คนแก่บาเจาะมันเขี้ยว อยากเรียนกุรอ่านได้เร็วเท่าเด็ก โต๊ะอิหม่ามมัสยิดยือแรกูดอทำตามสนอง เปิดสอนระบบกีรออาตีให้ชาวบ้าน ช่วยผู้เรียนอ่านคัมภีร์ได้คล่อง ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุแห่เรียนเพียบ
สอนคนแก่ – ผู้สูงอายุบ้านยือแรกูดอ นราธิวาส หันมาเรียนอ่านคัมภีร์กุรอานระบบกีรออาตี เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้ได้เร็วมากขึ้น
นายสุไลมาน นิปิ โต๊ะอิหม่ามมัสยิดยือแรกูดอ หมู่ที่ 6 ตำบลบาเจาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส และผู้สอนอ่านคัมภีร์อัลกุรอานหลักสูตรกีรออาตีประจำมัสยิดยือแรกูดอ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 20 เดือนตุลาคม 2554 มัสยิดยือแรกูดอได้เปิดสอนอ่านคัมภีร์อัลกุรอานระบบกีรออาตีให้ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ตามความต้องการของชาวบ้าน
นายสุไลมาน เปิดเผยต่อไปว่า เดิมตนใช้ระบบสะกดคำแบบดั้งเดิม (บัฆดาดียะห์) สอนเด็กอ่านคำภีร์อัลกุรอาน โดยเปิดสอนที่บ้าน ต่อมาเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ตนนำระบบกีรออาตีซึ่งเป็นระบบใหม่มาใช้สอนเด็กอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน ทำให้เด็กมีพัฒนาการอ่านอัลกุรอานเร็วขึ้น ชาวบ้านจึงต้องการให้เปิดสอนผู้ใหญ่และผู้สูงอายุด้วย จึงเปิดสอนที่มัสยิด
นายสุไลมาน เปิดเผยอีกว่า หลังใช้ระบบกีรออาตี ชาวบ้านเห็นว่าเด็ก สามารถอ่านคำภีร์อัลกุรอานได้คล่องแคล่ว รู้จักตัวพยัญชนะและออกเสียงได้ชัดเจน จึงอยากเรียนระบบกีรออาตีด้วย
นายสุไลมาน เปิดเผยด้วยว่า ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มาเรียนระบบกีรออาตีส่วนใหญ่ต้องการพัฒนาตัวเองให้สามารถอ่านอัลกรุอานได้อย่างถูกต้อง เพราะระบบกีรออาตีทำให้รู้หลักการอ่าน สามารถออกเสียงพยัญชนะได้อย่างถูกต้องและชัดเจน ทำให้สามารถอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่านได้อย่างคล่อง ซึ่งต่างจากตอนที่ยังไม่เรียนระบบกีรออาตี
นายสุไลมาน เปิดเผยว่า การเรียนรู้ตามระบบกีรออาตีของผู้ใหญ่และผู้สูงอายุจะมีพัฒนาการช้ากว่าเด็ก ยกเว้นผู้ที่มีพื้นฐานการเรียนระบบสะกดคำแบบดั้งเดิม ที่จะมีพัฒนาการเท่ากับเด็ก แต่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการออกเสียงพยัญชนะ ซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับการออกเสียงให้ถูกต้อง
นายสุไลมาน เปิดเผยด้วยว่า ปัจจุบันที่มัสยิดยือแรกูดอ มีผู้ใหญ่และผู้สูงอายุในหมู่บ้านมาเรียนระบบกีรออาตี 42 คน มีทั้งชายและหญิง อายุตั้งแต่ 30–72 ปี ส่วนเด็กที่มาเรียนมี 64 คน มีทั้งชายและหญิง อายุตั้งแต่ 5–17 ปี เวลาในการสอนแบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ เวลา 18.30–20.00 น. สอนเด็ก เวลา 20.30–21.30 น. สอนผู้ใหญ่ หยุดวันอังคารและวันศุกร์
