28 June 2012
เสวนาครบรอบ 1 ปี สภาที่ปรึกษา ศอ.บต. เลขาฯ ทวีย้ำการมีส่วนร่วมช่วยทำให้ความจริงปรากฏ ลั่นต้องเปิดพื้นที่ให้คนคิดต่าง ดันสภาที่ปรึกษาทำงานเชิงรุก หนุน “สันติธานี” สู่การปฏิบัติ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 28 มิถุนายน 2555 ที่โรงแรมปาร์ควิวรีสอร์ต อ.เมือง จ.ปัตตานี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดงาน “1 ปีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อประชาชน” โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานราชการ นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานกว่า 500 คน
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวในการเปิดงานครั้งนี้ว่า สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ก่อตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.ศอ.บต. เพื่อเป็นเสียงสะท้อนในการแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยสปต. เป็นตัวแทนของทุกภาคส่วนในพื้นที่ ตนอยากฝากให้สปต. ทำงานเชิงรุก เช่น ในเรื่องการศึกษา ในพื้นที่ไม่สามารถใช้กฎเกณฑ์จากส่วนกลางมาอธิบายได้
ก่อนหน้านี้ตนเคยคุยกับครูในพื้นที่ ซึ่งปัญหาที่พบ คือ ปัญหาคุณภาพของครูและนักเรียน มีการเอาระบบการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (O-NET) มาวัดซึ่งจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาสก็อยู่ในลำดับท้ายๆ แต่ว่า O-NET ไม่สามารถเป็นเกณฑ์ในการวัดคนดีได้ นอกจากนี้ เยาวชนบางส่วนก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในการสอบ O-NET เพราะมีความประสงค์จะเรียนไปศึกษาต่อในต่างประเทศ จึงทำให้พวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับ O-NET เท่าที่ควร พ.ต.อ.ทวีกล่าว
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศอ.บต. กล่าวเปิดงาน 1 ปีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.)
พ.ต.อ.ทวีอธิบายว่าการเกิดขึ้นของสปต.นั้นเป็น “ความคิดที่ก้าวหน้า” และ “เป็นต้นทุนที่สำคัญในการเดินทางไปสู่สันติสุข” ในบางปัญหาที่เราคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ แต่ถ้าหากเรากล้าที่จะให้คนมีส่วนร่วม ปัญหาก็จะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป การมีส่วนร่วมจะช่วยขจัดความเท็จให้หมดไป และความจริงก็จะปรากฏขึ้น
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความซับซ้อนในเรื่องอัตลักษณ์จึงต้องมองการแก้ปัญหาให้รอบด้าน ไม่ควรแก้ปัญหาโดยใช้แนวคิดของคนเพียงคนเดียว ตัวแทนทุกภาคส่วนควรร่วมกันแก้ปัญหา ปัญหาในภาคใต้ที่สำคัญเป็นเรื่องอุดมการณ์หรือความเห็นที่แตกต่างซึ่งต้องเปิดพื้นที่ให้พูดคุยและมีส่วนร่วม ซึ่งสุดท้ายต้องขึ้นอยู่กับประชาชน
อนึ่ง สปต. เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งเป็นโครงสร้างใหม่ที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. ศอ.บต. สปต. มีสมาชิก 49 คนซึ่งเป็นตัวแทนที่คัดเลือกมาจากภาคส่วนต่างๆ เช่น องค์กรปกครองท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา นักการศึกษา สตรี ภาคธุรกิจ ผูนำภูมิปัญญาท้องถิ่นและผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรี โดยสปต.มีหน้าที่หลักในการให้คำปรึกษาแก่เลขาฯ ศอ.บต.
