จึงต้องให้คณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน พิจารณาอีกครั้ง คาดว่าจะนัดประชุมได้ภายในสัปดาห์หน้า
พ.ต.อ.ทวี เปิดเผยต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังต้องให้คณะกรรมการเยียวยาฯ พิจารณาข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกรณีผู้เสียชีวิตจากความไม่สงบจำนวนกว่า 4,000 รายว่า มีการช่วยเหลือเยียวยาไปแล้วจำนวนเท่าใดและอย่างไร เนื่องจากขณะนี้มีข้อมูลหลายชุดที่ไม่ตรงกัน เช่น บางข้อมูลระบุว่า มีผู้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาไปแล้วเพียง 2,000 รายเท่านั้น
พ.ต.อ.ทวี เปิดเผยว่า คณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องพิจารณาในรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 กลุ่มเหตุการณ์ตากใบและมัสยิดไอร์ปาแย กลุ่มผู้สูญหายหรือถูกทรมาน และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทั่วไป