แกนนำภาคประชาสังคม ยุกลุ่มผู้หญิงชายแดนใต้ ใช้สื่อใหม่สร้างพลังขับเคลื่อนแก้ปัญหา ผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง ย้ำไม่เป็นนักข่าวก็ทำสื่อได้
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 12 มีนาคม 2555 ที่ห้อง A 310 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ใน“วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2” เครือข่ายสตรีครอบครัวและชุมชนชายแดนใต้ ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง “แนวทางการขับเคลื่อนงานสตรีชายแดนใต้โดยใช้พลังสื่อ”
ผู้นำเสวนา ประกอบด้วย นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นางสาวฐิตินบ โกมลนิมิ คณะทำงานศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นายตูแวดานียา มือรืองิง ผู้อำนวยการสำนักข่าวอามาน นางโซรยา จามจุรี นางยะห์ อาลี ประธานเครือข่ายวิทยุชุมชนจ.ปัตตานี มีนางสาวพัชรา ยิ่งดำนุ่น ผู้จัดรายการวิทยุม.อ.ปัตตานี เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายมูฮำมัดอายุบ กล่าวว่า ต้องการให้เครือข่ายผู้หญิงสื่อสารเรื่องของผู้หญิงเอง เนื่องจากมีองค์ความรู้เรื่องผู้หญิงอีกมากที่ยังไม่ถูกนำเสนอ และควรสื่อสาร 2 ทาง ผ่านสื่อมัลติมีเดียที่มีอยู่ ทั้งเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เว็บไซต์ ฯลฯ เชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นๆ เพื่อให้เครือข่ายได้รับรู้และเข้าใจปัญหาผู้หญิงในจังหวัดชายแดนใต้
นางสาวฐิตินบ กล่าวว่า ตนไม่คาดหวังให้เครือข่ายผู้หญิงเป็นนักข่าว แต่ต้องการให้สื่อสารเรื่องของตัวเอง เพื่อสื่อสารกับคนนอกพื้นที่ถึงสภาพปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านช่องทางทางอินเตอร์เน็ต ทั้งเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ฯลฯ
“กรณีทหาร 3 คน ข่มขืนเด็กหญิงมลายูมุสลิมแล้วถ่ายคลิป นัยลึกๆ เหมือนผู้ชายไทย ข่มขืนหญิงมลายูมุสลิม ด้วยความรู้สึกว่าเป็นชาติพันธุ์อื่น เครือข่ายผู้หญิงจะสื่อสารออกไปอย่างไร เพื่อกำจัดกับทรรศนะคตินี้” นางสาวฐิตินบ กล่าว
นายตูแวดานียา กล่าวว่า ทุกคนสามารถเป็นนักข่าวเป็นนักเล่าเรื่องได้ โดยอาจหยิบยกนำเสนอความเป็นผู้หญิง การเป็นแม่ของลูกว่า ขณะตั้งท้องต้องทำอะไรบ้าง การเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีทำอย่างไร ผ่านรายการวิทยุเสียงผู้หญิงชายแดนใต้ ซึ่งมีคนฟังเป็นพันเป็นหมื่นคน
“กรณีการกระทำชำเรา หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้แต่งงาน ไม่ควรมองว่าคนต่างศาสนากระทำกับคนมลายูมุสลิม เพราะบางทีมลายูมุสลิมก็ย่ำยีกันเอง ขณะนี้ยังมีมลายูมุสลิมจำนวนหนึ่งขายตัวอยู่ตามโรงแรม ทำอย่างไรที่จะสื่อสารเรื่องราวออกมา เพื่อนำไปสูการแก้ไขปัญหาร่วมกัน” นายตูแวดานียา กล่าว
นางโซรยา กล่าวว่า ที่ผ่านมาสื่อส่วนใหญ่พาดหัวข่าวโจรใต้จนเกร่อ เสนอเนื้อหาเพียงแค่ปรากฏการณ์ ไม่ติดตามต่อเนื่องไปจนถึงกระบวนการต่อสู้คดี ส่วนรัฐไทยก็ใช้กำลังทหารปราบปรามด้วยอาวุธ และบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทำให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น พอพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจก็หาว่าเป็นบันไดสู่การแบ่งแยกดินแดน