เสวนา - (จากซ้ายไปขวา) นายสุกรี หลังปูเต๊ะ นายมัสลัน มาหะมะ นักวิชาการมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา และนายต่วนบูคอรี โต๊ะกูบาฮา ประธานชมรมอิหม่ามจังหวัดปัตตานี รวมเสวนา 4 เสาหลักกับการจัดการชุมชนสู่ประชาคมอาเซียน เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2555 ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี โดยมีนายแวรอมลี แวบูละ ประธานเครือข่ายชุมชนศรัทธา ดำเนินรายการ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555 ที่อาคารอเนกประสงค์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี เครือข่ายชุมชนศรัทธาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กำปงตักวา จัดประชุม 4 เสาหลัก เรื่องการจัดการชุมชนสู่ประชาคมอาเซียน มีผู้นำชุมชน 4 เสาหลัก ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน โต๊ะอิหม่าม ผู้นำองค์กรชุมชนและนักการเมืองท้องถิ่น จากจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส เข้าร่วมประมาณ 200 คน เพื่อตั้งตัวแทนชุมชนศรัทธาแห่งใหม่ 40 แห่ง
นายต่วนบูคอรี โต๊ะกูบาฮา โต๊ะอิหม่ามบ้านปูยุด ตำบลปูยุด อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ประธานชมรมอิหม่ามจังหวัดปัตตานี กล่าวในการเสวนาว่า ขณะนี้ผู้นำศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่พร้อมที่รับความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเป็นประชาคมอาเซียนของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2558 เนื่องจากสถาบันผู้นำศาสนาอิสลามตั้งแต่ โต๊ะอิหม่าม สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ไปจนถึงสำนักจุฬาราชมนตรี เพราะยังอบอวลไปด้วยบรรยากาศของความขัดแย้ง และการแย่งชิงอำนาจ
นายต่วนบูคอรี กล่าวว่า ขณะนี้เกิดภาวะที่ชาวมุสลิมไม่กล้าห้ามปรามผู้กระทำผิดตามหลักศาสนาอิสลาม เช่น ไม่กล้าห้ามวัยรุ่นที่ไม่ละหมาด ไม่กล้าห้ามวัยรุ่นที่ไม่ถือศีลอด ขณะเดียวกันวัยรุ่นเองก็กล้าหรือต้องการแสดงออกว่า ตนเองกำลังทำผิดหลักศาสนาอิสลาม
“ผมเคยจับนักเรียนฮาฟิซ หรือนักเรียนท่องจำอัลกุรอานที่เสพยาเสพติดได้ 2 คน และจับได้ว่า คนขายยาเสพติดก็เป็นคนในเครือข่ายกรรมการมัสยิด จากนั้นก็มีลูกน้องกำนันคนหนึ่งมาด่าว่าคนขายยาเสพติดว่า โง่จริงๆ ไปขายกับนักเรียนฮาฟิซทำไม ไม่มีปัญญาขายคนอื่นแล้วหรือ การที่ลูกน้องกำนันถามอย่างนั้น ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร จากนั้นเด็กขายยาเสพติด ก็บอกว่า เด็กฮาฟิซขายง่าย เพราะอยู่แต่ในมัสยิด” นายต่วนบูคอรี กล่าว
“จากนั้นกำนันคนเดิม ถามผมว่า จะจัดการอย่างไร ผมตอบไปว่า หมดหน้าที่ของโต๊ะอิหม่ามแล้ว ต่อไปเป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครอง กำนันคนเดิมก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นคนนี้ผมขอ กรณีเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า แม้แต่คนที่อยู่กับศาสนาก็ถูกทำลายไปถึงขนาดนั้นแล้ว”นายต่วนบูคอรี กล่าว
นายมัสลัน มาหะมะ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา กล่าวว่า ขณะนี้ยาเสพติดเป็นกระบวนการปิดปากผู้นำศาสนาได้อย่างดี เพราะมีลูกของผู้นำศาสนาอิสลามหลายคนที่ติดยาเสพติด ซึ่งทำให้ผู้นำศาสนาอิสลามไม่กล้าที่จะพูดถึงปัญหายาเสพติด เพราะจะทำให้ชาวบ้านนินทาได้ และจะยิงทำให้ยาเสพติดระบาดมากขึ้น เนื่องจากผู้นำศาสนากำลังถูกรุมจากขบวนการยาเสพติด
นายสุกรี หลังปูเต๊ะ คณบดีคณะศิลปะศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา กล่าวว่า ขณะนี้ในประเทศมาเลเซียเองก็มีความกังวลว่า การเปิดเสรีอาเซียนจะส่งผลกระทบต่อศาสนาอิสลาม เช่นเดียวกับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และหลายประเทศที่กำลังพูดถึงความมั่นคงทางศาสนาอิสลาม