นายสุไลมาน เปิดเผยว่า ในตำบลบาเจาะ มีเพียง 2 แห่งที่เปิดสอนระบบกีรออาตีให้ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ คือ ที่มัสยิดกำปงจาเราะดารุลนาอีม และมัสยิดยือแรกูดอดารุลอามาน ซึ่งทั้ง 2 แห่ง อยู่ในหมู่ที่ 6 ตำบลบาเจาะ
นายสุไลมาน กล่าวว่า ข้อดีของการเรียนระบบกีรออาตี คือ เมื่อมีคนในหมู่บ้านเสียชีวิต ญาติจะเชิญคนที่เรียนกีรออาตีไปอ่านอัลกรุอานอุทิศส่วนบุญให้คน ซึ่งไม่ต้องจ้างคนนอกหมู่บ้านมาอ่าน
นางสุละมา ดอแม อายุ 45 ปี ชาวบ้านยือแรกูดอ หมู่ที่ 6 ตำบลบาเจาะ หนึ่งในผู้เรียนระบบกีรออาตี เปิดเผยว่า การเรียนการสอนตามหลักสูตรกีรออาตี จะใช้ตำราทั้งหมด 5 เล่ม ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุต้องเรียนถึงเล่มที่ 3 กว่าจะออกเสียงพยัญชนะได้ถูกต้อง ต่างจากเด็กที่เรียนแค่เล่มที่ 1 ก็ออกเสียงได้ถูกต้องแล้ว
นายสุไลมาน เปิดเผยด้วยว่า ตนใช้หนังสือ “การสอนอ่านอัลกุรอานโดยใช้ระบบกีรออาตี” ของสุนทร ปิยะวสันต์ หรือ นายอัลดุลเลาะห์ ฮาซัน มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา เป็นคู่มือในการสอนอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่านหลักสูตรกีรออาตีที่มัสยิดยือแรกูดอ
หนังสือ “การสอนอ่านอัลกุรอานโดยใช้ระบบกีรออาตี” ของสุนทร ปิยะวสันต์ หรือ นายอัลดุลเลาะห์ ฮาซัน มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ระบุในหน้า 12–13 ว่า คนที่นำระบบกีรออาตี มาใช้ในประเทศไทย ที่จังหวัดปัตตานี คือ นาย อับดุลลอฮฺ ฮาซัน เมื่อปี 2542 หลังจากนั้นระบบกีรออาตีถูกนำไปใช้สอนเด็กในพื้นที่ต่างๆอย่างแพร่หลาย
หนังสือดังกล่าว ระบุอีกว่า ระบบการเรียนอัลกุรอานสมัยก่อน เรียกว่าบัฆดาดียะห์ (Baghdadiyah) เป็นระบบสะกดคำ นิยมใช้กันทั่วโลก คนที่นำระบบนี้มาใช้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ อุสตาสฮัจญีดะห์ลัน ซาลิม ซัรกาซี ที่บ้านพัก ณ เมืองเซอมารัง ประเทศอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) แต่ไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะคนอ่านอัลกรุอานได้ไม่คล่อง เรียนหน้าลืมหลัง ไม่รู้จักตัวพยัญชนะ และไม่เข้าใจหลักการอ่านที่ถูกต้อง
หนังสือดังกล่าว ระบุต่อไปว่า มีการศึกษาวิจัย พบว่า ระบบบัฆดาดียะห์ เหมาะสำหรับการท่องจำ แต่ไม่ใช่เรียนเพื่อความเข้าใจ จึงไม่สามารถทำให้เรียนอ่านอัลกรุอานได้เร็ว
หนังสือดังกล่าว ระบุด้วยว่า หลังจากนั้น อุสตาสฮัจญีดะห์ลัน ซาลิม ซัรกาซี จึงได้เรียบเรียงแบบฝึกอ่านอัลกรุอานจำนวน 1 ชุด จำนวน 5 เล่ม ชื่อว่า “กีรออาตี” ซึ่งมีความหมายว่า “การอ่านของฉัน” ถ้าเรียนจบเล่มที่ 5 จะสามารถอ่านอัลกุอานได้คล่องขึ้นและมีความแม่นยำตามหลักการอ่านอัลกุรอาน (ตัจญวีด)