ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมายาวนานกว่าแปดปีได้ทำให้สายสัมพันธ์ของคนต่างศาสนาที่เคยดีต่อกันต้องจืดจาง ห่างเหิน เกิดความหวาดระแวงต่อกันมากยิ่ง ในขณะที่เสียงปืนและระเบิดยังคงดังอยู่ ภาคประชาสังคมได้พยายามจัดพื้นที่กลางให้คนต่างศาสนาและชาติพันธุ์ที่ไม่ค่อยมีเวทีแลกเปลี่ยนกันได้มาสนทนาและครุ่นคิดถึงทางออกของการดับไฟใต้ร่วมกัน
เวทีการเสวนาและเปิดตัวรายงาน “ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้และทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ความเห็นของผู้หญิง เยาวชน และผู้นำชุมชน” ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิศักยภาพชุมชน ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันที่ 10 พฤษภาคม 2555
มูลนิธิศักยภาพชุมชน (People Empowerment Foundation) ได้เริ่มจัดเวทีการเสวนาระหว่างกลุ่มไทยพุทธ มลายูมุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีนตั้งแต่ปี 2554 โดยได้จัดเวทีย่อยทั้งสิ้น 70 เวที มีผู้เข้าร่วมกว่า 800 คน โดยได้จัดเวทีรวมครั้งสุดท้ายที่จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 4 – 5 มีนาคม 2555 ภายใต้หัวข้อ “ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้และทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ความเห็นของผู้หญิง เยาวชน และผู้นำชุมชน” และได้นำรวบรวมการเสวนามาจัดพิมพ์เป็นรายงานและมีการแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2555 ที่กรุงเทพฯ
นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชนอธิบายว่ารายงานนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นครั้งแรกที่เป็นการรวบรวมข้อเสนอมาจากประชาชนในพื้นที่ แต่เราได้นำพี่น้องสามชาติพันธุ์และศาสนาซึ่งมีความหวาดระแวงซึ่งกันและกันมานั่งฟังว่าแต่ละฝ่ายคิดเห็นอย่างไร และต้องการเสนอทางออกอย่างไร
“เท่าที่ดูการเสนอทางออกเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้ ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานรัฐหรือเป็นรูปแบบข้อเสนอจากงานวิจัย ซึ่งส่วนสำคัญที่คิดว่ายังขาดคือ การดึงข้อเสนอจากประชาชนตัวเล็กตัวน้อย ที่เผชิญกับความยากลำบากในชีวิต ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ไม่เคยได้มีส่วนในการเสนอข้อเสนอในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน” นางชลิดากล่าว
นางชลิดาเล่าว่าการเดินทางไปจัดเวทีในพื้นที่จะทำงานร่วมกับกลุ่มเครือข่ายในพื้นที่ที่เข้าใจสภาพความเป็นจริงในพื้นที่นั้นๆ บางพื้นที่ก็เข้าถึงยาก ต้องให้เครือข่ายออกแบบวิธีการดึงข้อเสนอจากชาวบ้านในแบบที่ไม่เป็นทางการ และแยกการสนทนากับชาวบ้านไทยพุทธ ไทยเชื้อสายจีน และมลายูมุสลิม ซึ่งผู้เข้าร่วมนั้นมาจากทั้งพื้นที่สีแดง เหลืองและเขียว
ข้อสรุปหลักในการพูดคุยข้ามศาสนาคือ “ปัญหาการเมืองเป็นหลัก ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ให้มีการลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่อย่างที่ทำอยู่ อย่าเหมารวม คนไทยพุทธที่รักคนมลายูก็ยังมี และมลายูเสียใจที่คนไทยพุทธถูกกระทำ ประชาชนไม่สนับสนุนความรุนแรง เขาอยากสะท้อนเสียงออกไป ให้ลดอาวุธลง จำกัดการใช้ ควรมีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์กับสาธารณะ สื่อสำคัญมาก ไม่หวังความจริงจากสื่อกระแสหลัก ยินดีให้สื่อทางเลือกช่วย”
ชาวบ้านทั้งสามชาติพันธุ์พูดตรงกันว่าปัญหาในพื้นที่ผสมปนเป ยากที่จะแยกแยะ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาเรื่องการแบ่งแยกดินแดนเพียงอย่างเดียว แต่ยังเรื่องความขัดแย้งอื่น เช่น การเมือง ยาเสพติด ค้าของเถื่อน และการแย่งชิงงบประมาณ
ในการประชุมกลุ่มย่อยมีข้อเสนอของแต่ละกลุ่ม ดังนี้ ข้อเสนอจากกลุ่มเยาวชนบอกว่าเราควรจะ สอดส่องดูแลกันและกัน รัฐต้องเปิดเวที ประชาชนต้องเดินหน้าต่อไป ควรมีการเจรจากับขบวนการ พัฒนาเยาวชน ดูแลเรื่องอาชีพ ปัญหายาเสพติด ต้องเอาเศรษฐกิจมาแก้และเพิ่มการพัฒนาคุณธรรมให้เยาวชนและผู้นำ
