Skip to main content

 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กรณีการร้องเรียนเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมาน นายซุลกิฟลี ซิกะ โดยให้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และพร้อมจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายภายหลังจากที่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ด้วยข้อมูลทั้ง 2 ด้านที่ไม่ตรงกัน

 

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ และรองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า

    

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ และรองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า แถลงข่าว กรณีการร้องเรียนเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมาน นายซุลกิฟลี ซิกะ

พ.อ.ปราโมทย์ แถลงว่า จากกรณี น.ส.ซาเร๊าะ ซิกะ พี่สาว นายซุลกิฟลี ซิกะ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวตาม พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ในพื้นที่บ้านพงยือติ หมู่ที่ 9 ต.ละโล๊ะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ได้ทำหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมกับ ผอ.รมน.ภาค 4 โดยได้กล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานโดยการตีด้วยของแข็ง ไม่อนุญาตให้เปลี่ยนเสื้อผ้า ไม่อนุญาตให้ประกอบศาสนกิจ และถูกพันธนาการด้วยกุญแจมือตลอดระยะเวลาที่ทำการซักถาม ณ ฉก.ทพ.46 ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส ในห้วง 10 - 16 กุมภาพันธ์ 2555

โดยได้ร้องขอให้นำตัวเข้ารับการตรวจรักษาโดยแพทย์ และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ของเหตุการณ์ เพื่อเอาความผิดกับเจ้าหน้าที่ทั้งทางวินัยและทางอาญา รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือ และเยียวยาเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบ จากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังกล่าวอย่างเหมาะสมต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้มีสื่อหลายสำนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเว็บไซด์ ผู้จัดการออนไลน์ (27 กุมภาพันธ์ 2555) เว็บไซด์พาสนิวส์ (27 กุมภาพันธ์ 2555) ได้ลงข่าวในลักษณะเดียวกันว่า นายซุลกิฟลีได้ถูกทหารซ้อมทรมานเพื่อให้สารภาพว่าเป็นแนวร่วมสมาชิกโจรก่อการร้ายโดยการจับศีรษะกระแทกพื้นจนศีรษะแตก รุมซ้อม ชกต่อย และใช้เท้าเตะจนสลบ, ใช้ถุงพลาสติก และกระสอบใส่ปุ๋ยสีขาวครอบศีรษะเพื่อทรมาน รวมทั้งใช้มือบีบ ลูกอัณฑะ เพื่อให้สารภาพนั้น

จากกรณีดังกล่าว แม่ทัพภาคที่ 4 / ผอ.รมน.ภาค 4 ได้สั่งการและมอบแนวทางในการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ดังนี้ ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงต่อกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างโปร่งใส และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย พร้อมกับได้เน้นย้ำให้ปฏิบัติตามนโยบายของ ผบ.ทบ./ รอง ผอ.รมน. ในเรื่องการปฏิบัติตนภายใต้หลักกฎหมาย, หลักสิทธิมนุษยชน และการไม่ย่ำยีในศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ และหากพบว่าเจ้าหน้าที่บกพร่อง และละเมิดนโยบายดังกล่าว จะมีการลงทัณฑ์สถานหนัก ทั้งประมวลกฎหมายอาญาทหาร และกฎหมายบ้านเมืองอย่างเป็นธรรม พร้อมที่จะอำนวยความสะดวกให้องค์กรภาคประชาสังคม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ หน่วยงานอื่นๆ เข้าตรวจสอบ และรวบรวมข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับการกระทำ หรือการละเลยการกระทำ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่มี ผู้ร้องเรียน หรือปรากฏเหตุการณ์ขึ้น ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในขั้นต้น กับหน่วยที่เกี่ยวข้องในการควบคุมตัว สรุปดังนี้

ฉก.นราธิวาส 30 อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2547 ร่วมกับ ชป.พิเศษ เข้าควบคุมตัว นายซุลกิฟลี เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 11.45 ณ บ้านพักไม่มีเลขที่ของนางสาวซาเร๊าะ ซิกะ (พี่สาว นายซุลกิฟลี) หมู่ที่ 9 ต.ลาโล๊ะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส พร้อมตรวจยึดโทรศัพท์ ยี่ห้อโนเกีย จำนวน 1 เครื่อง (ไม่มีซิมการ์ด)

เนื่องจากมีพฤติกรรมขณะเจ้าหน้าที่พยายามเข้าควบคุมตัว นายซุลกิฟลีพยายามขัดขืน และถอดซิมโทรศัพท์ทิ้ง พร้อมทั้งได้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนของนายมะรอลือดี ซิกะ ซึ่งเป็นน้องชายนำมาแสดงตนให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นการอำพรางตนเอง แต่เจ้าหน้าที่สามารถจดจำใบหน้าของนายซุลกิฟลี ได้เป็นอย่างดี จึงได้นำตัวมาซักถาม/ตรวจสอบ เพิ่มเติม ณ บก.ฉก.นราธิวาส 30

ซึ่งนายซุลกิฟลีฯ ได้สารภาพว่าใช้บัตรประจำตัวประชาชนของน้องชายตนเองจริง เพื่ออำพรางเจ้าหน้าที่ เพราะทราบดีว่าในห้วงเวลาที่ผ่านมาตนเอง และนายอับดุลอาแซ ซิกะ (พี่ชาย) ผกร.ระดับ หน.ฝ่าย Piha (ฮารีเมา) เป็นบุคคลที่เจ้าหน้าที่พยายามติดตามจับกุมมาโดยตลอด

สำหรับซิมการ์ดโทรศัพท์ ได้ยอมรับว่า ในระหว่างเจ้าหน้าที่เข้าทำการปิดล้อม ได้ถอดซิมการ์ดโทรศัพท์ทิ้งจริงๆ จากนั้นได้นำตัวส่งให้ ฉก.ทพ.46 เพื่อดำเนินการซักถามข้อเท็จจริงต่อไป โดยไม่ได้มีการซ้อมทรมาน ดังที่ปรากฏเป็นข่าว แต่อย่างใด ฉก.ทพ.46 ได้รายงานข้อเท็จจริงให้ทราบดังนี้

จากการดำเนินกรรมวิธีซักถามในขั้นต้น นายซุลกิฟลีให้การยอมรับว่าตนเองเป็นสมาชิกกลุ่ม ผกร. (ผู้ก่อการร้าย) จริงและที่ผ่านมาได้รับมอบหน้าที่รับผิดชอบให้ทำหน้าที่เก็บรักษาอาวุธ/ยุทโธปกรณ์ต่างๆ โดยการซุกซ่อนไว้ในพื้นที่ต่างๆ พร้อมกับได้นำเจ้าหน้าที่ไปชี้จุดที่เคยใช้ในการเก็บซ่อนจำนวน 3 จุด เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2555 โดยมี นางสาว ซาเร๊าะ ซิกะ พี่สาวร่วมเดินทางไปด้วย แต่อาวุธถูกเคลื่อนย้ายไปแล้ว

โดยได้ควบคุมตัวเพื่อซักถามในห้วง 10 - 16 กุมภาพันธ์ 2555 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 ศาลจังหวัดนราธิวาสได้อนุญาตออกหมายจับตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ ฉฉ.15/2555 ลง 16 ก.พ. 55 โดยให้ดำเนินการส่งตัวให้ตอนซักถาม ขกท.สน.จชต. ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซักถามข้อมูลเพิ่มเติม ในห้วง 16 - 20 ก.พ. 55

จากนั้นได้ขออนุมัติเปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัว เพื่อขยายผลเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ณ ศูนย์พิทักษ์สันติ กกล.ตร.จชต. ก่อนปล่อยตัวเนื่องจากครบกำหนดอำนาจการควบคุมตัวตามหมาย พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2578 ใน วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 10.00 น. ศาลจังหวัดนราธิวาสได้นัดไต่สวนตาม คำร้องของ น.ส.ซอเร๊าะ ซิกะ ที่ คัดค้านการขอขยายเวลาควบคุมตัว นายซุลกิฟลี ฯ ตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

ซึ่งศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายซุลกิฟลีได้รับการปล่อยตัวไปแล้วจึงไม่มีความจำเป็นต้องไต่สวนคำร้องอีกต่อไป จึงมีคำสั่งยกคำร้อง ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่เป็นไปตามการนำเสนอข่าวที่ว่านาย ซุลกิฟลีถูกส่งฟ้องศาล และศาลพิจารณาว่าไม่มีความผิด และได้ปล่อยตัวแต่อย่างใด ซึ่งในขณะควบคุมตัว ไม่มีการซ้อมทรมานหรือทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด

หากมีการปฏิบัติในลักษณะดังกล่าวจริงจะต้องมีบาดแผลและรอยฟกซ้ำตามร่างกายและสามารถพิสูจน์ได้ อย่างไรก็ตามอาจจะมีรอยแผลถลอกบ้างในระหว่างการจับกุมตัว เนื่องจากนาย ซุลกิฟลี พยายามต่อต้านและขัดขืน ซึ่งสอดคล้องกับผลการตรวจร่างกายพิสูจน์โดยนายแพทย์หลายครั้ง พบว่ามีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงปกติมีเพียงรอยแผลถลอกเล็กน้อยบริเวณเข่า และเหนือหลังเอวซึ่งสะเก็ดได้หลุดหายไปแล้ว โดยไม่พบว่าศีรษะแตกหรือมีร่องรอยฟกซ้ำจากการทำร้ายร่างกาย และ ซ้อมทรมานต่อเนื่องถึง 7 วัน ตามที่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด

ในระหว่างควบคุมตัวเพื่อดำเนินกรรมวิธีซักถาม ณ บก.ฉก.ทพ.46 ไม่มีพันธนาการใดๆ ทั้งสิ้นและ ปฏิบัติเช่นเดียวกับบุคคลอื่นๆ ที่ถูกควบคุมตัวสามารถประกอบศาสนกิจได้ตามปกติ สำหรับการใส่กุญแจมือ ดำเนินการเฉพาะในห้วงเข้าควบคุมตัวในพื้นที่เท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้ โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก เนื่องจากนายซุลกิฟลีพยายามต่อต้านการควบคุมตัว ทั้งเรื่องการทิ้งซิมการ์ดโทรศัพท์ , การปิดบังอำพรางสถานะของตนเองด้วยการแสดงบัตรประจำตัวประชาชนของน้องชาย ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าว หากไม่มีการพันธนาการอาจจะมีการแย่งชิงอาวุธ เพื่อทำการหลบหนี ก็เป็นไปได้ เพราะที่ผ่านมานายซุลกิฟลีได้หลบหนีการจับกุมมาโดยตลอด

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อยากให้สังคมได้ใช้วิจารณญาณอย่างถี่ถ้วน , รอบคอบ เพราะบางครั้งสิ่งที่มองเห็น อาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงเสมอไป หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความสลับซับซ้อน