Skip to main content

แม่ทัพภาคสี่ชี้แจงคณะผู้แทนโอไอซีเสนอนายกฯ ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินในสามจังหวัดชายแดนใต้ ยันรัฐปฏิบัติตามกฎหมายและเคารพสิทธิมนุษยชน  โอไอซีผลักรัฐเร่งพูดคุยกับผู้เห็นต่าง 

วันที่ 10 พฤษภาคม  2555 นาย Sayed Kassem El-Masry ผู้แทนพิเศษและที่ปรึกษาของเลขาธิการขององค์กรความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation หรือโอไอซี) พร้อมคณะได้เข้าร่วมพูดคุยกับตัวแทนของกองทัพนำโดยพล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหารบกและ พล.ท.อุดมชัย  ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่สี่และผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาคสี่ (กอ.รมน.ภาคสี่) โดยได้มีการจัดประชุมที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ตรงข้ามค่ายสิรินธร อ.ยะรัง จ.ปัตตานี  มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 30 คน

 

พล.ท.อุดมชัย  ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคสี่และผอ.รมน.ภาคสี่ อ่านรายงานสถานการณ์ชายแดนใต้ในการประชุมร่วมกับคณะผู้แทนของโอไอซี  (ภาพ: ฮัสซัน โตะดง)

พล.ท. อุดมชัยได้กล่าวในที่ประชุมกับคณะของโอไอซีว่า “ขณะนี้ผมได้เสนอให้หน่วยเหนือพิจารณาขอยกเลิกพ.ร.ก. [การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548] ผมได้นำเสนอไปแล้ว การปฏิบัติการทางทหารของผมนั้น  ทำเพื่อป้องปรามเท่านั้นไม่ได้มุ่งทำลาย”

ทางโอไอซีได้แสดงความกังวลว่าการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นจะเป็นเงื่อนไขให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น พ.ร.ก. ฉุกเฉินได้ถูกประกาศใช้ในจ.ปัตตานี ยะลาและนราธิวาสตั้งแต่ปี 2548  โดยกฎหมายพิเศษฉบับนี้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้นานถึง 30 วันโดยไม่ต้องมีการตั้งข้อกล่าวหา  โดยการออกหมายจับภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะต้องได้รับการยินยอมจากฝ่ายทหารตำรวจและปกครองและได้รับการอนุมัติจากศาล  มีเพียงพื้นที่อ.แม่ลาน จ.ปัตตานีเท่านั้นที่มีการยกเลิกการใช้กฎหมายดังกล่าวในเดือนมกราคม 2554  

พล.ท.อุดมชัยกล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการประชุมว่าได้มีการเสนอให้กับนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรในฐานะผู้อำนวยการกอ.รมน. ไปแล้ว  หากพ.ร.ก.ฉุกเฉินถูกยกเลิกก็จะนำพ.ร.บ.ความมั่นคงมาใช้แทน ซึ่งจะทำให้กอ.รมน.สามารถที่จะดำเนินนโยบายตามมาตรา 21 ของกฎหมายดังกล่าวซึ่งเป็นการอภัยโทษให้กับผู้ที่ต่อสู้กับรัฐและให้พวกเขากลับคืนสู่สังคมโดยไม่ต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมายอาญา

พล.ท.อุดมชัยได้กล่าวในที่ประชุมอีกว่า “สิ่งที่ผมยืนยันคือเจ้าหน้าที่รัฐต้องปฏิบัติตามหลักกฎหมายและสิทธิมนุษยชนเท่านั้น  นี่คือยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เราต้องใช้ยุทธศาสตร์สร้างความเข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมาย  ถ้ามีการละเมิดสิทธิหรือการรังแกพี่น้องมุสลิม  เราจะลงโทษตามกฎหมายและตามแบบธรรมเนียมทหาร”

แม่ทัพภาคที่สี่กล่าวเพิ่มเติมว่าเขาไม่ได้คิดว่าคนที่ต่อสู้กับรัฐนั้นเป็นอาชญากรโดยสันดาน เขาต่อสู้เพราะเขาได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมในอดีต  กองทัพจะพยายามแก้ไขปัญหานี้ด้วยสันติวิธีภายใต้กฎหมาย 

