วันชัย พุทธทอง ภาพ
เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 7 เมษายน 2555 ที่ตลาดนัดเปิดท้ายบ้านหน้าศาล ตำบลหน้าสตน อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดลุ่มน้ำปากพนัง จัดเวทีสาธารณะ “สิทธิชุมชน กับแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้” และมีการแสดงดนตรีเพื่อชีวิตจากเครือข่ายศิลปินภาคใต้ อาทิ แสง ธรรมดา ตุด นาคอน พิมพ์นิยม หนุ่ย หยาดน้ำค้าง ติ๊ก ไทลากูน mso-fareast-font-family:Calibri">เพื่อคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหัวไทร โดยมีชาวบ้านจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมพร สตูล และสงขลา ร่วมประมาณ 1000 คน
นางรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร โฟนอินผ่านวิดิโอลิงค์ว่า ประเทศไทยควรหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้นแทนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และนิวเคลียร์ แม้ประเทศญี่ปุ่นเองหลังจากที่ประสบภัยพิบัติสึนามิ ต่อมารัฐบาลญี่ปุ่นประกาศแผนออกมาว่าจะใช้พลังงานหมุนเวียน 100 % ภายใน 40 ปี สำหรับพลังงานถ่านหิน ปิโตรเลียม จะนำมาใช้ในยามจำเป็นเท่านั้น
“ประเทศไทยไม่ส่งเสริมบริษัทเอกชนให้ผลิตพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง เนื่องจากมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ระบุว่ากิจการพลังงานเป็นของรัฐเท่านั้น ดังนั้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ คนไทยจะต้องร่วมกันผลักดันเพื่อกำหนดให้กิจกรรมพลังงาน อาทิ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ฯลฯ เป็นสมบัติของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะของท้องถิ่น ไม่ใช่สมบัติของรัฐ เนื่องจากเมื่อนายทุนมาควบคุมรัฐ ก็จะกลายเป็นสมบัติของนายทุนจนทำให้เกิดการผูกขาดในที่สุด” นางรสนา กล่าว
นายครองศักดิ์ แก้วสกุล ประธานเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดลุ่มน้ำปากพนัง อ่านแถลงการณ์ว่า การดำเนินงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ผ่านมา มุ่งเน้นการใช้เงินในการจัดตั้งมวลชน การประชาสัมพันธ์ฝ่ายเดียว การจ้างสื่อในพื้นที่ การสนับสนุนงบประมาณแก่นักการเมืองท้องถิ่นบางคนเพื่อเป็นกระบอกเสียง โดยไม่ยอมรับฟังความเห็นต่าง ถึงความเป็นเหตุเป็นผลของประชาชนในพื้นที่
นายครองศักดิ์ กล่าวว่า ขอย้ำว่าคนลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่ได้ปฏิเสธแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ แต่เลือกที่จะสนับสนุน การพัฒนาอุตสาหกรรมที่มาจากฐานศักยภาพทรัพยากรในจังหวัด เกิดการต่อยอดมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์การประมง และ การเกษตร ด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร
“เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดลุ่มน้ำปากพนังจึงขอเสนอให้หยุดการดำเนินการใดๆ เรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข มิฉะนั้นประชาชนจะมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นตามลำดับ” นายครองศักดิ์ กล่าว
นางจินตนา แก้วขาว กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและ mso-fareast-font-family:Calibri">สิ่งแวดล้อมบ้านกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ถ้านำแผนอนุรักษ์พลังงานระยะ 20 ปี 2554-2573 ของกระทรวงพลังงาน มาใช้ให้จริงจัง ขณะเดียวกันก็ไม่มีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกเลย ชาวบ้านต้องคิดใหม่ว่าการพัฒนาต้องมาจากชาวบ้าน ไม่ใช่รัฐหรือนายทุน
“การต่อสู้ของคนหัวไทรจะต้องไม่ใช่แค่ต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเท่านั้น แต่ควรรับรู้ถึงแผนพัฒนาของรัฐ โดยเฉพาะแผนพัฒนาของรัฐในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีถึง 22 โครงการ ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน เขื่อน นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี นิคมอุตสาหกรรมเหล็ก ฯลฯ และการต่อสู้ไม่ใช่แค่เพียง 1-2 ปีจบ แต่เป็นการต่อสู้ระยะยาว” นางจินตนา กล่าว