Skip to main content
เปิดเวทีถกครบรอบวันต่อต้านการทรมานสากล   ผลักรัฐปรับกฎหมายหลังเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ  ตั้งเกณฑ์ประเมินยกเลิกกม.พิเศษภาคใต้  ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ต้องมีประสิทธิภาพ – ไม่แพง
 
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 26 มิถุนายน 2555 ที่โรงแรมทีเค.พาเลซ กรุงเทพมหานคร คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรมในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจัดเวทีสาธารณะเรื่อง “การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาเหยื่อซ้อมทรมาน” เนื่องในวาระครบรอบวันต่อต้านการทรมานสากล โดยผู้เข้าร่วมประมาณ 80 คน
 
 
 
 
นายสมชาย หอมลออ กรรมการปฏิรูปกฎหมายและประธานกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้วยกระบวนการยุติธรรม กล่าวเปิดงานเวทีสาธารณะว่า โดยหลักการแล้วรัฐมีหน้าที่ในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน  แต่ปรากฏว่าในหลายครั้งเจ้าหน้าที่รัฐกลับเป็นผู้ละเมิดเสียเอง  เจ้าหน้าที่รัฐใช้การทรมานเป็นส่วนหนึ่งในการสอบสวนเพราะมีความเชื่อว่าวิธีการดังกล่าวจะทำให้ได้มาซึ่งข้อมูล   
 
แม้ว่าประเทศไทยจะได้เข้าร่วมเป็นภาคี (accession) ในอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel , Inhumane or Degrading Treatment or Punishment –CAT) ตั้งแต่ปี 2550 แต่ว่าก็ยังไม่ได้มีการสร้างกฎระเบียบภายในประเทศเพื่อให้บรรลุผลตามอนุสัญญาดังกล่าว
 
นายไพบูลย์  วราหะไพฑูรย์  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่ารัฐจะต้องผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ที่ไทยได้เป็นภาคี โดยอาจจะแก้ไขเพิ่มเติมในกฎหมายอาญาซึ่งทำได้อย่างรวดเร็ว หรือออกเป็นกฎหมายเฉพาะขึ้นมา ซึ่งจะต้องใช้เวลาและอาจจะถูกต่อต้านจากเจ้าหน้าที่รัฐ   
 
นอกจากนี้ นายไพบูลย์กล่าวว่ารัฐควรจะพิจารณากรอบเวลาและเงื่อนไขในการใช้หรือยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่เปิดช่องให้เกิดการทรมาน  และควรให้ความสำคัญในเรื่องการให้การศึกษาในเรื่องสิทธิมนุษยชนกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่  โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับล่าง
 
น.ส. พูนสุข พูนสุขเจริญ เจ้าหน้าที่รณรงค์กฎหมายป้องกันการทรมาน  มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้นำเสนอร่างพ.ร.บ. ป้องกันและต่อต้านการทรมาน ที่ยกร่างโดยภาคประชาสังคม โดยมีมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นเจ้าภาพ  โดยในพ.ร.บ. จะมีกลไกหลักคือ การตั้งคณะกรรมการเฉพาะขึ้นมาเพื่อตรวจสอบกรณีร้องเรียนการทรมาน
 
             ศ.ดร.คณิต ณ.นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมายกล่าวว่า  ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทยคือ หน่วยงานต่างๆ ยังคงทำงานอย่างแยกส่วน ไม่มีความร่วมมือระหว่างกัน กระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นกระบวนการที่แพงมาก  ประเทศไทยมีจำนวนตำรวจ อัยการแลผู้พิพากษามาก แต่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยมีสถิติการยกฟ้องสูงซึ่งแตกต่างกับกระบวนการยุติธรรมของประเทศญี่ปุ่น    เมื่อศาลประทับตราแล้ว โอกาสลงโทษของคดีในญี่ปุ่นมีสูงถึง 99. 6 เปอร์เซนต์  
 
ศ.ดร.คณิตชี้ว่าศาลของไทยยังคงทำงานเชิงรับ (passive) ทั้งที่จริงๆ แล้วศาลสามารถที่จะตรวจสอบเองได้  แต่มักคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของตนเอง นอกจากนี้  อัยการของไทยยังทำงานโดยมีวัฒนธรรมสามอย่าง คือ ทำงานสบาย ขี้กลัวและขี้ประจบ  ฉะนั้น เราจำเป็นต้องร่วมกันสร้างกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่าย
 
