Skip to main content
เลขาศอ.บต. แจงผู้สูญเสียจากการกระทำของจนท.รัฐและจากเหตุรุนแรงซ้ำซากที่รัฐป้องกันไม่ได้ เข้าข่ายได้ 7.5 ล้าน ชาวบ้านโวยเกณฑ์ไม่ชัดเจนและไม่เป็นธรรม
 
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 6 มิถุนายน 2555 ที่ห้องประชุมมะปราง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนภาคใต้ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรมจัดเสวนาแลกเปลี่ยนหลักคิด มุมมอง และ ประสบการณ์ทั้งในและต่างประเทศเรื่อง “เยียวยาอย่างไร นำไปสู่ความสมานฉันท์ ” โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน
 
.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวในพิธีเปิดงานถึงกรณีที่มีข้อสงสัยกันมาก คือ กรณีการเยียวยากับผู้สูญเสียจำนวนไม่เกิน 7.5 ล้านบาท   โดยที่กำหนดไว้คือจะจ่ายให้กับผู้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพอันเกิดจากการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ในกรณีเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547 (หรือที่เรียกว่าเหตุการณ์กรือเซะ) และเหตุการณ์ตากใบซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 และการเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอื่นๆ ที่เกิดจากการละเมิดสิทธิของเจ้าหน้าที่รัฐ
 
เลขาฯ ศอ.บต. กล่าวเพิ่มเติมว่าอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้าข่ายที่จะได้รับเงินเยียวยาไม่เกิน 7.5 ล้าน คือ กลุ่มที่คณะกรรมการเห็นควรที่จะให้มีการเยียวยา “เฉพาะกรณี”   
 
“อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ได้เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ เกิดจากผู้ก่อเหตุรุนแรงที่คณะกรรมการเห็นควรที่จะมีการเยียวยาเฉพาะกรณี เพราะเมื่อไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว เจ้าหน้าทีรัฐมีคำสั่งให้ปกป้อง คุ้มครอง และไม่ไปปฏิบัติหน้าที่ เป็นเหตุให้เสียชีวิต หรือสั่งให้ไปคุ้มครองแล้ว ไม่สามารถคุ้มครองได้ ปล่อยให้มีความสูญเสียจำนวนมาก ผมยกตัวอย่างอาจจะเป็น ที่เดียวเกิดระเบิดซ้ำกัน 6 - 7 ครั้ง และความสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำอีก …  ในกลุ่มนี้จะมีจุดต่างนิดหนึ่งคือว่า การช่วยเหลือนั้นให้ไปนำเกณฑ์ของ กพต. [คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้] กพต. มีระเบียบอยู่ ถ้าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องจ่ายไม่เกิน 7.5 ล้านบาท”  พ.ต.อ.ทวีกล่าว
 
นางผณิตา ศรีผ่องงาม ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมาจากจ.นราธิวาสได้แสดงความคิดเห็นในเวทีว่าชีวิตมนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน แต่ทำไมบุคคลที่ถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐได้รับเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบที่เกิดจากการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบจะได้รับการเยียวยาเพียงแค่ 100,000 บาท
 
”มันแตกต่างกันระหว่างฟ้ากับดิน” นางผณิตากล่าว  เธอได้เสนอแนะว่าอย่างน้อยรัฐควรที่จะเยียวยาประชาชนในกลุ่มอื่นประมาณ 5 ล้านบาท  เพื่อที่จะไม่ให้มีความเหลือมล้ำมากเกินไป  
 
นายสมชาย หอมลออ กรรมการของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) แสดงความคิดเห็นว่า รัฐมีหน้าที่ในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน  หากว่ารัฐไม่สามารถปกป้องคุ้มครองได้  รัฐก็ควรที่จะเยียวยาผู้เสียหาย  แต่การเยียวยาในกลุ่มนี้ก็อาจจะแตกต่างจากการเยียวยาสำหรับผู้ที่ได้รับกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
 
นายแพทย์อนันต์ชัย ไทยประทาน รองประธาน “คณะอนุกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบกรณีถูกบังคับให้สูญหายหรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนวิธีอื่นโดยเจ้าหน้าที่รัฐจนบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิต” และกรรมการ “คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยากรณีถูกจับกุม ควบคุมหรือคุมขัง หรือถูกดำเนินคดีโดยไม่มีความผิด” เปิดเผยว่าจากการที่ศอ.บต. ได้เปิดลงทะเบียนไปเมื่อที่ 21 - 23 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา  สำหรับกลุ่มผู้ที่ถูกควบคุมตัวหรือถูกคุมขังก่อนและระหว่างการดำเนินคดีในชั้นศาล มีผู้มาลงทะเบียนเพียงประมาณ 30 คน ทั้งๆ ที่ตามข้อมูลที่มีอยู่ คาดว่ามีบุคคลที่ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประมาณ 5,000 คน
 
นายแพทย์อนันต์ชัยเปิดเผยอีกว่า สำหรับกลุ่มซ้อมทรมานและผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายยังไม่มีผู้มาลงทะเบียนแม้แต่คนเดียว  ทั้งนี้ เขาชี้แจงเพิ่มเติมว่าข้อมูลของศูนย์ทนายความมุสลิมระบุว่ามีผู้ที่ถูกซ้อมทรมานประมาณ 300 คน ส่วนบุคคลสูญหายมีอยู่ประมาณ 36 ราย 
 
นายซูรีมัน สุหลง เครือข่ายส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรมเปิดเผยว่าสำหรับกลุ่มผู้ที่ถูกควบคุมตัวซึ่งไม่ได้ไปลงทะเบียนนั้น  ส่วนใหญ่เป็นเพราะว่าเขาไม่ทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์การเยียวยาในกลุ่มนี้
 
นางสาวอัญชนา หีมมิน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจกล่าวว่า การเปิดลงทะเบียนเพื่อให้ผู้เสียหายแสดงความจำนงขอรับการช่วยเหลือนั้นยังขาดการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง  ประชาชนบางคนยังไม่รู้ว่าจะไปลงทะเบียนที่ใด  เรื่องนี้น่าจะเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะทำให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วกัน