ลุยวิจัยพื้นที่ทับซ้อนอุทยานแห่งชาติ ชี้เป็นภัยแทรกซ้อน ถูกบดบังด้วยความรุนแรง ศอ.บต.หนุนตั้งกองทุนยุติธรรมสู้คดี แนะใช้ประวัติชุมชนเป็นหลักฐาน พิสูจน์สิทธิใครมาก่อน
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 26 พฤษภาคม 2555 คณะทำงานโครงการวิจัยการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการลุ่มน้ำสายบุรี ระยะที่ 2 จัดเสวนา “ทบทวนปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินจังหวัดชายแดนภาคใต้” ณ ห้องประชุมมะเดื่อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ คณะวิจัยโครงการ กล่าวว่า ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ได้บดบังปัญหาอื่นๆ ในพื้นที่ อย่างความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นปัญหาที่ซับซ้อน เช่น นายทุนไล่ที่ อุทยานทับที่ทำกิน ชาวบ้านถูกยึดเอกสารสิทธิ และปัญหาการย้ายออกจากพื้นที่เนื่องจากไม่มีที่ดินทำกิน
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวอีกว่า การทำโครงการวิจัยดังกล่าว เพื่อค้นหาที่ดินที่มีปัญหาทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติ โดยดึงชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ โดยใช้เครื่องมือวัดพิกัดทางภูมิศาสตร์ (GPS) ประกอบข้อมูลจากเจ้าหน้าที่รังวัดที่ดินและข้อมูลจากแผนที่ทางอากาศ
“การเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมด้วย ไม่อย่างนั้นปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข เพราะปัญหาที่นี่มีเงื่อนไขมากมายทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น” ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวระหว่างเปิดประชุมว่า ปัญหาที่ดินทำกินเป็นปัญหาระดับชาติ แต่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเหตุความไม่สงบมามาผสมโรงด้วย ซึ่งการแก้ปัญหาอย่าพึ่งการแก้กฎหมายอย่างเดียว เนื่องจากใช้เวลานาน อาจจะไม่ทันกาล
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ที่ดินของประเทศมีประมาณ 300 ล้านไร่ โดย 120 ล้านไร่เป็นป่า และเกือบ 100 ล้านไร่ เป็นที่รกร้างว่างเปล่าของนายทุน และอีก 100 ล้านไร่เป็นพื้นที่เกษตร เมื่อจะจัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านต้องไปบุกรุกป่า ทั้งๆ ที่ยังมีพื้นที่อยู่ในมือนายทุนอีกประมาณ 100 ล้านไร่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทำให้ชาวบ้านถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติจำนวนมาก
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ตนคิดว่าคดีบุกรุกที่ดินไม่ควรเป็นคดีอาญา ขอเสนอให้ปรับกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับคดีที่ดินใหม่ โดยนำประวัติศาสตร์ชุมชนมาเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดี ควบคู่แผนที่ทางอากาศของกรมทรัพยากร หรือประกาศของรัฐบาล ที่สำคัญต้องให้ชุมชนนำหลักฐานที่สามารถอ้างได้ว่า ระหว่างอุทยานแห่งชาติกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านอะไรมาก่อน
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า อำนาจในการแก้ปัญหาที่ดินทำกินใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมา อยู่ในมือคนกลุ่มเดียวคือเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีดุลพินิจที่อาจอาจจะเอื้อต่อนายทุน จึงควรเพิ่มภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาที่ดินด้วย