น.ส.นริศราวรรณ แก้วนพรัตน์ หลานของพลทหารวิเชียร เผือกสม ผู้ซึ่งเสียชีวิตจากการถูกทรมานในค่ายทหารในจ.นราธิวาสเมื่อปี 2554 กล่าวว่า ผ่านมาแล้วหนึ่งปี แต่ว่าคดีของน้าชายของตนยังไม่ถึงชั้นศาล  มีเจ้าหน้าที่ทหารระดับล่างที่เป็นผู้ต้องหาคดีนี้เก้าคน  ขณะนี้คดีค้างอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สังกัดกระทรวงยุติธรรม (ปปท.) การพิจารณาคดีดำเนินไปอย่างล่าช้า
 
นอกจากนี้ น.ส. นริศราวรรณยังได้ส่งหนังสือร้องเรียนถึงแม่ทัพภาคที่ 4 และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก   และได้เข้าพบพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษเพื่อร้องเรียนเรื่องนี้  เธอระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ 10 คน แต่มีเพียง 9 คนที่ถูกดำเนินคดี  อีก 1 คนซึ่งมียศร้อยโท โดนคุมขังเพียง 15 วัน    ตอนแรกมีการเสนอเงินให้ 3 ล้านบาท แต่เมื่อทราบว่าเป็นบุคคลที่มีวุฒิปริญญาตรี ก็มีการเสนอเพิ่มเป็น 5 ล้านบาทเพื่อแลกกับไม่ดำเนินการต่อผู้กระทำผิด  
 
ต่อมาก็มีการเสนอเงิน 10 ล้านบาทเพื่อที่จะแลกกับการไม่ดำเนินการคดีอาญานายทหารยศร้อยโท  แต่ครอบครัวต้องการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม การต่อสู้คดีนี้ทำให้ตนไม่มีสมาธิในการเรียนหนังสืออย่างเต็มที่  ที่ผ่านมาก็ถูกข่มขู่ว่าหากต่อสู้ต่อไปก็อาจจะมีอันตรายมาถึงตัว น.ส.นริศวรรณกล่าว    
 
            น.ส.ซุกกรียะห์ บาเหะ ตัวแทนกลุ่มด้วยใจ กล่าวถึงผลวิจัยเรื่องการทรมานซึ่งมาจากการสัมภาษณ์ผู้ต้องหาทั้งสิ้น  50 คนซึ่งคัดจากจำนวนของผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงในเรือนจำสงขลา 118 คน โดยได้ทำการศึกษาตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน ถึง 3 ตุลาคม 2554  โดยกลุ่มด้วยใจพบว่าจากกลุ่มตัวอย่างนี้ 80 เปอร์เซนต์ถูกซ้อมทรมานในช่วงปี 2547 – 2551 ช่วงเวลาที่ถูกซ้อมทรมานส่วนใหญ่คือช่วงจับกุม  ช่วงระหว่างการเดินทาง  และการถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกและพรก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน    
      
            น.ส.ซุกกรียะห์ เปิดเผยอีกว่าบุคคลเหล่านี้มีอาการทางจิตที่เป็นผลมาจากการถูกทรมาน ไม่ไว้ใจคน   ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นเนื่องจากความหวาดกลัว นอนไม่ค่อยหลับ มีอาการซึมเศร้า ตกใจง่าย มีอาการพะวักพะวง      นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้ต้องหา 8 คนที่เคยคิดฆ่าตัวตาย  ซึ่งถือว่าเป็นบาปใหญ่สำหรับคนมุสลิม แต่พวกเขาก็ผ่านช่วงเวลานั้นมาได้
 
ดร. แพทย์หญิงปานใจ โวหารดี สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ในประเทศที่เจริญแล้ว นิติวิทยาศาสตร์จะมีความเจริญมาก  ประเทศเหล่านี้จะไม่ใช้พยานบุคคลในการสืบสวนสอบสวน มากนัก  แต่จะใช้พยานหลักที่เป็นนิติวิทยาศาสตร์มากกว่า แต่ในประเทศไทยนิติวิทยาศาสตร์ยังคงพัฒนาไปได้ไม่เร็วนักและยังไม่เข้มแข็ง   ตำรวจยังคงพึ่งพาพยานบุคคลมาก ซึ่งบางครั้งก็ใช้การซ้อมทรมานในการสอบสวนซึ่งวิธีการดังกล่าวมีผลไปยังครอบครัวและชุมชนด้วย