Skip to main content

 ปีการศึกษา 2555 ม.อ.ปรับใหญ่การเรียนการสอนภาษาอังกฤษพื้นฐาน หันมาเน้นการฟัง พูด อ่าน เขียน ตั้งเป้าให้นักศึกษาสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริง นักศึกษาบ่นอุบหลักสูตรเดิมเน้นไวยากรณ์ ได้แค่ใช้ทำข้อสอบในกระดาษ 

 

                                            .  

                                   กันยา พรวสันต์ยิ่ง

 

              นางกันยา พรวสันต์ยิ่ง หัวหน้าแผนกวิชาภาษาอังกฤษ ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี จะปรับรูปแบบวิธีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษพื้นฐานภาษาอังกฤษ 1 และภาษาอังกฤษ 2 จากเดิมที่เน้นเรื่องไวยากรณ์มาเน้นทักษะการฟัง พูด อ่านเขียนมากขึ้น โดยจะปรับในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2555

นางกันยา เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับเนื้อหาที่ใช้ในการเรียนการสอน จะแยกทักษะการฟังและพูดให้ไปอยู่ในรายวิชาภาษาอังกฤษ  1 ส่วนทักษะการอ่านและเขียนอยู่ในรายวิชาภาษาอังกฤษ 2 สำหรับเนื้อหาจะเป็นการฝึกทักษะทั้งสี่ด้านคือ การฟัง การพูด การอ่าน การเขียน โดยเน้นการนำภาษาอังกฤษไปใช้ในชีวิตจริงเป็นหลัก และใช้ห้องปฏิบัติการทางภาษาที่ทีอยู่เดิมเข้ามาเสริมในส่วนของการฝึกฝน โดยให้นักศึกษาหมุนเวียนเข้ามาใช้ตามชั่วโมงที่กำหนดไว้

“ในส่วนของผู้สอนจะต้องปรับเปลี่ยนรูปการสอน จากเดิมที่เป็นเพียงผู้บรรยายมาเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาเสมือนเป็นผู้ดำเนินรายการ ก่อให้เกิดการสื่อสารระหว่างนักศึกษา เพื่อให้มีการนำภาษังกฤษไปใช้จริง ตั้งแต่การสนทนา การแสดงบทบาทสมมติ การอ่าน การแสดงความคิดเห็นในเรื่องใกล้ตัว และชีวิตประจำวัน การจับใจความสำคัญ ทักษะการเขียน เพื่อต้องการให้นักศึกษาเป็น  active learner   และมีความมั่นใจในการสื่อสาร สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ทั้งนี้การเรียนการสอนต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างนักศึกษากับผู้สอน เพื่อให้เกิดความเคยคุ้นเคยและสร้างความสนใจในรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่” นางกันยา กล่าว

นางกันยา เปิดเผยถึงสาเหตุการปรับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษว่า เนื่องจากเดิมรายวิชาดังกล่าว จะเน้นการเรียนการสอนเรื่องไวยากรณ์ ไม่ได้เน้นทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ส่งผลให้นักศึกษาที่จบไป ไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ ส่งผลให้นักศึกษานำภาษาอังกฤษไปใช้น้อย ทำให้เป็นอุปสรรคในการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร หลังจากจบการศึกษา การปรับรูปแบบการเรียนการสอนครั้งนี้ เป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับนักศึกษา เพราะปัจจุบันนักศึกษาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พูดภาษามลายูได้ มักจะไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย ภาษาอังกฤษจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดแรงงานได้

นางสาวนันธิดา กูลเกื้อ อาจารย์ประจำแผนกวิชาภาษาอังกฤษ กล่าวว่า การปรับรูปแบบการเรียนการสอนวิชาพื้นฐานภาษาอังกฤษ 1 และภาษาอังกฤษ 2 โดยยึดการพัฒนาทักษะผู้เรียน จะทำให้นักศึกษาใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นักศึกษาต้องเตรียมความพร้อมตัวเองให้มากพอ ทั้งเรื่องไวยากรณพื้นฐานและทักษะพื้นฐานทั้ง 4 ทักษะ

          นายนิรัน นิโซ๊ะ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เอกสังคมวิทยา กล่าวว่า ตนเข้าเรียนวิชานี้ในช่วงซัมเมอร์ เข้าใจเนื้อหาในวิชานี้ดี เพราะผู้สอนมีความสามารถในการสอน สำหรับเนื้อหาที่ตนเรียน ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องไวยากรณ์ ใช้เฉพาะตอบข้อสอบอัตนัยและปรนัย ตนเห็นด้วยกับการปรับรูปแบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษพื้นฐานครั้งนี้ เพราะภาษาอังกฤษจะต้องนำมาใช้ในชีวิตจริง จะเป็นการดีมากหากเน้นสอนการพูดมากขึ้น เพราะสามารถนำไปใช้ติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติได้