Skip to main content

โอไอซีประณามการใช้ความรุนแรงกับผู้บริสุทธิ์  เรียกร้องรัฐเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ใช้สันติวิธีแก้ปัญหาและพูดคุยกับผู้ใช้ความรุนแรง ยันไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน

 

นาย Sayed Kassem El-Masry ที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษเลขาธิการขององค์กรความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation หรือ โอไอซี) กล่าวในระหว่างการเยือนพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2555 ว่า “โอไอซีขอประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นจากกลุ่มใด หรือฝ่ายใด  โอไอซีขอประณามการเข่นฆ่าชีวิตของประชาชนบริสุทธิ์  โดยไม่เลือกว่าเขาจะเป็นมุสลิม หรือไม่ใช่มุสลิม  หลักการของอิสลามชัดเจน อัลกุรอ่านบอกว่าผู้ใดฆ่าชีวิตหนึ่งชีวิตเหมือนกับเขาฆ่ามนุษย์ทั้งโลก อัลกุรอ่านไม่ได้บอกว่าชีวิตตรงนี้เป็นพุทธหรือมุสลิม"

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2555 ทางโอไอซีได้ออกแถลงการณ์ประณามเหตุการณ์ระเบิดสี่จุดในวันที่ 31 มีนาคมในพื้นที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา, อ.เมือง จ.ยะลาและในอ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 15 คน และมีผู้บาดเจ็บหลายร้อยคน  

ในช่วงแรกๆ ที่ความรุนแรงปะทุตั้งแต่ปี 2547 ทางโอไอซีได้วิพากษ์วิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคใต้อย่างรุนแรง  ทางกระทรวงการต่างประเทศจึงได้เชิญคณะผู้แทนของโอไอซีได้มาเยือนประเทศไทยครั้งแรกในปี 2548 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและดูพัฒนาการในพื้นที่ด้วยตนเอง และทางคณะของโอไอซีได้มาเยือนอีกครั้งในปี 2550  การเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่สามของคณะโอไอซีและเป็นครั้งที่สองที่ได้มาเยือนพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

นาย El-Masry กล่าวว่าทางโอไอซีและรัฐบาลไทยได้มีท่าทีร่วมกันว่าสาเหตุของปัญหาความรุนแรงในภาคใต้นั้นไม่ได้มาจากเรื่องศาสนา แต่เป็นเรื่องของความแตกต่างในทางอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์และประเพณีซึ่งเป็นเรื่องที่ปกติในประเทศที่มีชนกลุ่มน้อย

 “ความรุนแรง การใช้กำลัง ไม่ได้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา  แต่การแสวงหาแนวทางที่เป็นสันติ สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เป็นแนวทางที่จะไปสู่สันติภาพอย่างแท้จริง”, นาย El-Masry กล่าวกับผู้มาร่วมต้อนรับ ณ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่จ.ยะลา

ผู้แทนพิเศษได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกการใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่   กฎหมายฉบับนี้มีการบังคับใช้ใน จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสมาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ได้มีการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินไปเพียงหนึ่งอำเภอในช่วงต้นปี 2554 คือ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ซึ่งทางรัฐบาลก็ได้ยืนยันว่าจะได้มีการพิจารณายกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่อื่นๆต่อไป เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น

นอกจากนี้ นาย El-Masry ได้กล่าวว่าเขารู้สึกดีใจที่รัฐบาลไทยส่งเสริมการเรียนการสอนภาษามลายูถิ่นในโรงเรียนของรัฐซึ่งเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ให้ความสำคัญ ได้ทราบว่าในขณะนี้ได้มีการขยายโครงการนำร่องไปสู่โรงเรียนอื่นๆ ในพื้นที่มากขึ้น นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่าทางโอไอซียังได้ทราบว่ารัฐไทยได้ให้ความสำคัญกับการพูดคุยกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเห็นต่างจากรัฐ ซึ่งนับว่าเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเข้าใจในอนาคต

ในระหว่างการพูดคุยกับตัวแทนจากหลายภาคส่วนที่สำนักงานของ ศอ.บต. ได้มีกลุ่มนักศึกษาจากเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาและประชาสังคมเพื่อสันติภาพปาตานีได้มายื่นหนังสือกับตัวแทนของโอไอซี โดยได้มีการเรียกร้องให้โอไอซีตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพในปาตานีอย่างเป็นทางการ และเปิดโอกาสให้องค์กรเยาวชน นักศึกษาและภาคประชาสังคมได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเป็นด้วย

โดยในช่วงบ่าย นาย El-Masry ได้กล่าวเพิ่มเติมกับประชาชนที่มาร่วมพูดคุยที่โรงเรียนดารุลกุรอานิลการีมในอ.ยี่งอ จ.นราธิวาสว่าทางโอไอซีสนับสนุนให้รัฐบาลไทยได้สร้างเวทีการพูดคุยกับคนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนี้เพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งนี้  โดยบอกว่า “ยิ่งเร็วยิ่งดี” 

นอกจากนี้ นาย El-Masry ยังได้ให้สัมภาษณ์กับโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ปฏิเสธข่าวว่าทางโอไอซีได้ดำเนินการในการเป็นตัวกลางพูดคุยระหว่างกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกับรัฐบาลไทย “เราไม่ได้ดำเนินการพูดคุยแต่เราส่งเสริมให้รัฐบาลไทยดำเนินการพูดคุยอย่างต่อเนื่อง” เขากล่าว

ก่อนหน้านี้ได้มีข่าวว่าโอไอซีได้จัดประชุมกับตัวแทนของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในกรุงริยาร์ด ประเทศซาอุดิอาระเบียและกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียพร้อมๆ กันในช่วงปลายปี 2553 โดยต้องการที่จะทำหน้าที่ในการเป็นคนกลางในการพูดคุยระหว่างรัฐกับประชาชน  เจ้าหน้าที่ของโอไอซีกล่าวยอมรับว่ามีการประชุมเกิดขึ้นจริง  แต่โอไอซีเป็นผู้เข้าร่วมประชุมเท่านั้น  โดยผู้จัดงานในครั้งนั้นคือภาคประชาสังคม