Amnestyรายงานสถานการณ์ใต้ พบ 2 ประเด็น รุนแรงซ้ำซาก มุสลิมตายกว่าครึ่ง คนร้ายลอยนวล ละเมิดสิทธิรุนแรง หาคนผิดไม่ได้ เผยไทยได้หมอคนแรก เรียนจบซ้อมทรมาน ศูนย์ทนายมุสลิมสบช่อง ดึงมาอบรมพนักงาน
นางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 31 พฤษภาคม 2555 ที่ห้องสะบารัง โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล (Amnesty International) ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก เปิดแถลงข่าวรายงานสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนลประจำปี พ.ศ.2555
นางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนลประเทศไทย แถลงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของโลกประจำปีที่ 5 ของประเทศไทย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า มี 2 ประเด็น คือ การขัดแย้งกันด้วยอาวุธ ซึ่งผู้ที่ถูกสังหารระหว่างการขัดแย้งกันด้วยอาวุธ ส่วนใหญ่ยังเป็นพลเรือน โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นมุสลิม ซึ่งผู้ก่อการเริ่มใช้ระเบิดชนิดแสวงเครื่องมากขึ้น โดยพุ่งเป้าทำร้ายพลเรือนหรือโจมตีโดยไม่แยกแยะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างความหวาดกลัวในบรรดาประชาชน
นางสาวปริญญา แถลงต่อไปว่า ประเด็นที่ 2 คือ การลอยนวลพ้นผิด ซึ่งนับเป็นปีที่ 8 ติดต่อกันแล้วที่ไม่มีการลงโทษเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรา 17 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ที่ยังคงมีผลบังคับใช้ ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนลประเทศไทยพยายามให้มีการยกเลิก
นางสาวปริญญา แถลงอีกว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2548 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้คุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่กระทำการละเมิดสิทธิระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ให้ไม่ต้องรับโทษ เช่น ยังไม่มีการลงโทษผู้ที่ทรมานอิหม่ามยะพา กาเซ็ง จนเสียชีวิต ระหว่างถูกควบคุมตัวในเดือนมีนาคม 2551 ในจังหวัดนราธิวาส
นางสาวปริญญา เปิดเผยว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ปรากฏในรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา มีเรื่องการซ้อมทรมาน การควบคุมตัวโดยพลการ การบังคับให้บุคคลสูญหาย หรือการปล่อยให้ผู้กระทำความผิดยังลอยนวลอยู่มาตลอดซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งทุกปีแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ได้จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลไทยทุกชุด เพื่อให้แก้ปัญหาดังกล่าว
นางสาวปริญญา เปิดเผยต่อไปว่า นอกจากนี้เมื่อปี 2554 เป็นปีแรกที่ประเทศไทยต้องทำส่งรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนให้แก่สหประชาชาติ ตามวาระ 4 ปีครั้ง ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ได้ส่งรายงานเงารายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยไปด้วย ซึ่งมีประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ความมุสลิม เปิดเผยในเวทีว่า ปัจจุบันการซ้อมทรมานมีระบบป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผล เช่น ใช้ไม้ที่พันด้วยผ้าทุบตี เป็นต้น อย่างไรก็ตามขณะนี้ประเทศไทยมีแพทย์ที่เรียนจบด้านการซ้อมทรมานแล้ว 1 คน ซึ่งมีความสามารถพิสูจน์หาร่องร่อยการซ้อมทรมานด้วยการเจาะเลือดไปตรวจสอบ ซึ่งมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมกำลังติดต่อขอให้แพทย์คนนี้มาอบรมเจ้าหน้าที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมด้วย
นายสิทธิพงษ์ เปิดเผยด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2550 –2555 ศูนย์ทนายความมุสลิม ได้รับการร้องเรียนเรื่องทรมาน 310 เรื่อง โดยเฉพาะในเดือนมกราคมถึงเมษายน 2555 มีทั้งหมด 13 เรื่อง ส่วนใหญ่ถูกซ้อมทรมานในช่วงถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก
“เราไม่ประสบความสำเร็จที่จะนำคนซ้อมทรมานมาดำเนินคดีอาญาได้ แม้แต่รายเดียว แต่ประสบความสำเร็จในการดำเนินคดีทางแพ่ง เช่น กรณีนายอิสมาแอ เต๊ะ ที่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐได้” นายสิทธิพงษ์ กล่าว