ส่วนกลุ่มผู้หญิงเรียกร้องให้มีการจัดเวทีพูดคุยในชุมชนของคนทุกศาสนา เน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว เพื่อขจัดปัญหายาเสพติด ปลูกฝังแต่สิ่งดีๆให้ลูกๆ และยังมองว่าภายในชุมชนยังขาดความสามัคคี ซึ่งเกิดจากผู้นำและชุมชนมีความห่างเหินกัน กลุ่มผู้หญิงทั้งสามศาสนายังยืนยันว่าคนที่ทำร้ายผู้อื่นเป็นคนที่ไร้ศาสนา
กลุ่มผู้นำชุมชนมลายูเสนอว่าให้มีการลดอาวุธและจำกัดการใช้ในที่สาธารณะ ปฏิบัติให้เสมอภาคกัน ในภาวะแบบนี้ ประชาชนต้องอยู่ตรงกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และต้องมีจุดยืน มีข้อเสนอให้ขบวนการและรัฐ ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยยึดหลักปฏิบัติทางศาสนาและความเป็นธรรม
กลุ่มผู้นำชาวพุทธเสนอว่าการยุติความรุนแรงผู้นำชุมชนไทยพุทธและมลายูต้องร่วมมือกัน ต้องให้การศึกษาเรื่องศาสนาแก่เยาวชน เพราะศาสนาทำให้คนอ่อนโยนมีความรักและเมตตา และต้องทำให้ประชาชนสามศาสนาเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น
ในการพูดคุยได้มีข้อสรุปและข้อเสนอ 6 ข้อ คือ หนึ่ง มีข้อสรุปว่าสถานการณ์เกิดขึ้นจากปัญหาการเมือง ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ และสังคม ควรจัดสรรบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐให้เหมาะสม ไม่มีการทำงานซ้ำซ้อน สอง ให้จัดเวทีชุมชน ผู้หญิง เยาวชนอย่างสม่ำเสมอเพื่อร่วมกันหารือถึงปัญหาและให้เกิดการแก้ไขร่วมกัน สาม ให้มีเวทีรวมปีละครั้งเพื่อแลกเปลี่ยนระหว่างคนต่างศาสนาเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน สี่ เข้าร่วมหารือพูดคุยในระดับภูมิภาค เช่น เวทีอาเซียนเพื่อสร้างการเรียนรู้แลกเปลี่ยนและให้ประชาคมในภูมิภาคได้รับข้อมูลทางตรงจากพื้นที่ ห้า ส่งเสริมการศึกษาของเยาวชนและการดูแลเด็กกำพร้าในพื้นที่ หก การที่สื่อไม่ลงพื้นที่ทำให้เกิดการรายงานที่ไม่ตรงข้อเท็จจริงและส่งผลให้เกิดการเข้าใจผิด ประชาชนเชื่อมั่นสื่อทางเลือกมากกว่าสื่อกระแสหลัก
นางชลิดากล่าวว่าการจัดเวทีรวม แล้วให้ทั้งชาวบ้านสามศาสนาและชาติพันธุ์มาเล่าประสบการณ์ตัวเอง และเสนอทางออก ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจกัน และสร้างความเข้าใจในระดับหนึ่ง ซึ่งสามารถลดความหวาดระแวงต่อกันได้ แต่สิ่งที่ทำให้สังคมเห็นคือ ชาวบ้านยังมีความพยายามจะรักษามิตรภาพและความสัมพันธ์ที่ดีที่เคยมีก่อนเหตุรุนแรงจะปะทุขึ้น
ข้อเสนอที่ได้จากชาวบ้านจะถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาสามจังหวัดโดยตรง ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีและกองทัพด้วย เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาต่อไป นอกจากนี้ ทางภาคประชาสังคมยังต้องการที่จะสื่อสารกับสังคมใหญ่อีกด้วย
“การแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ต้องให้สังคมใหญ่ช่วย ไม่ควรปล่อยให้เป็นปัญหาของพื้นที่อีกต่อไป สังคมต้องรับรู้ว่านี่คือปัญหาของประเทศ คนเจ็บตายทุกวัน ประชาชนเดือดร้อน ไม่กล้าทำมาหากิน สังคมใหญ่ควรเห็นและรับรู้ว่าในพื้นที่ต้องการให้ปัญหาของเขาแก้อย่างไร เมื่อทุกคนตระหนักว่าเป็นปัญหาร่วมกัน แล้วให้การสนับสนุน จะเกิดเป็นข้อเสนอที่ทรงพลังขึ้นมาทันที รัฐบาลต้องรับฟังและแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน” นางชลิดากล่าวหลังการแถลงข่าวที่กรุงเทพฯ
มูลนิธิศักยภาพชุมชนและเครือข่ายที่ร่วมจัดเวทียังได้แสดงความเห็นไว้ในรายงานด้วยว่าการจัดเวทีนี้ทำให้เห็นว่าหลายคนเปิดใจรับฟังเพื่อนต่างศาสนามากขึ้น จากเดิมที่มองว่า ตนเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด นอกจากนี้ การลงไปในพื้นที่ยังเป็นตัวกระตุ้นให้ชุมชนตื่นตัวในการลุกขึ้นมาเสนอทางออก ไม่เหมือนที่ผ่านมา รอเพียงหน่วยงานข้างนอกมาช่วยเหลือ ซึ่งทำได้เพียงบรรเทา แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่รากเหง้าอย่างแท้จริง