นาย El-Masry ได้กล่าวกับที่ประชุมว่าเขาได้สังเกตเห็นถึงพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นในเรื่องความเข้าใจประชาชน  เขากล่าวว่าในครั้งที่เขาและเลขาธิการโอไอซี Prof. Ekmeleddin Ihsanoglu ได้มาเยือนประเทศไทยในปี 2550 นั้น  ทางกองทัพยังคงมีท่าทีปฏิเสธถึงปัญหาของพี่น้องชาวมุสลิมและมองพวกเขาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย  แต่ว่าในตอนนี้มีความเข้าใจที่ดีขึ้นว่าปัญหาของพวกเขานั้นเป็นเรื่องจริงและสมเหตุสมผล  ประชาชนต้องการที่จะดำรงวิถีชีวิตตามความเชื่อของพวกเขา ต้องการเสรีภาพในทางศาสนา การใช้ภาษา และการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ของพวกเขา

 

นาย Sayed Kassem El-Masry ผู้แทนพิเศษและที่ปรึกษาของเลขาธิการโอไอซีขณะเดินชมผลิตภัณฑ์ในศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของ กอ.รมน. (ภาพ: ฮัสซัน โตะดง)

ผู้แทนพิเศษกล่าวว่าพวกเขาตระหนักดีว่าการแก้ไขปัญหาภาคใต้นี้เป็นเรื่องภายในของรัฐบาลไทย  การติดต่อกับคนมุสลิมซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยนั้นจะต้องผ่านรัฐบาลที่มีความชอบธรรม  โอไอซีให้ความเคารพต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐบาลไทย  เขาระบุว่าหากรัฐบาลต้องการที่จะเข้าใจประชาชนมากขึ้น  รัฐบาลจะต้องเริ่มต้นกระบวนการพูดคุยซึ่งก็ได้ทราบจากการประชุมกับตัวแทนของรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ว่าได้มีการดำเนินการดังกล่าวอยู่  เขาเสนอว่าการพูดคุยนั้นจะต้องคุยกับคนที่เป็นตัวแทนของชาวบ้านอย่างแท้จริง

นาย El-Masry ยังได้แสดงความกังวลถึงการใช้กำลังทหารพรานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ว่าอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น  พล.ท.อุดมชัยได้ชี้แจงว่ากองทัพเข้าใจดีว่าถ้าทหารไปละเมิดสิทธิก็จะเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้พี่น้องมุสลิมลุกขึ้นต่อสู้   กองทัพต้องการที่จะให้คนในพื้นที่ได้ดูแลกันเองจึงมีนโยบายที่จะให้ทหารพรานเข้ามาดูแลพื้นที่มากขึ้น    เขายอมรับว่าในคนหมู่มากก็อาจจะมีคนที่ไม่ดีบ้าง แต่เชื่อว่าทหารพรานส่วนใหญ่เป็นคนดี  นอกจากนั้น ทหารพรานก็อยู่ภายใต้กฎเหล็กเดียวกันกับทหารหลักคือต้องปฏิบัติตามกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด

ในช่วงการเยือนของคณะผู้แทนโอไอซี  ความรุนแรงก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง วันที่ "Times New Roman";color:#333333;background:#FDFFF2">9 พฤษภาคม 2555 เกิดความรุนแรงหลายเหตุการณ์ mso-fareast-font-family:"Times New Roman""> เวลา "Times New Roman"">17.25 น. คนร้ายวางระเบิดเจ้าหน้าที่ทหาร ร้อย.ม.2  หน่วยเฉพาะกิจยะลา 16 เหตุเกิดที่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 (ยะลา-เบตง) ที่บ้านบูโล๊ะสะนิแย ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา  แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

ต่อมาในเวลา 19.00 น. คนร้ายยิงนายณัฐกานต์ สาและ อายุ 20 ปี ในอ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานีได้รับบาดเจ็บ  อีกครึ่งชั่วโมงต่อมาเกิดเหตุปะทะระหว่างทหารที่กำลังลาดตระเวนกับคนร้ายประมาณ 6 – 8 คนในอ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ทำให้คนร้ายเสียชีวิต 2 คน คือ นายมูฮัมมัดนอร์ กามาสะ อายุ 29 ปีและ นายมูบาเระ วาแดบือแง 32 ปีโดยทหารได้รับบาดเจ็บหนึ่งนาย