Skip to main content

นักสันติภาพเผยสื่อนำเสนอเอียงข้างรัฐโหมสงครามยูโกฯ สื่อทางเลือกเปิดพื้นที่เรื่องต้องห้ามปัตตานี หลายเว็บไซต์ไม่มีเนื้อหาต่างล้มหาย  งานวิจัยม.อ.สันติภาพวิทยุมองสันติภาพเป็นเรื่องของรัฐ ชาวบ้านหวาดระแวงนักข่าว ย้ำอย่าเลือกข้างโหมไฟความรุนแรงอย่าเลือกข้างโหมไฟความรุนแรง 

 

  .        

.

             เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 มีนาคม 2555 310 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 20 องค์กร จัดงาน “วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2” เป็นวันที่ 2 โดยในภาคเช้า มีการจัดเสวนา “พลังสื่อและการแปรความขัดแย้ง”

ในวงเสวนา มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Isak Svensson จากภาควิชาการวิจัยสันติภาพและความขัดแย้ง มหาวิทยาลัยอุปซาลา ประเทศสวีเดน นายสมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ Thai PBS นายสมัชชา นิลปัทม์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นายนิฟูอัด บาซาลาฮา นักจัดรายการวิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน สลาตันปัตตานี ภาคภาษามลายูและนักวิชาการอิสลามศึกษา นายมูฮำหมัด ดือราแม กองบรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ นายมูฮำหมัดซอเร่ กล่าว่า เด็ง ช่างภาพจากกลุ่มบินตังโฟโต้ โดยมีนางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้สื่อข่าวบีบีซี เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

ดร.ไอแซก กล่าวว่า ประสบการณ์จากการทำวิจัยในพื้นที่ความขัดแย้งในยุโรปพบว่า สื่อเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะคลี่คลายความขัดแย้งเข้าสู่กระบวนการสันติภาพได้ แต่ปัญหาที่พบ คือ สื่อในพื้นที่ความขัดแย้งบางพื้นที่ เลือกนำเสนอเพียงภาพสถานการณ์รายวันที่เป็นภาพความขัดแย้งในระยะสั้น มากกว่าการอธิบายภาพระยะไกลที่จะทำให้เห็นว่าสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง กำลังไปถึงไหนและมีแนวโน้มอย่างไร ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญกว่า

ดร.ไอแซค กล่าวว่า กราฟที่แสดงข้อมูลความขัดแย้งกับจำนวนคนตายในเหตุการณ์รุนแรงระหว่างปี ค.ศ. 1946-2010 พบว่า มีแนวโน้มการสูญชีวิตน้อยกว่าจำนวนเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า แนวโน้มความขัดแย้งรุนแรงของโลกเริ่มลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

ดร.ไอแซค กล่าวว่า การอธิบายข้อมูลแบบนี้ สวนทางกับที่นักข่าวรายงานเหตุการณ์รายวัน ซึ่งทำให้เห็นว่าเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นทุกวัน แต่ไม่สามารถทำให้เห็นว่า แนวโน้มของเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรในระยะยาว

“นักข่าวในพื้นที่ความขัดแย้ง ต้องลงทุนเพื่อจะให้ตัวเองมองเห็นภาพระยะยาวของความขัดแย้งรุนแรงได้ ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้สามารถประเมินแนวโน้มในอนาคตได้ว่า พื้นที่ความขัดแย้งจะเป็นอย่างไร” ดร.ไอแซค กล่าว

ดร.ไอแซค กล่าวว่า ความขัดแย้งในยูโกสลาเวียที่รุนแรงมาก ส่วนหนึ่งมากจากนักข่าวที่นำเสนอข่าวเอนเอียงไปทางฝ่ายรัฐ ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำความรุนแรงซึ่งทำให้กลายเป็นความชอบธรรมของรัฐในการทำลายฝ่ายตรงข้าม

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปะทุขึ้นเมื่อ ปีพ.ศ.2547 ได้เกิดสื่อทางเลือกขึ้น คือสำนักข่าวประชาไท ศูนย์ข่าวอิศรา ตามด้วยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสที่มีนักข่าวพลเมืองจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้สามารถเปิดพื้นที่สื่อด้วยการนำเสนอประวัติศาสตร์รัฐปัตตานี และเรื่องต้องห้ามหลายๆ เรื่องสื่อสารต่อสาธารณะได้

นายสมเกียรติ กล่าว่า สื่อทางเลือกในจังหวัดชายแดนใต้ ดูเหมือนว่าจะเป็นสื่อมืออาชีพ แต่ก็ยังไม่ใช่ จะว่าเป็นสื่อพลเมืองอย่างเดียวก็ไม่เชิง ยังงงๆ อยู่ น่าจะยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน

นายมูฮำหมัด กล่าวว่า โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้เกิดขึ้นในยุคที่สื่อใหม่ปรากฏขึ้นมาได้ซักระยะหนึ่งแล้ว โดยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเว็บไซด์ข่าวหลายสำนัก มีรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลาย แต่บางเว็บไซด์บางส่วนก็ได้ปิดตัวลง เนื่องจากไม่มีมีเนื้อหาโดดเด่นและไม่มีความต่อเนื่อง ดังนั้นการสร้างสื่อขึ้นมายังจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเนื้อหาและมีความต่อเนื่อง โดยฝึกคนในพื้นที่ให้ทำข่าวอย่างมืออาชีพ

นายมูฮำหมัด กล่าวอีกว่า จากประสบการในการลงพื้นที่ทำข่าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าประชาชนหลายกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบที่เชื่อว่ารัฐเป็นผู้ก่อเหตุ หวาดระแวงต่อสื่อมวลชน โดยเชื่อว่าสื่อเป็นเครื่องมือของรัฐ จึงเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ต้องวางบทบาทให้คนเข้าใจว่า สื่อคือพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งการลงไปทำข่าวในฝ่ายชาวบ้าน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านเห็นการทำงานของสื่อและเข้าใจสื่อมากขึ้น

นายสมัชชา กล่าวว่า ข้อค้นพบจากงานวิจัยของคณะวิทยาการสื่อสาร 6 ประเด็นที่เกี่ยวกับสื่อใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ เรื่องเคเบิลทีวี วิทยุกระจายเสียงและวิทยุชมชน สื่อพื้นบ้าน ขีดความสามารถของสื่อในการนำเสนอสื่อออนไลน์ และการเสริมสร้างศักยภาพของตัวผู้สื่อข่าว โดยใช้กรณีศึกษาของโรงเรียนนักข่าวชายแดนภาคใต้ พบว่า มีความต้องการพัฒนาด้านเนื้อหาของสื่อสำหรับคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากยิ่งขึ้น

นายสมัชชา กล่าว่า ส่วนประเด็นการรายงานข่าวเกี่ยวกับผู้หญิงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีน้อยเกินไป สำหรับสถานีวิทยุ ผู้ดำเนินรายการมองว่า การสร้างสันติภาพเป็นเรื่องของรัฐมากว่าเป็นเรื่องของประชาชนทั่วไป

นายสมัชชา กล่าวว่า งานวิจัยพบว่า มีกลุ่มใหม่ๆ ที่ทำเรื่องสื่อใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ต้องการเพิ่มเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคและเข้าใจเนื้อหา เพื่อให้สามารถผสมผสานเทคนิคและเนื้อหาเข้าด้วยกัน เพื่อให้งานออกมาน่าสนใจ

นายนิฟูอาด กล่าวว่า จากประสบการณ์ในการจัดรายการวิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน สลาตันปัตตานี และวิทยุ สวท. ปัตตานี พบว่า ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะฟังวิทยุกันมาก คือ ในช่วง 3 เดือนจนถึงเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดินถือศีลอดของชาวมุสลิม หากต้องการนำเสนออะไรผ่านวิทยุในช่วงนี้ รับรองว่ามีคนฟังจำนวนมากแน่นอน และขอเสนอให้รายการวิทยุของรัฐเปิดอ่านดูอา (บทขอพร) ก่อนเปิดรายการและก่อปิดรายการทุกครั้ง เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล

