Skip to main content

พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติได้กล่าวปาฐกถาปิดงานสัมมนา“สันติธานี วิถีวัฒนธรรมสู่สันติสุขชายแดนใต้”  ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2555 ในหัวข้อเรื่อง “ทิศทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระยะต่อไปของรัฐบาล”

ทางโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้เห็นว่ามีเนื้อหาที่น่าสนใจจึงได้ถอดความในส่วนที่เป็นสาระสำคัญดังต่อไปนี้  

ในโอกาสนี้ ผมขอถือโอกาสเสนอทิศทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้ในระยะต่อไปของรัฐบาล ผมอยากจะขอกล่าวในที่นี้เพื่อให้เห็นว่าการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ดำเนินการไปภายใต้กรอบนโยบายที่สำคัญสองกรอบ

ในกรอบแรกคือ นโยบายของรัฐบาลที่แสดงต่อรัฐสภา โดยรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการในปีแรกซึ่งได้นำไปสู่การจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดินและแผนปฏิบัติการของส่วนราชการ  โดยจัดให้มีการทำแผนงานโครงงานงบประมาณรองรับซึ่งการแก้ไขปัญหาในกรอบนโยบายของรัฐบาลนี้ได้มุ่งไปที่การสร้างสันติสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกลับสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควบคู่ไปกับการขจัดความยากจน ปัญหายาเสพติด และอิทธิพลอำนาจมืด โดยน้อมนำกระแสพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เป็นหลักในการปฏิบัติตามแนวทางสันติวิธี

ได้เน้นเรื่องของการส่งเสริมความร่วมมือทุกภาคส่วนกับประชาชนในพื้นที่กับการอำนวยความยุติธรรมอย่างทั่วถึง เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสและความเสมอภาค พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ เคารพอัตลักษณ์ ธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น ส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบที่สอดคล้องกับลักษณะของพื้นที่โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มีการบูรณาการการบริหารจัดการทุกภาคส่วนให้มีเอกภาพทั้งในระดับนโยบายและในระดับปฏิบัติ รวมทั้งปรับปรุงพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องและทันสมัยกับสภาพเป็นจริงที่เกิดขึ้น ตลอดจนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบอย่างเป็นธรรม

ในกรอบที่สอง คือ นโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้  พ.ศ. 2555-2557 ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติได้จัดทำขึ้น โดยใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นและกว้างขวาง เป็นนโยบายฉบับแรกที่ดำเนินการตาม พ.ร.บ. การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2553  นโยบายฉบับนี้ เมื่อทำขึ้นแล้วก็ต้องนำเสนอรัฐบาลและรัฐสภาเพื่อทราบ  สภาผู้แทนราษฎรได้รับทราบแล้ว โดยใช้เวลาเกือบสองวัน 15 ชั่วโมง [ในการอภิปราย] ส่วนใหญ่เห็นพ้องกับนโยบายดังกล่าว

แต่ความเป็นห่วงก็คือเรื่องที่จะนำนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง

กราบเรียนว่า ภายใต้นโยบายดังกล่าว กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้นำไปประกอบในการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 6 ด้านและทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้นำไปจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2555 - 2557  ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากรัฐมนตรีไปแล้วในวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ผมขอเรียนท่านต่ออีกว่า ทิศทางการแก้ปัญหาที่สำคัญๆ ประการแรกก็คือ ยึดมั่นในหลักยุทธศาสตร์พระราชทานอย่างที่ผมเรียนแล้วคือ การเข้าใจ เขาถึง พัฒนา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การเมืองนำการทหารและแนวทางสันติวิธี

เมื่อพูดถึงการเมืองนำการทหาร การเมืองก็คือการแบ่งปันผลประโยชน์ การแบ่งปันอำนาจ แบ่งปันสถานะความเป็นอยู่อย่างเสมอภาคเป็นธรรม นำการทหาร คือ การไม่มุ่งปรับความคิดความเชื่อ แต่มุ่งเปลี่ยนแนวการต่อสู้ การใช้ความรุนแรง ไปยึดมั่นการต่อสู้ด้วยสันติวิธี

ประการต่อมาเป็นการให้ความสำคัญไปที่เน้นที่ต้นเหตุรากเหง้าของปัญหาความรุนแรง ความรุนแรงมีสามระดับ คือ 1)  การใช้ความรุนแรงระดับบุคคลต่อฝ่ายต่างๆ 2) ความรุนแรงระดับโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมจากเงื่อนไขทางวัฒนธรรม เกี่ยวกับความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ ความรู้สึกว่าตนแปลกแยก ไม่ได้รับการยอมรับและไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย

ประการต่อมาคือสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน ประการต่อมาเป็นการพัฒนาในทุกมิติที่สอดคล้องกับความต้องการและการใช้วิถีชีวิตของประชาชน ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่นำเสนอในวันนี้ในเรื่องสันติธานี

ต่อมาเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงเป็นธรรม การสร้างความเป็นธรรมและความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมนะครับ การกระจายอำนาจที่สอดคล้องต่อรัฐธรรมนูญไทยที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในกระบวนการตัดสินใจต่อนโยบายที่มีผลต่อประชาชน การส่งเสริมกระบวนการพูดคุยต่อผู้มีส่วนได้เสียต่อกับปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับต่างๆ เพื่อเรียนรู้ความต้องการและการหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติวิธีแทนการใช้ความรุนแรง

ประการสุดท้ายที่อยากจะเรียนคือการเสริมสร้างความร่วมมือจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน องค์กรต่างประเทศอย่างเช่น โอไอซี [องค์การความร่วมมืออิสลาม]  โดยปีนี้จะเห็นได้ว่า ผลออกมาเกินที่เราคาดหวัง ความร่วมมือร่วมใจของโอไอซี นี่เป็นนโยบายแห่งความร่วมมือเพื่อการแก้ปัญหาโดยไม่แทรกแซงไทยนะครับ

ผมขอเรียนถึงนโยบายสู่การปฏิบัติ หลายฝ่ายเห็นชอบในนโยบายที่ออกมาใหม่นี้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นห่วงเช่นกันในเรื่องของการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ

ในเรื่องการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ ล่าสุดผมอยากจะเรียนต่อที่ประชุมทุกคนทราบว่า ท่านนายกรัฐมนตรี เป็นห่วงในเรื่องนี้อย่างมาก หลังจากเดินทางตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กับท่านรองนายกฯ พล.อ.ยุทธศักดิ์ [ศศิประภา] ท่านรองนายกฯ ยงยุทธ [วิชัยดิษฐ์] ท่านรองนายกฯ กิตติรัตน์ [ณ ระนอง] ผมก็ได้ร่วมตามไปด้วย ไปติดตามนโยบายการแก้ไขปัญหา ก็ได้รับทราบปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่นปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหายาเสพติด ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมามอบการดำเนินงานที่สำคัญนี้ให้ท่านรองนายกฯ ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เรียกย่อๆ ว่า ก.ป.ต. เพื่อกำกับติดตามเพื่อให้การดำเนินการแก้ปัญหาในพื้นที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เน้นส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานร่วมกัน ทั้ง ศอ.บต.และกอ.รมน. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามแผนงานความมั่นคงที่แถลงไว้ในนโยบายของรัฐบาล

…….

ทั้งนี้ ยังมอบหมายให้ท่านรองนายก กิตติรัตน์ ณ ระนอง บูรณาการการดำเนินการร่วมกันกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ และได้นำวิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านมาเทียบเคียงกับการแก้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ด้วย

ได้ประสานงานกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มาช่วยดูแลส่งเสริมการประกอบอาชีพให้ประชาชนในพื้นที่ ต่อจากนี้ได้มอบหมายให้รองนายกฯ ยงยุทธประสานกับกระทรวงยุติธรรมให้เร่งรัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ชายแดนให้มีผลเป็นรูปธรรม  และในฐานะประธานคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เร่งรัดติดตามกระบวนการเยียวยาผู้ประสบภัยในพื้นที่ชายแดน รวมถึงการสื่อสารเชิงประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนในพื้นที่ในเรื่องแนวทางการปฏิบัติงาน 

ในประเด็นเรื่องการติดตามผลคดี ขอเรียนเพิ่มเติมว่า เรามีคณะอนุกรรมการบูรณาการกฏหมาย ซึ่งเป็นอนุกรรมการภายใต้การคณะกรรมการประสานงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติ เราก็ได้เร่งรัดเรื่องกระบวนการเข้าสู่กระบวนการมาตรา 21 ซึ่งอยู่ในกฎหมายใหม่ ซึ่งเพิ่งนำมาใช้และยังมีข้อขัดข้องติดขัดอยู่  ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2555 ก็มีสองรายแรกที่ศาลได้พิพากษาให้ผู้ที่กลับใจหรือผู้ที่หลงผิดได้เข้าสู่กระบวนการอบรมไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีความอาญา นี่เป็นตัวอย่างที่อยากจะกราบเรียน

…….

นอกจากนี้ก็จะกราบเรียนท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่ร่วมสัมมนาในที่นี้นะครับ ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่ารัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  ไม่ว่าจะเป็นนโยบายรัฐบาล นโยบายการบริหารพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ล้วนมีทิศทางที่ประสานและสอดคล้องกัน  ในยุคนี้นะครับ ต้องประสานและสอดคล้องกัน ต้องไปด้วยกันให้ได้ ไม่อย่างนั้นจะไม่เกิดผล

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ตระหนักดีว่า การปฏิบัติการนโยบายจะได้รับผลดีก็ต่อเมื่อมีการชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้เข้าใจต่อวัตถุประสงค์และเป้าหมายของนโยบายอย่างครบถ้วน เพื่อไม่ให้ตีความเป็นอย่างอื่น อาจจะมีผลต่อการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับนโยบาย อาจจะสวนทางกัน ในครั้งนี้ จะปล่อยให้เป็นอย่างนั้นไม่ได้ ที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งคือการที่ทุกภาคส่วน ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงต่อปัญหา ต้องเป็นที่ยอมรับของภาคส่วนเหล่านั้น มีส่วนในการร่วมแก้ไขปัญหา  

รัฐบาลตระหนักดีว่า ปัญหาชายแดนภาคใต้มีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ลำพังการยึดหน่วยงานภาครัฐเป็นกลไกทำงานหลักในส่วนเดียวคงไม่อาจทำให้บรรลุความสำเร็จตามนโยบายได้โดยง่าย ต้องใช้วิธีการร่วมคิดร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ สำหรับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในลักษณะภาคีเครือข่ายงานทั้งในระดับนโยบาย ยุทธศาสตร์ การปฏิบัติอย่างกว้างขวางและหลากหลาย จะต้องสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายของแต่ละประเด็นปัญหา