Skip to main content

ประชาสังคมชายแดนใต้หวั่นถูกจับตา ตั้งทีมสื่อสารสังคม3ประเด็นใหญ่ ‘ใช้ภาษามลายูในโรงเรียน-กระบวนการสันติภาพ ดึงข้อเสนอปัญหายาเสพติดชุมชนเตรียมชงเป็นนโยบายสาธารณะ

 

 

.

 

เมื่อเวลา 09.00 -14.00 น. วันที่ 24 มีนาคม 2555 ที่ห้องมะปราง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สภาประชาสังคมชายแดนใต้จัดประชุมสภาครั้งที่ 3/2555 โดยมีนายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ เป็นประธานการประชุม และมีผู้เข้าร่วมประมาณ 20 คน

นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ที่ปรึกษาสภาประชาสังคมชายแดนใต้ รายงานต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้มีการพูดถึงและจับตาการขับเคลื่อนเรื่องการกระจายอำนาจ และเรื่องการเจรจาสันติภาพของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ แต่ยังไม่เข้าใจในรายละเอียดมากนัก

นายแพทย์พลเดช กล่าวว่า จากการที่ตนเข้าประชุมกับกลุ่มต่างๆ ที่กรุงเทพในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2555 มีคนรู้จักถามว่าสภาประชาสังคมชายแดนใต้จะขับเคลื่อนเรื่องปัตตานีมหานครใช่หรือไม่ ตนอธิบายว่าสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับปัตตานีมหานครนั้น เป็น 1 ใน 6 รูปแบบการกระจายอำนาจจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กลุ่มต่างๆ เป็นผู้เสนอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องตัดสินใจเอารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

นายแพทย์พลเดช กล่าวว่า 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีคนไม่เข้าใจเรื่องการขับเคลื่อนของสภาประชาสังคมชายแดนใต้อยู่มาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ เป็นธรรมดาที่จะถูกจับตามองและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ เพราะสภาประชาสังคมชายแดนใต้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ยิ่งขับเคลื่อนประเด็นที่รัฐบาลสนใจด้วย

นายแพทย์พลเดช เสนอให้สภาฯตั้งคณะทำงานทำหน้าที่ในการคัดกรอง ประเมินเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบต่อการขับเคลื่อนของสภาฯ ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล การเมืองที่มีการแย่งชิงอำนาจในพื้นที่ และเรื่องเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจคนในจังหวัดชายแดนใต้ อย่างเช่นกรณี 4 ศพปุโละปุโย ที่สภาฯควรจะมีท่าทีต่อสถานการณ์นั้นๆ

เบื้องต้นสภาประชาสังคมชายแดนใต้ มีมติแต่งตั้ง คณะทำงานจำนวน  6 คน ซึ่งประกอบด้วย นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี  นายมันโซร์ สาและ นายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน นายอิสกันดาร์ ธำรงทรัพย์ โดยมีนางโซรยา จามจุรี เป็นโฆษก

นายพิศิษฐ์ วิริยสกุล รายงานต่อที่ประชุมว่า คณะทำงานการแก้ปัญหายาเสพติดโดยกระบวนการชุมชน ได้ประชุมหารือการแก้ไขปัญหาไว้เบื้องต้นแล้ว ครั้งต่อไปจะเป็นการดึงข้อเสนอเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไข และถอดเป็นรูปแบบเพื่อเสนอเป็นนโยบายในการแก้ปัญหายาเสพติดในชายแดนใต้ ตนอยากให้มีการเสนอเป็นนโยบายสาธารณะ เพื่อให้เป็นแนวทางแก้หน่วยงานต่างๆที่จะลงมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ในพื้นที่

“ที่ผ่านมาการแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ เป็นการแก้ปัญหาในแนวดิ่ง และครั้งนี้จะเป็นการทำงานในแนวราบ เพื่อหาจุดร่วมในการส่งเสริมการทำงานในแนวดิ่งของภาครัฐต่อไป” นายพิศิษฐ์ กล่าว

ทั้งนี้สภาประชาสังคมชายแดนใต้รับข้อเสนอและจะมีกระบวนการพัฒนากิจกรรมสู่การเสนอเป็นนโยบายสาธารณะต่อไป

นอกจากนี้สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ยังติดตามความก้าวหน้าเรื่องการออกแบบกระบวนการเพื่อการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย อีก 2 ประเด็น ประกอบด้วย การผลักดันการใช้ภาษามลายูในโรงเรียน และกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ(Peace dialogue) ด้วย