Skip to main content

เอ็นจีโอ ออกแถลงการณ์ จี้รัฐรับข้อแนะนำจากเวที UPR ทบทวนสถานการณ์สิทธิในไทย เผยรัฐใช้กฎหมายพิเศษคุมตัวเด็ก ยกเลิกกฎหมายพิเศษในชายแดนใต้

.

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2555 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ออกแถลงการณ์ ข้อเรียกร้องถึงผู้แทนรัฐบาลไทยต่อการยอมรับดำเนินการและข้อปฏิเสธตามคำแนะนำของผู้แทนประเทศต่างๆที่เข้าร่วมประชุมในเวทีทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (UPR) ต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ มีเนื้อหาดังนี้

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2555 รัฐบาลไทยได้จัดทำรายงานถึงคณะทำงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติ (United Nations Human Rights Council-HRC) เพื่อสรุปข้อเสนอแนะที่รัฐบาลไทยได้ยอมรับและปฏิเสธข้อเสนอแนะของผู้แทนประเทศต่างๆ และเสนอต่อที่ประชุมคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชน ในวันที่ 15 มีนาคม 2555

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมประชาชนในการเข้าถึงความยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะกรณีที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ยังมีข้อห่วงใยต่อรายงานของรัฐที่นำเสนอด้านสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้การบังคับใช้กฎหมายพิเศษดังนี้

 

กระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice Issues) และกฎหมายความมั่นคง (Security laws)

1.เมื่อปี 2554 มูลนิธิฯ ได้นำเสนอรายงานเงาต่อคณะกรรมการด้านสิทธิเด็กเกี่ยวกับเด็กในกระบวนการยุติธรรมระหว่างการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งรายงานได้นำเสนอถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิเด็กระหว่างที่มีการถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ แม้ว่ากฎหมายความมั่นคง เช่น พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกฉิน พ.ศ.2548 ได้วางมาตรการในการจัดการให้มีการควบคุมตัวเด็กแยกออกจากผู้ใหญ่ แต่ข้อเท็จจริงในรายงานพบว่า เด็กยังคงถูกควบคุมตัวรวมกับผู้ใหญ่ และระหว่างการควบคุมตัวยังมีกรณีการซ้อมทรมานเด็กเพื่อให้รับสารภาพ ซึ่งคณะกรรมการด้านสิทธิเด็กได้ทำรายงานข้อสังเกตต่อรัฐบาลไทยถึงข้อวิตกกังวลที่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ยังคงถูกควบคุมตัว โดยปราศจากการนำมาตรการสำหรับเด็ก มาบังคับใช้เป็นระยะเวลากว่า 30 วัน และได้มีข้อเสนอถึงรัฐว่า “..ขอให้ไทยทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคง และห้ามดำเนินการใดๆต่อเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี...”

2.เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 คณะรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้มีมติในที่ประชุมให้ประกาศขยายระยะเวลาการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม – 19 มิถุนายน 2555

มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ยังคงอาศัยคำแนะนำข้อมูลของหน่วยงานความมั่นคงที่อ้างแต่เพียงการก่อเหตุความไม่สงบที่ยังไม่ยุติ แต่ไม่สามารถชี้แจงต่อสาธารณะได้ว่า จะสามารถแก้ไขปัญหาความรุนแรงอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไรและจะประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงนี้ได้เมื่อใด

แม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะมีมติยกเว้นจากบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในบางพื้นที่ เช่น อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี หรือยกเลิกการบังคับใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาแล้ว แต่พื้นที่อำเภอดังกล่าว กลับถูกแทนที่ด้วยกฎหมายความมั่นคงอีกฉบับหนึ่งคือ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ซึ่งเห็นว่า เป็นกฎหมายที่มีความเป็นมิตรภาพมากกว่า

แต่ข้อเท็จจริงที่มูลนิธิฯค้นพบคือ ผู้ถูกบังคับใช้ยังคงถูกจับกุมและควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคง และใช้เทคนิคหรือช่องว่างทางกฎหมายในการนำบุคคลที่อยู่ในพื้นที่พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ไปควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นระยะเวลา 30 วัน เพื่อใช้โอกาสดังกล่าวในการกล่อมหรือบังคับให้บุคคลเข้าสู่กระบวนการอบรมตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และบางรายยังมีข้อเท็จจริงว่า ถูกซ้อมทรมานเพื่อให้เข้าสู่มาตรการการอบรมแทนการฟ้องคดี

กระบวนการบังคับใช้ดังกล่าวนอกจากจะขัดต่อหลักนิติธรรมแล้วยังขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่รัฐไทยเป็นภาคีของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (UN Convention Against Torture) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

3. มูลนิธิฯขอย้ำต่อผู้แทนคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนว่า มาตรา 17 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ได้กำหนดการยกเว้นเขตอำนาจศาลปกครอง มิให้ประชาชนผู้เสียหายตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยการฟ้องเพิกถอนคำสั่ง ประกาศ ระเบียบ ข้อกำหนด หรือการกระทำอันขัดต่อกฎหมายต่อศาลปกครองได้ แม้การกระทำดังกล่าวจะเป็นการกระทำทางปกครองโดยแท้และส่งผลต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ตาม การยกเว้นเขตอำนาจศาลปกครองถือเป็นการสร้างหลักปกป้องรัฐจากการตรวจสอบการใช้อำนาจการตรวจสอบที่มีความชำนาญด้านการใช้อำนาจปกครองของรัฐ

มูลนิธิฯ จึงขอเรียกร้องและเน้นย้ำให้รัฐบาลยอมรับตามข้อเสนอแนะของผู้แทนสมาชิกภายใต้กลไก UPR ของคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนที่ต้องปรับปรุงสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และยกเลิกกฎหมายความมั่นคงในทันที และจะต้องรับรองว่าจะไม่มีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงต่อเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี