Skip to main content

.        

 

        กรุงพนมเปญ  กัมพูชา (มินดานิวส์) เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2555 ที่ผ่านมา กลุ่มนักรณรงค์เพื่อสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ร่วมกันเรียกร้องให้สมาคมอาเซียนขยายขอบเขตการทำงานของกลไกที่ตั้งขึ้นเพื่อยุติความขัดแย้ง โดยให้รวมไปถึงเรื่องของความขัดแย้งภายในแต่ละประเทศของประเทศสมาชิก ซึ่งในจำนวนนี้รวมไปถึงปัญหากบฏโมโรในมินดาเนา ที่กินเวลาเรื้อรังมาหลายสิบปี

สมาชิกของกลุ่มคณะทำงานเพื่อสร้างสันติภาพ หรือ Working Group on Peacebuiding ของที่ประชุมภาคประชาสังคม/เวทีภาคประชาชนอาเซียนประจำปี 2012 ที่ประชุมกันที่กรุงพนมเปญ ได้นำเสนอประเด็นดังกล่าว อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะผลักดันให้อาเซียนเข้าไปมีส่วนร่วมในการหาข้อยุติให้กับความขัดแย้ง ทั้งภายในและภายนอกหลายกรณีที่เกิดขึ้นกับสมาชิกกลุ่มประชาคมอาเซียน

“ถึงเวลาแล้วที่อาเซียนจะต้องเข้าไปมีส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายใน ที่ขณะนี้กำลังส่งผลกระทบต่อสมาชิกรายใหญ่สี่ประเทศของอาเซียน ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม” คาร์เมน กัทเมย์ตัน นักรณรงค์เพื่อสันติภาพในฐานะผู้จัดการโครงการ Initiatives for International Dialogue หรือ IID ที่อยู่ในมินดาเนากล่าวในการแถลงข่าว

เธออ้างถึงกรณีความขัดแย้งในมินดาเนาคือ การก่อกบฏของกลุ่มแนวร่วมกู้ชาติอิสลามโมโร หรือเอ็มไอแอลเอฟ (MILF) กรณีการก่อเหตุรุนแรงโดยกลุ่มที่เป็นมาเลย์มุสลิมในภาคใต้ของไทย กรณีกบฏในอาเจะห์ในอินโดนีเซีย และกรณีกบฏคะฉิ่นในพม่า

กัทเมย์ตันชี้ว่าอาเซียนได้จัดตั้งกลไกในการคลี่คลายความขัดแย้งขึ้นมา โดยรวมไว้ในกฎบัตรอาเซียนที่ขณะนี้ใช้มาได้สองปีแล้ว แต่กลไกนี้ขณะนี้มีการนำมาใช้จัดการกับปัญหาภายนอกเท่านั้น

เธอชี้ว่าที่ผ่านมาอาเซียนได้ยึดหลักการ “ไม่แทรกแซง” ในกรณีที่เห็นว่ากรณีนั้นๆ มีเนื้อหาเป็นเรื่องของกิจการภายในประเทศ

“เราเองก็ตระหนักเรื่องนี้ (หลักการไม่แทรกแซง) แต่ว่าตอนนี้มันมีกลไกอันนี้ขึ้นมาแล้ว (ในการแก้ไขความขัดแย้ง) อาเซียนควรจะยอมรับความจริงมากขึ้น และหันมาจัดการ (ความขัดแย้งที่ยังดำเนินอยู่เหล่านี้) หากอาเซียนต้องการจะเดินไปข้างหน้า ในเรื่องข้อเสนอเรื่องการรวมตัวทางเศรษฐกิจ และการสร้างประชาคมร่วม” กัทเมย์ตันกล่าวกับมินดานิวส์ต่อมา

ในกรณีของเอ็มไอแอลเอฟ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลฟิลิปปินส์อยู่นั้น เธอกล่าวว่าอาเซียนอาจจะเริ่มต้นเข้าไปมีบทบาทได้ด้วยการเข้าไปช่วยจัดการประสานงานการเจรจา ซึ่งขณะนี้มาเลเซียเป็นผู้รับดำเนินการอยู่

“ไม่จำเป็นต้องเริ่มด้วยบทบาทที่สำคัญนัก (ในการเจรจา) แค่มีส่วนเล็กๆ ในกระบวนการก็อาจจะพอแล้ว” เธอระบุ

นอกเหนือจากเรื่องการขยายงานในส่วนของกลไกในการแก้ไขความขัดแย้งของอาเซียน คณะทำงานกลุ่มนี้ยังได้เสนอแนะให้อาเซียนเข้าไปมีบทบาทช่วยเจรจาคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชา ในเรื่องปราสาทพระวิหารด้วย

กลุ่มชี้ว่า อาเซียนควรจะยืนยันให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามความเห็นของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่ได้ตัดสินเรื่องนี้เอาไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการตัดสินที่เป็นคุณกับกัมพูชามากกว่า

กลุ่มเสนอให้อาเซียนดำเนินการเพื่อไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองประเทศ ถอนทหารออกจากพื้นที่ที่พิพาทกันอยู่

นอกจากนั้นคณะทำงานชุดนี้ยังเสนอให้อาเซียนทบทวนกลไกในการคลี่คลายความขัดแย้งที่มีอยู่ เพื่อให้อำนาจหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าว ขยายครอบคลุมไปถึงเรื่องบทบาทของสตรี

กลุ่มเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการสนับสนุนและคุ้มครองสิทธิสตรีและเด็ก (ACWC – ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children) รวมเอาเรื่องของการปกป้องคุ้มครองให้ความมั่นคงแก่ผู้หญิงและเด็กไว้ในแผนงานของคณะกรรมาธิการ

กลุ่มเสนอให้คณะกรรมาธิการหาทางรับมือสถานการณ์ของผู้หญิงและเด็ก ที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งและให้ติดตามและดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่เป็นการละเมิดทางเพศในพื้นที่ความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหลายๆ กรณีที่มีการกล่าวหากันว่าเกิดขึ้นแล้วในพม่า

กัทเมย์ตันกล่าวอีกว่า เพื่อจะส่งเสริมบทบาทในเรื่องการคลี่คลายความขัดแย้งภายในอาเซียนอันนี้ กลุ่มเสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณจากอาเซียน เพื่อสนับสนุนกิจกรรมในเรื่องการสร้างสันติภาพในภูมิภาค

เธอบอกว่า กลุ่มมุ่งหวังให้กองทุนอาเซียนรับภาระหน้าที่อันนี้

“ขณะนี้เรากำลังพยายามประสานงานติดต่อใกล้ชิดกับคณะกรรมาธิการมากขึ้น และพยายามจะหาทางเข้าไปมีที่นั่งในคณะกรรมการด้านความมั่นคงและการเมืองของอาเซียน เพื่อที่เราจะได้มีส่วนร่วมมากขึ้น ในอันที่จะหยิบยกประเด็นต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมาพูดคุย” กัทเมย์ตันกล่าวเพิ่มเติม