นายนิฟูอาด กล่าวว่า ชาวบ้านยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับสื่อมวลชนอยู่มาก เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า เวลาไปสัมภาษณ์ฝ่ายทหาร ชาวบ้านก็จะคิดว่า เป็นสายลับของทหาร ทำให้ตนต้องอธิบายว่า เมื่อเป็นสื่อมวลชนแล้ว จำเป็นต้องสัมภาษณ์ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนั่นเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชน

นายมูฮำหมัดซอเร่ กล่าวว่า กลุ่มบินตังโฟโต้ เป็นกลุ่มในเว็บไซด์เฟสบุ๊ค นำเสนอภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสมาชิกประมาณ 500 คน เนื่องจากคนในพื้นที่เขียนข่าวไม่เป็น นำเสนอไม่เป็น แต่เชื่อว่าทุกคนมีกล้องถ่ายรูป ที่สามารถถ่ายรูปนำมาสื่อให้คนนอกพื้นที่เห็น มีการรวมตัวจัดกิจกรรม

นายมูฮำหมัดซอเร่ กล่าวว่า ภาพภาพเดียวสามารถสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ได้มาก เช่น ภาพบ่อน้ำกลางถนนที่มีแต่ขยะ สามารถส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแก้ปัญหาได้

นายมูฮำหมัดซอเร่ กล่าวว่า กลุ่มบินตังโฟโต้ กำลังจะทำธนาคารภาพถ่ายชายแดนใต้หรือพัฒนาไปเป็นพิพิธภัณฑ์ภาพถ่ายชายแดนใต้ในอนาคต เพื่อสื่อให้คนนอกพื้นที่ได้รับรู้และเข้าใจผ่านภาพถ่ายมากขึ้น

นายตูแวดานียา มือรืองิง ผู้อำนวยการสำนักข่าวอามาน กล่าวแสดงความเห็นว่า จากประสบการณ์ที่ตนลงพื้นที่ทำข่าวทหารพรานยิงชาวบ้านตาย 4 ศพ ที่ตำบลปูโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ในช่วงเช้าหลังวันเกิดเหตุ ถูกชาวบ้านซักถามว่า ตนเป็นคนเสนอข่าวว่า ชาวบ้านปะทะโจรใต้ใช่หรือไม่ ตนปฏิเสธ โดยบอกว่าเป็นการนำเสนอข่างของนักข่าวอื่นที่ลงไปทำข่าวในช่วงกลางคืนหลังเกิดเหตุ ที่ออกหรือเปล่า

นายตูแวดานียา กล่าวว่า ขณะที่ตนลงพื้นที่ทำข่าวอยู่นั้น มีเพื่อนผู้สื่อข่าว 2 คน ถูกเด็กในหมู่บ้าน 20 คนล้อมไว้ และตำหนิว่า นำเสนอข่าวว่าโจรใต้ปะทะทหารพรานได้อย่างไร ทั้งที่ชาวบ้านจะไปละหมาดศพ ตนต้องอธิบายให้เด็กเหล่านั้นทราบว่า บางทีนักข่าวในพื้นที่ส่งข่าวไปที่สำนักข่าว แต่ถูกบรรณาธิการสำนักข่าวที่กรุงเทพมหานคร เปลี่ยนไปนำเสนออีกอย่างหนึ่ง

 นางสาวนวลน้อย กล่าวว่า สื่อส่วนกลางไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีนักสำหรับคำว่าสื่อมืออาชีพ และขอย้ำว่า สื่อทางเลือกจะนำเสนอข้อมูลชุดใดก็ตาม ต้องเป็นข้อมูลที่มีที่มา และมีแหล่งอ้างอิง ไม่ใช่กุข่าวขึ้นมานำเสนอ ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้