เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ได้ออกข้อเรียกร้องเนื่องในช่วงวันสตรีสากลและวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ มีเนื้อหาระบุว่า 8 ปี ของการเกิดสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นำไปสู่การเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนมากกว่า 13,000 คน ชี้ให้พวกเราได้ตระหนักแล้วว่า ความรุนแรงได้สร้างความสูญเสียและผลกระทบ ที่กว้างขวางสาหัสสากรรจ์จนยากต่อการเยียวยา
เมื่อสามีหรือสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิต พิการ บาดเจ็บ จากเหตุรุนแรงรายวัน หรือ ถูกควบคุมตัว ถูกจับกุม คุมขังในคดีความมั่นคง ผู้หญิงซึ่งเป็นแม่ เป็นเมีย ที่อยู่กับบ้าน ต้องกลายเป็นผู้แบกรับภาระทั้งหมด ทั้งการดูแลลูกหลาน การหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว การต่อสู้คดีให้คนในครอบครัว ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว เป็นภาระที่หนักหน่วงเกินกว่าที่ผู้หญิงจะแบกรับได้โดยลำพัง
พวกเราเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ในฐานะที่เป็นแม่ เป็นเมีย เป็นลูกของผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง ทั้งชาวมลายูมุสลิม และชาวพุทธ จึงขอวิงวอนต่อคู่ขัดแย้งทั้งฝ่ายรัฐ และฝ่ายที่ต่อต้านรัฐให้หันมาใช้แนวทางอื่นที่ไม่ใช้อาวุธในการแก้ปัญหา เพื่อลดผลกระทบที่เกิดกับครอบครัวของประชาชนผู้บริสุทธิ์โดยทั่วไป รวมทั้งครอบครัวของเจ้าหน้าที่รัฐ และครอบครัวของฝ่ายที่ต่อต้านรัฐเองด้วย
หากในระยะแรกยังไม่สามารถยุติการใช้ความรุนแรงต่อกันได้ ขอให้จำกัดขอบเขตและเป้าหมายการใช้อาวุธ โดยไม่กระทำต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือพลเรือน และยุติการก่อเหตุที่ใช้วัตถุระเบิด ซึ่งนำไปสู่การสังหารและทำลายล้างชีวิตประชาชน โดยไม่เลือกเพศ เลือกวัย เช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้
พวกเราเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมฯ ขอเรียกร้องให้สื่อร่วมกันทำหน้าที่ในการอธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้คนในประเทศได้เข้าใจถึงสาเหตุที่มา และความสลับซับซ้อนของสถานการณ์มากกว่าการนำเสนอเพียงปรากฏการณ์รายวัน ขอให้เพิ่มพื้นที่การนำเสนอความเคลื่อนไหว ความคิดเห็นของผู้หญิง และภาคประชาสังคม รวมทั้งคนชายขอบ คนตัวเล็กตัวน้อยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไร้สิทธิ์ ไร้เสียง ไร้พื้นที่ของการสื่อสารสู่สังคมใหญ่ตลอดมา
ขอให้สื่อร่วมกันเป็นสื่อกลางของการสร้างสันติภาพที่อยู่บนพื้นฐานของการทำให้ความจริงและความเป็นธรรมปรากฏ ตลอดจนการทำให้คนในสังคม ได้เล็งเห็นถึงความงดงามของความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ทางชาติพันธุ์ ภาษา อัตลักษณ์ และวัฒนธรรม ว่าทุกความแตกต่างนั้น สามารถมีพื้นที่ยืนอยู่ได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันในสังคมไทย
สำหรับรายชื่อผู้แถลงข้อเรียกร้อง ประกอบด้วย นางแยน๊ะ สะแลแม สตรีดีเด่นด้านการปกป้องสิทธิของตนเอง นางโซรยา จามจุรี หัวหน้าโครงการผู้หญิงภาคประชาสังคม ม.อ.ปัตตานี นางมัสตะ เจะอูมา นางปัทมา หีมมิหน๊ะ นางดวงสุดา นุ้ยสุภาพ นางอรอุมา ธานี และนางสาวอัสรา รัฐการัณย์ สมาชิกเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้