สปต. ประกอบด้วย ประธานสปต. รองสปต.จำนวน 2 คน เลขาสปต. โฆษกประจำสปต. และสมาชิกสปต. โดยแบ่งเป็น 9 ฝ่าย คือ 1.) คณะกรรมการการศึกษา 2.) คณะกรรมการยุติธรรม สิทธิมนุษยชน 3.) คณะกรรมการบริหารและการมีส่วนร่วม 4.) คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5.) คณะกรรมการพัฒนาสตรี เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ และคนพิการ 6.) คณะกรรมการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ 7.)คณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม 8.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์และกิจการสภา และ9.) คณะกรรมการการต่างประเทศ นอกจากนี้สมาชิกสปต.ยังรวมถึงผู้ประสานงานประจำจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูลอีกด้วย
นอกจากนี้ในงานนี้ยังมีการนำเสนอรูปแบบการปกครองแบบ “สันติธานี” โดยคณะนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 2 (4ส2) สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ความคิดของ “สันติธานี” คือการปรับบริการพื้นฐานของรัฐให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่
normal">พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา นักศึกษา 4ส2 นำเสนอรูปแบบโรงพยาบาลสร้างสุขว่า การจัดทำป้าย 2 ภาษา ประกอบด้วย ภาษาไทย ภาษามลายูหรือภาษายาวี จำเป็นต้องมีในทุกโรงพยาบาลของพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เพื่อความสะดวกแก่ผู้เข้ารับบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่สามารถอ่านภาษาไทยได้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล
“สำหรับปัญหาเรื่องเพศก็ควรมีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงเพื่อความสบายใจในการเข้าใช้บริการ หรือการเข้ารับการปรึกษา ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ต้องสามารถสื่อสารทั้งได้ภาษาไทยและภาษามลายูได้” พญ.เพ็ชรดาว กล่าว
พญ.เพชรดาว เปิดเผยว่า จากการสำรวจของนักศึกษา 4 ส พบว่า คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังอยากให้หมอตำแยทำคลอดบุตร โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า หมอตำแยจะบีบนวดหลังคลอด ซึ่งทำให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลาย ขณะที่โรงพยาบาลไม่มีการปฏิบัติในรูปแบบดังกล่าว
พญ.เพชรดาว กล่าวว่า นอกจากนี้การอาซาน (การกล่าวเรียกให้ละหมาด) ในการคลอดบุตร การมีที่ประกอบศาสนกิจ อาหารฮาลาล ซองยาซึ่งพิมพ์ 2 ภาษา ประกอบด้วยภาษาไทย และภาษามลายูหรือภาษายาวี การจัดให้บริการอาหารในการละศีลอด โดยเฉพาะช่วงเดือนรอมฎอน เช่น การเตรียมน้ำ หรืออินทผลัม ก็ควรมีให้บริการแก่ผู้ที่เข้าใช้บริการที่โรงพยาบาลทุกคน
“ในอดีตกระทรวงสาธารณสุขมีข้อจำกัดมาก แต่ปัจจุบันเนื่องจากการรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่เปิดกว้างมากขึ้น จึงมองว่าสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด ต้องไปได้ในอนาคตอันใกล้นี้” พญ.เพชรดาว กล่าว
น.ส.นารี เจริญผลพิริยะ นักศึกษา 4ส2 กล่าวว่า หลักการสำคัญในการดำเนินการโรงพักต้นน้ำแห่งความยุติธรรมประกอบด้วย 7 ข้อ คือ 1.) หลักนิติธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติ โดยต้องเสมอภาคกับทุกคน 2.) หลักความโปร่งใส 3.)หลักการมีส่วนร่วม 4.) ต้องมีความรับผิดชอบ 5.) หลักจริยธรรม 6.) หลักการคุ้มค่า และ 7.) หลักการเคารพวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยให้ความสำคัญกับวิถีชุมชนในพื้นที่
พ.ต.อ.ทวีได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหลังกล่าวเปิดงานว่า ตนเชื่อว่ารูปแบบ “สันติธานี” ควรจะต้องนำมาปฏิบัติ โดยพื้นที่ใดที่มีต้องการอยากให้ชุมชุมของตนเป็นพื้นที่นำร่อง ก็สามารถติดต่อโดยตรงได้ที่ตน