Skip to main content

เครือข่ายนักกฎหมาย จับนักวิชาการภาคใต้ ระดมสมองถกทางออก ทำไมมหาวิทยาลัยในภาคใต้ไม่สนใจสิทธิมนุษยชน ทั้งที่มีปัญหาละเมิดอื้อ พบ 3 ปม ไม่มีผู้สอนหรือผู้สอนเข้าใจไม่ลึก มีวิชาแต่ไม่มีคนอยากเรียน ผู้บริหารไม่สนับสนุนเปิดหลักสูตร เร่งเพิ่มทักษะผู้สอน ผลักดันเชิงนโยบาย

 

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2554 ที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และโครงการศูนย์ศึกษาเชิงบูรณาการทางสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดโครงการสัมมนาหัวข้อ “บทบาทของมหาวิทยาลัยกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนพื้นที่ภาคใต้” มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภาคใต้เข้าร่วมประมาณ 100 คน

การสัมมนาเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 09.00 น. เริ่มด้วยการปาฐกถามพิเศษ หัวข้อ “บทบาทของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้” โดย ส.ศิวรักษ์ จากนั้นเป็นการระดมความเห็นเกี่ยวกับการสอนสิทธิมนุษยชนในมหาวิทยาลัยจากผู้เข้าร่วมประชุม โดยมีการแสองความเห็นกันอย่างกว้างขวางถึงสาเหตุที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในด้านการเรียนการสอน ทั้งที่ในภาคใต้มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก

นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานกรรมการบริหารเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า การระดมความเห็นพบว่า มี 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรก ไม่มีอาจารย์ที่มีความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนสอนในมหาวิทยาลัยมากนัก ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่สุด แม้ว่าบางมหาวิทยาลัยจะมีการเปิดรายวิชาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแล้วก็ตาม ขณะที่อาจารย์บางคนพยายามแทรกเนื้อหาที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเข้าในรายวิชาของตนเอง เนื่องจากไม่มีวิชาที่เปิดสอนเฉพาะ

นายไพโรจน์ เปิดเผยต่อไปว่า ประเด็นที่สอง มีการเชิญคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่เข้าร่วมสอนหรือร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความหลากหลาย รวมทั้งการนำนักศึกษาลงไปทำกิจกรรมในพื้นที่ และประเด็นที่สาม เป็นเรื่องที่จะต้องมาพูดกันว่า จะทำอย่างไรที่จะให้มหาวิทยาลัยมีนโยบายที่จะจัดให้มีรายวิชาหรือมีหลักสูตรเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เนื่องจากในมหาวิทยาลัยเองก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน

นายไพโรจน์ เปิดเผยอีกว่า แนวทางการทำงานต่อไปของทีมงานขณะนี้ ต้องเน้นไปที่ผู้สอนก่อน เพราะการที่ผู้สอนไม่เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นปมที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ ซึ่งต้องมีการระดมความคิดเห็น การสร้างความเข้าใจและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อเพิ่มทักษะให้กับผู้สอน เพราะเนื้อหาวิชาต่างๆ สามารถบูรณาการกับเรื่องสิทธิมนุษยชนได้

 

ข้อสรุปจากการระดมความเห็น

สำหรับข้อสรุปที่ได้จากการระดมความเห็น แต่ละประเด็น มีดังนี้ ประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ พบว่ามีหลายประเด็นที่มหาวิทยาลัยต้องเข้าไปมีบทบาทในด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในเชิงวิชาการ ได้แก่ ปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชน เช่น กรณีแผนพัฒนาภาคใต้ของรัฐ หรือ ผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ปัญหาการละเมิดสิทธิในชีวิตและทรัพย์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และการใช้กฎหมายพิเศษ

นอกจากนี้ยังมี ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ เช่น กรณีเขาคูหา จังหวัดสงขลา กรณีที่ดินสวนปาล์ม จังหวัดสุราษฎร์ธานี แม้กระทั่งปัญหาการละเมิดสิทธิในระดับชุมชน ซึ่งพบว่ามีจำนวนมาก เช่น กรณีกำนำหรือผู้ใหญ่บ้านละเมิดสิทธิของคนในชุมชนหมู่บ้านของตัวเอง แต่ปัญหาเหล่านี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสังคมมากนักเมื่อเทียบกับปัญหาอื่นๆ เช่น การละเมิดสิทธิจากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ทั้งที่บางครั้งเป็นปัญหาที่ลึกและสั่งสมมานาน

ประเด็นการบูรณาการหลักสิทธิมนุษยชนกับการเชื่อมโยงในพื้นที่ โดยผู้เข้าร่วมได้ยกตัวอย่างการเรียนการสอนที่สามารถสอดแทรกเนื้อหาเที่ยวสิทธิมนุษยชน ได้แก่ การพานิสิต นักศึกษาลงพื้นที่ศึกษาปัญหาของชุมชน การให้นักศึกษาทำวิจัยชิ้นเล็กๆ กับประเด็นปัญหาในพื้นที่ การสร้างพื้นที่ร่วมกันระหว่างนักศึกษากับชุมชน การให้นักศึกษาปริญญาเอกนำปัญหาที่ศึกษากลับไปยังชุมชน เพื่อให้ร่วมกันแก้ปัญหา เป็นต้น

ประเด็นเรื่องข้อจำกัดในเรื่องการเรียนการสอนสิทธิมนุษยชนในมหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่ามีหลายประเด็น ได้แก่ ข้อจำกัดทางด้านความรู้ของผู้สอน ผู้สอนตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่มีข้อจำกัดเรื่องเครือข่ายในการลงพื้นที่เพื่อศึกษาหรือเพื่อปฏิบัติการ

ข้อจำกัดด้านมุมมองของผู้สอนที่เห็นด้วยกับการพัฒนากระแสหลัก จะอาจกลายเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง เช่น การรับดำเนินการศึกษาโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เป็นต้น ข้อจำกัดทางแนวคิดของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งมีผลให้นโยบายของมหาวิทยาลัยไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน

ข้อจำกัดด้านตำราสิทธิมนุษยชน ซึ่งผู้อ่านหรือผู้สอนใช้วิธีจำต่อๆ กันมา มากกว่าการสร้างเนื้อหาการเรียนการสอนอย่างเข้าใจจากตัวผู้สอนเอง และข้อจำกัดด้านความสนใจของผู้เรียน ที่แม้จะมีการเปิดรายวิชาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเป็นวิชาเลือก แต่ก็ไม่มีนักศึกษาเลือกเรียน

นอกจากนี้ ในการระดมความเป็นมีข้อเสนอแนะ ดังนี้ ให้มีการพัฒนาเนื้อหาวิชาหลักสิทธิมนุษยชนและบูรณาการเข้ากับทุกสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นวิชาด้านวิทยาศาสตร์ เช่น ฟิสิกส์ เคมี แพทยศาสตร์ หรือด้านสังคม เช่น สังคมวิทยา มานุษยวิทยา เป็นต้น

ให้มีการพัฒนาหลักสูตรสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนกับสิ่งแวดล้อม เพราะจะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต และผลักดันเชิงนโยบายของมหาวิทยาลัยให้เห็นความสำคัญต่อการพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรในมหาวิทยาลัย