คณะกรรมการสิทธิฯ ให้ความรู้เจ้าหน้าที่ด้านกระบวนการยุติธรรมในชายแดนใต้ แนวทางชันสูตรศพตามตามหลักศาสนาอิสลาม แพทย์อิสลามเห็นด้วยผ่าศพมุสลิม หากคืนความยุติธรรม แต่ยังไม่มีคนยอมให้ผ่า ตำรวจชี้ยังต้องใช้เวลาพิสูจน์
ศ.อมรา พงศาพิชญ์
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 10 มิถุนายน 2555 ที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานี จ.ปัตตานี คณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดสัมมนาโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจและเผยแพร่แนวทางการตรวจชันสูตรศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักศาสนาอิสลาม มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้านกระบวนการยุติธรรม เช่น ทหาร ตำรวจ นิติกร อัยการ ผู้พิพากษา แพทย์ พยาบาล เข้าร่วมกว่า 100 คน
ศ.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและประธานอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าวเปิดสัมมนาว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเล็งเห็นถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงได้ศึกษาแนวทางการตรวจชันสูตรศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักศาสนาอิสลาม โดยชี้ให้เห็นถึงกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ในการแสวงหาข้อเท็จจริงอันจะนำมาสู่การปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้เสียชีวิตและครอบครัว
ศ.อมรา กล่าวว่าการทำงานเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนจะต้องมีการตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริง คือ การพิสูจน์หาสาเหตุการเสียชีวิต แต่หากชุมชนมุสลิมไม่ยอมให้พิสูจน์การเสียชีวิตโดยอ้างว่าผิดหลักศาสนาอิสลามจะส่งผลให้การแสวงหาข้อเท็จจริงเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเสียชีวิตจากสาเหตุอะไร
ศ.อมรา กล่าวว่า ตามหลักศาสนาอิสลามมีความเชื่อว่าหลังจากเสียชีวิตต้องฝังภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิม ปัจจุบันสังคมสมัยใหม่ในต่างประเทศมีการพิสูจน์ศพมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเทศมาเลเซียหรือประเทศอินโดนีเซีย ก็ต่างยอมรับในกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้น ประเทศไทยจะต้องมีการศึกษาและเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ และนำเสนอให้ชุมชนมุสลิมในประเทศไทยได้รับทราบว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ผิดหลักศาสนา
“คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงวอนขอให้จุฬาราชมนตรี รวมถึงกลุ่มผู้รู้ศาสนาอิสลามร่วมกันวินิจฉัยและออกคำฟัตวา ซึ่งหมายถึง ความกระจ่างในสาระที่เกี่ยวข้องกับศาสนบัญญัติ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า การพิสูจน์ศพนั้นไม่ผิดหลักศาสนาอิสลาม สามารถทำได้ เพียงแต่ในอดีตไม่นิยมกระทำกันและเชื่อว่าเป็นข้อห้าม” ศ.อมรา กล่าว
ศ.อมรา กล่าวว่า ในการพิสูจน์หาสาเหตุการเสียชีวิตถือเป็นตัวช่วยสำคัญ เพราะมีโอกาสได้พิสูจน์การเสียชีวิต สามารถเข้าถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเสียชีวิตได้ง่ายขึ้นและชัดเจนขึ้น เพราะที่ผ่านมาหากไม่พิสูจน์ศพ ผู้กระทำความผิดก็ได้ประโยชน์ ส่วนผู้เสียหายก็เสียประโยชน์ เพราะไม่ได้รับการพิสูจน์หาข้อเท็จจริง
นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรณีที่มีการเสียชีวิตที่ผิดธรรมชาติจะต้องมีการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย เช่น กรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือกรณีอื่นๆ ที่ไม่ใช่เกิดจากโรคชรา แต่เนื่องจากใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ยินยอมให้ผ่าศพ เพราะเชื่อว่าขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม และชาวบ้านยังไม่มีความเข้าใจที่ชัดเจนในเรื่องการผ่าศพ เช่น คิดว่าหากผ่าแล้วจะมีผลดีอย่างไร ทั้งที่เป็นไปเพื่อให้ความจริงปรากฏและเพื่อคืนความยุติธรรมแก่ผู้เสียชีวิตและญาติ
นายไพบูลย์ เปิดเผยอีกว่า หลังจากนี้ กระบวนการตามแนวทางการตรวจชันสูตรศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักศาสนาอิสลามต้องทำให้ชัดเจน โดยจะให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจแก่พี่น้องมุสลิมและผู้นำศาสนาต่อไป โดยไม่ใช่เป็นการบังคับ เป็นเพียงแนวทางในการปฏิบัติเท่านั้น
“หากแนวทางการตรวจชันสูตรศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักศาสนาอิสลามนี้เป็นไปได้ด้วยดี จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นต่อกระบวนยุติธรรมของชาวบ้านให้กลับมาได้ และสิทธิที่จะตามมาคือ การเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นคืนให้กับผู้เสียชีวิตและญาติผู้เสียชีวิต” นายไพบูลย์ กล่าว
พญ.นูรไอนี อาแว นายแพทย์ระดับปฏิบัติการโรงพยาบาลเบตง อ.เบตง จ.ยะลา เปิดเผยว่า การชันสูตรศพต้องได้รับการยินยอมจาก 3 ฝ่าย คือ ญาติ แพทย์ผู้ชันสูตรศพ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง แพทย์จึงจะสามารถชันสูตรศพได้ในกรณีที่ต้องจำเป็น เช่น ผ่าท้องเพื่อนำทารกที่ยังมีชีวิตอยู่ออกจากครรภ์มารดาที่เสียชีวิต หรือกรณีผู้เสียชีวิตกลืนสิ่งของมีค่าลงท้อง ทั้งนี้การผ่าศพนั้นขึ้นอยู่กับความจำเป็น เช่น หากผ่าแล้วจะได้รับความยุติธรรมกลับคืนมา ก็กระทำได้
พญ.นูรไอนี เปิดเผยอีกว่า ที่ผ่านมามีเพียงยินยอมให้ชันสูตรพลิกศพเท่านั้น ยังไม่เคยมีกรณีที่ญาติยินยอมให้ผ่าศพคนที่นับถือศาสนาอิสลาม
พญ.นูรไอนี เปิดเผยว่า โดยทั่วไปการตรวจชันสูตรพลิกศพสามารถทำได้ 3 วิธี คือ การชันสูตรโดยการตรวจภายนอก การชันสูตรโดยการผ่าเปิด และการชันสูตรโดยการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือดหรือการเอ็กซ์เรย์
“จะผ่าศพหรือไม่ ต้องคิดให้รอบคอบก่อนว่า จะมีผลดีมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะกับผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว และไม่ได้หมายความว่าจะสามารถหยุดการกระทำที่จะนำมาสู่เหตุการณ์ที่จะต้องผ่าศพได้ แต่หากผ่าศพแล้วสามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ ก็สมควรจะผ่าหรือกรณีที่ญาติสงสัยในการเสียชีวิตและต้องการให้ผ่าพิสูจน์” พญ.นูรไอนี กล่าว
พ.ต.ท.จักรกริช นองมณี รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเจาะไอร้อง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เปิดเผยว่า ในการตรวจพิสูจน์หลักฐานในที่เกิดเหตุนั้นต้องมีเอกลักษณ์ที่ต้องตรงกัน ระหว่างบุคคลกับหลักฐานที่พบในที่เกิดเหตุ 16 จุด จากเดิมกำหนดไว้เพียง 6 จุด จากนั้นเพิ่มเป็น 9 จุด ซึ่งยังอาจเกิดความผิดพลาดในการตรวจพิสูจน์ได้ง่าย ทำให้ต่อมามีการกำหนดเป็น 16 จุด ทำให้การตรวจพิสูจน์คดีมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
พ.ต.ท.จักรกริช เปิดเผยอีกว่า ที่ผ่านมามีทั้งชาวบ้านที่ยินยอมและไม่ยินยอมให้ผ่าพิสูจน์ศพ เนื่องจากชาวบ้านมองว่าการผ่าศพเป็นการไม่ให้เกียรติศพ ยิ่งศพที่ถูกยิงกระสุนฝังในกะโหลกศีรษะ หรือในกระดูก ชาวบ้านจะไม่ยอมให้ผ่าเด็ดขาด เนื่องจากต้องใช้เวลาผ่าและเก็บศพไว้นาน แต่หากกระสุนฝังบริเวณผิวหนังชั้นนอกและมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าก็จะมีชาวบ้านบางส่วนยอมให้ผ่า เนื่องจากใช้เวลาไม่นาน
พ.ต.ท.จักรกริช กล่าวว่า หากนำแนวทางการตรวจชันสูตรศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักศาสนาอิสลามมาใช้ ตนก็ยังเชื่อว่าชาวบ้านจะยังมีความรู้สึกเหมือนเดิม เพราะชาวบ้านมองว่าแนวทางนี้อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือบุคลากรด้านกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น การใช้แนวทางนี้ยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ผล เพื่อดูทัศนคติของชาวบ้านที่มีต่อกระบวนการต่อไป แต่เชื่อว่าจะดีขึ้น
“โดยปกติอำนาจการคืนศพให้กับญาติเป็นของตำรวจ หากยังพิสูจน์ศพไม่เสร็จ ตำรวจมีอำนาจเก็บศพไว้พิสูจน์ต่อนานถึง 6 วัน แต่เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งต้องฝังศพภายใน 24 ชั่วโมง รวมถึงญาติไม่ยินยอมให้ผ่าศพ ตำรวจจึงต้องคืนศพให้กับญาติ เพื่อนำไปประกอบพิธีตามหลักศาสนาอิสลามต่อไป” พ.ต.ท.จักรกริช กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
color:#333333">คลอดแล้ว แนวชันสูตรผ่าศพมุสลิม ผู้นำศาสนาโอเค ชี้เป็นสิทธิผู้ดูแลศพ
"Times New Roman";color:#333333">